รายวิชา ประวัติศาสตร์ รหัสวิชา ส22102 คุณครูผู้สอน คุณครูชาญวิทย์ ปรีชาพาณิชพัฒนา โรงเรียนเสลภูมิพิทยาคม อำเภอเสลภูมิ จังหวัดร้อยเอ็ด

ข่าว

วันศุกร์ที่ 31 กรกฎาคม พ.ศ. 2558

6_พัฒนาการด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ

ความสัมพันธ์กับต่างประเทศสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น

จุดมุ่งหมายในการดำเนินความสัมพันธ์ระหว่างประเทศสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น สรุปได้ดังนี้

1. เพื่อรักษาเอกราชให้พ้นจากภัยการคุกคามของพม่า
2. เพื่อรักษาความมั่นคงของราชธานี
3. เพื่อฟื้นฟูบ้านเมืองให้กลับคืนสู่ความเจริญรุ่งเรือง
4. เพื่อผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจและการค้า

ความสัมพันธ์กับล้านนา
ในสมัยรัชกาลที่ 1-3 ลักษณะความสัมพันธ์ยังเป็นมิตรที่ดีกับล้านนา

สัมพันธไมตรีอันดีที่ไทยสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้นมีอย่างต่อเนื่องกับล้านนา ทำให้รัชกาลที่ 5 สามารถผนวกล้านนาเข้าเป็นดินแดนส่วนหนึ่งของราชอาณาจักรไทยได้ง่ายขึ้น

ความสัมพันธ์กับพม่า
สมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น โดยเฉพาะรัชกาลที่ 1 ไทยต้องรับมือกับการถูกบุกโจมตีอย่างหนักจากพม่า ถึงแม้ในบางช่วงพม่าจะส่งฑูตมาเจรจาขอเป็นไมตรีกับไทย แต่ก็ไม่ได้มีความจริงใจ เพียงต้องการตรวจสอบความพร้อมรบของฝ่ายไทยเท่านั้น

สงครามครั้งใหญ่ที่สุดระหว่างไทยกับพม่าสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น คือ สงครามเก้าทัพ ในปี 2328 สมัยรัชกาลที่ 1 พม่าได้ส่งกองทัพเข้ามาโจมตีไทยพร้อมๆ กันหลายทาง แต่ผลักดันกองทัพพม่าให้ถอยกลับไปได้

สมัยรัชกาลที่ 2 และสมัยรัชกาลที่ 3 แม้ความสัมพันธ์จะยังเป็นศัตรูกัน แต่การทำสงครามก็ค่อยๆ ลดน้อยลงตามลำดับเพราะพม่ามีปัญหาภายในต้องทำสงครามต่อสู้กับอังกฤษ

ในปลายปี 2352 ตรงกับสมัยรัชกาลที่ 2 พม่าได้ยกทัพเข้ามาโจมตีหัวเมืองภาคใต้ ได้แก่ตะกั่วป่า ตะกั่วทุ่ง ถลาง ระนอง กระบี่ ชุมพร แต่กองทัพไทยจากกรุงเทพฯ และกองทัพจากนครศรีธรรมราชมาช่วยกันขับไล่พม่าออกไปได้สำเร็จ

สมัยรัชกาลที่ 3 ไทยก็ยังคงทำสงครามกับพม่าอยู่บ้าง แต่เป็นสงครามขนาดเล็ก เพื่อแย่งชิงการมีอิทธิพลเหนือหัวเมืองทางเหนือ คือ สงครามเมืองเชียงรุ่ง ในปี 2386 และสงครามเมืองเชียงตุงในปี 2392

ผลจากการที่ไทยดำเนินความสัมพันธ์กับพม่าอย่างแข็งกร้าว ไม่ยอมจำนนต่อการรุกรานอย่างหนักจากพม่า นอกจากจะสามารถปกป้องราชอาณาจักรไว้ได้แล้ว ยังช่วยทำให้ผู้คนเกิดความมั่นใจว่าไทยสามารถจะรับมือกับการคุกคามจากพม่าได้ และพม่าจะไม่เป็นภัยต่อความมั่นคงของราชอาณาจักรอีกต่อไป

ความสัมพันธ์กับมอญ
ในช่วงสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น จะมีความสัมพันธ์แบบผูกไมตรี ช่วยเหลือมอญให้พ้นจากการถูกกดขี่ข่มเหงของพม่า

สมัยรัชกาลที่ 1 ทรงนำกองทัพไทยไปช่วยพระยาทวายรบกับพม่าที่ครอบครองเมืองทวายเอาไว้ หลังจากปิดล้อมเมืองอยู่ชั่วระยะเวลาหนึ่งก็โปรดเกล้าฯ ให้ยกทัพกลับ เพราะทรงมีพระราชดำริว่า ถึงตีเมืองทวายได้ก็คงรักษาเมืองไว้ได้ไม่นาน เนื่องจากอยู่ห่างไกลจากกรุงเทพฯ ตอนยกทัพกลับได้พาครอบครัวชาวมอญมายังกรุงเทพฯ ด้วย

สมัยรัชกาลที่ 2 ชาวมอญไม่พอใจการปกครองอย่างกดขี่ของพวกพม่า ได้อพยพครอบครัวเข้ามาในราชอาณาจักรไทย เมื่อปี 2357 และ 2358 รัชกาลที่ 2 ทรงให้ความอุปถัมถ์ โปรดเกล้าฯ ให้ชาวมอญที่เดินทางเข้ามาใหม่ ออกไปตั้งถิ่นฐานอยู่กับชุมชนมอญเดิมที่แขวงเมืองนนทบุรี ปทุมธานี และเมืองนครเขื่อนขันธ์ (พระประแดง)

ความสัมพันธ์กับหัวเมืองมอญยุติลงในสมัยรัชกาลที่ 3 เมื่อเมืองมะริด ทวาย ตะนาวศรี ได้ตกไปอยู่ในอำนาจของอังกฤษ ไทยจึงหลีกเลี่ยงไม่เข้ายุ่งเกี่ยวกับหัวเมืองมอญ

ผลจากความสัมพันธ์กับหัวเมืองมอญ นอกจากไทยจะได้กำลังผู้คนและความจงรักภักดีจากชาวมอญแล้ว ไทยยังได้หัวหน้ามอญไว้ใช้ในราชการและได้รับอิทธิพลทางวัฒนธรรมบางประการจากชาวมอญมาด้วย

ความสัมพันธ์กับเขมร
ในสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้นความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับเขมรจะเป็นด้านการทำสงครามและด้านการเมือง เพื่อขยายอิทธิพลเข้าไปครอบครอง ทั้งนี้เขมรจะเป็นดินแดนที่ไทยกับญวนต่างแข่งขันแย่งชิงอำนาจเข้าไปดูแลกันตลอดมา เขมรจึงเป็นเหมือนรัฐกันชนระหว่างไทยกับญวน

สมัยรัชกาลที่ 1 ไทยมีบทบาทอย่างสำคัญในการจัดการดูแลปกครองเขมรให้เรียบร้อย โดยเป็นผู้แต่งตั้งกษัตริย์ที่ขึ้นครองเขมร ในปี 2325 เกิดความไม่สงบในเขมร พระยายมราช (แบน) จึงพานักองเอง รัชทายาทเขมรลี้ภัยการเมืองเข้าพึ่งพระบรมโพธิสมภารของพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ซึ่งก็ทรงรับอุปการะชุบเลี้ยงอย่างดี เมื่อเหตุการณ์ในเขมรสงบ ราชสำนักไทยได้แต่งตั้งเจ้าพระยาอภัยภูเบศร์ (เลื่อนบรรดาศักดิ์จากพระยายมราช) ไปเป็นผู้สำเร็จราชการชั่วคราว เมื่อนักองเองเจริญวัย ทางกรุงเทพฯ ก็แต่งตั้งให้เป็นกษัตริย์เขมร ในปี 2337 ทรงพระนามว่า สมเด็จพระนารายณ์รามาธิบดี ต่อมาเมื่อสิ้นพระชนม์ได้แต่งตั้งนักองจันทร์เป็นสมเด็จพระอุทัยราชาขึ้นครองราชย์สืบไป

สมัยรัชกาลที่ 2 ลักษณะความสัมพันธ์ได้เปลี่ยนแปลงไปอีก เมื่อพระอุทัยราชาได้หันไปสนิทสนมกับญวนและแสดงท่าทีไม่ยอมรับอำนาจจากกรุงเทพฯ ทางราชสำนักไทยจึงแต่งตั้งนักองสงวนเป็น พระมหาอุปโยราช (เทียบได้กับตำแหน่งวังหน้า) เพื่อไว้ถ่วงดุลอำนาจทางการเมืองของเขมร ซึ่งเขมรในระยะนี้ต้องส่งเครื่องราชบรรณาการให้กับไทยและญวน

สมัยรัชกาลที่ 3 ไทยพยายามแผ่อิทธิพลเข้าไปในเขมรอีก โดยเจ้าพระยาบดินทรเดชยกทัพไปตีเขมร ในปี2376 และปี 2383 สามารถยึดเมืองหลวงที่พนมเปญไว้ได้ แต่ก็ถูกเจ้านายเขมรที่นิยมญวนได้ไปร่วมมือกับญวนทำการรบต่อต้านไทย ทำให้ไทยกับญวนต้องทำสงครามสู้รบกันต่อมาอีกหลายปี ในที่สุด ไทยกับญวนได้ร่วมมือกันแก้ไขข้อพิพาทร่วมกัน ตั้งนักองด้วงหรือพระหริรักษ์รามาธิบดีขึ้นเป็นกษัตริย์เขมร และให้เขมรจัดส่งบรรณาการให้ไทยกับญวนอย่างเท่าเทียมกัน ปัญหาเรื่องเขมรจึงยุติลง

ความสัมพันธ์กับล้านช้าง (ลาว)
ล้านช้างหรือลาว ซึ่งนับว่าเป็นบ้านพี่เมืองน้องกันนั้น ลักษณะความสัมพันธ์ที่ไทยมีต่อล้านช้างมีอยู่หลายลักษณะผสมผสานกัน คือ มีทั้งด้านความสัมพันธ์ในด้านการเมืองที่ไทยพยายามขยายอิทธิพลเข้าไปครอบงำ มีการผูกมิตรไมตรี และในบางช่วงมีความสัมพันธ์ด้านการทำสงครามทำศึกกัน

สมัยรัชกาลที่ 1 เชื้อพระวงศ์ของล้านช้างแย่งชิงอำนาจกันเอง และแตกแยกออกเป็น 3 ฝ่าย คือเวียงจันทน์ หลวงพระบาง และจำปาศักดิ์ แต่ละฝ่ายต่างเป็นอิสระต่อกัน แต่ทั้งหมดขึ้นตรงกับกรุงเทพฯ การที่ล้านช้างแตกแยกเป็น 3 ฝ่าย ทำให้ไทยสามารถสร้างความสัมพันธ์ด้วยการขยายอิทธิพลเข้าไปครอบงำได้ง่ายขึ้น ผสมผสานกับการผูกมิตรไมตรี เพื่อให้เกิดความจงรักภักดีอย่างยินยอมพร้อมใจ

สมัยรัชกาลที่ 2 ไทยมีความสัมพันธ์อันดีกับเวียงจันทน์ โดยราชสำนักไทยเห็นว่าเจ้าอนุวงศ์ผู้ครองเมืองเวียงจันทน์มีความจริงใจและจงรักภักดีกับไทย จึงบำเหน็จความชอบให้เจ้าราชบุตร บุตรของเจ้าอนุวงศ์ไปครองเมืองสำคัญ คือ เมืองจำปาศักดิ์ ส่งผลให้เจ้าอนุวงศ์มีกำลังเข็มแข็งมาก

สมัยรัชกาลที่ 3 ได้เกิดเหตุการณ์กระทบต่อความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับล้านช้างอย่างรุนแรง เมื่อเจ้าอนุวงศ์ซึ่งมีความคิดจะรวมเอาเวียงจันทน์ หลวงพระบาง และจำปาศักดิ์ กลับมาเป็นอาณาจักรเดียวกัน แล้วปกครองตนเองอย่างอิสระไม่ขึ้นกับไทย ได้ยกทัพมากวาดต้อนผู้คนจากหัวเมืองทางอิสานของไทยใน ปี 2369

เหตุการณ์ครั้งนี้จึงทำให้เกิดวีรสตรีคนสำคัญคือ คุณหญิงโม ซึ่งภายหลังได้รับพระราชทานนามว่า ท้าวสุรนารี คือ เมื่อกองทัพของเจ้าอนุวงศ์มาถึงนครราชสีมา ก็ได้กวาดต้อนผู้คนและทรัพย์สินเพื่อจะนำกลับไปเวียงจันทน์ ขณะนั้นเจ้าเมืองนครราชสีมาไปราชการที่อื่น แต่ชาวเมืองก็ได้คุณหญิงโมเป็น ผู้นำชาวเมืองรวบรวมกำลังผู้คนต่อสู้กับทหารลาวจนแตกพ่ายไป ขณะเดียวกันทางกรุงเทพฯ ก็จัดส่งกองทัพขึ้นมาปราบ ช่วยปลดปล่อยหัวเมืองภาคอีสานที่ถูกทหารเจ้าอนุวงศ์ยึดไว้และตามไปโจมตีจน ถึงดินแดนลาว สามารถเข้ายึดเมืองเวียงจันทน์ไว้ได้

สำหรับเจ้าอนุวงศ์ซึ่งหลบหนีไปอยู่กับญวน ภายหลังในปี 2370 ได้หวนย้อนนำกำลังมาโจมตีทหารไทยที่อยู่รักษาเมืองเวียงจันทน์แต่พ่ายแพ้และถูกจับกุมตัวได้

การก่อกบฏของเจ้าอนุวงศ์ในปี 2369 ทำให้ทางกรุงเทพฯ ดำเนินการปรับปรุงความสัมพันธ์กับล้านช้างใหม่ โดยเข้าไปกำกับดูแลอย่างใกล้ชิดมากขึ้น

ความสัมพันธ์กับญวน (เวียดนาม)
สมัยรัชกาลที่ 1 ผลจากการที่ไทยให้การอุปการะและช่วยเหลือองเชียงสือมาตลอด ภายหลังเมื่อองเชียงสือขึ้นเป็นกษัตริย์ญวน จึงทำให้สัมพันธไมตรีกับญวนดำเนินไปด้วยดี

ในปี 2326 องเชียงสือได้ทูลขอให้ไทยช่วยส่งกำลังไปปราบกบฏ ซึ่งรัชกาลที่ 1 ก็ทรงให้ความอนุเคราะห์ จึงส่งทหารไทยไปรบกับพวกไกเญิน ถึงแม้จะปราบไม่ได้ แต่ก็ทำให้องเชียงสือสำนึกในบุญคุณของไทย ดังนั้น เมื่อองเชียงสือรวบรวมแผ่นดินญวนได้เป็นปึกแผ่นและตั้งตนเป็นกษัตริย์ จึงทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับญวนในช่วงนี้ดำเนินไปอย่างราบรื่น

สมัยรัชกาลที่ 2 ตอนต้นรัชกาล ไทยกับญวนก็ยังมีความสัมพันธ์ที่ดีต่อกัน จนกระทั้งถึงสมัยพระเจ้ามินหมาง ญวนได้ขยายอิทธิพลเข้าไปยังเขมรอีก จึงทำให้เกิดความขัดแย้งกับไทย แต่ยังไม่ถึงขั้นต้องทำสงครามกัน

ในสมัยรัชกาลที่ 3 ปัญหาเขมรขยายตัวลุกลามมากขึ้น ทั้งนี้เพราะญวนมีเป้าหมายที่จะครอบครองเขมรเพื่อกลืนชาติ รวมทั้งแสดงท่าทีแข็งกร้าวกับไทย ความสัมพันธ์กับญวนจึงเปลี่ยนมาเป็นศัตรู ทำสงครามต่อสู้กัน โดยไทยส่งทหารบุกไปตีเขมรยึดพนมเปญไว้ได้ในปี 2376 และเลยไปตีเมืองไซ่ง่อนด้วย

ปัญหาการแย่งชิงอำนาจในการครอบครองเขมร ทำให้ไทยต้องทำศึกสงครามกับญวนต่อมาอีกหลายปี โดยไม่มีฝ่ายใดได้ชัยชนะอย่างเด็ดขาด ภายหลังเมื่อญวนเกิดข้อพิพาทกับฝรั่งเศส จึงได้เปิดการเจรจากับไทย สามารถยุติสงครามระหว่างกันได้ในปี 2388 หลังจากนี้ความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับญวนก็ยุติลงอย่างเป็นทางการ เพราะญวนได้ตกไปเป็นอาณานิคมของฝรั่งเศส

ความสัมพันธ์กับหัวเมืองมลายู
สมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น ลักษณะความสัมพันธ์จะเป็นทางด้านการเมือง โดยไทยพยายามขยายอิทธิพลเข้าไปครอบครองทั้งทางด้านการผูกมิตรไมตรี และการทำสงครามในบางครั้ง

สมัยรัชกาลที่ 1 ไทยได้หัวเมืองมลายูบางเมืองมาเป็นเมืองขึ้น คือ ไทรบุรี กลันตัน ตรังกานู และปัตตานี ซึ่งหัวเมืองเหล่านี้ได้เข้าขออ่อนน้อมต่อไทยในปี 2328 รัชกาลที่ 1 จึงโปรดเกล้าฯ ให้ผู้ครองเมืองเดิมปกครองเมืองสืบต่อไป และมีอิสระในการบริหารกิจการบ้านเมืองของตน เพียงแต่ต้องแสดงความจงรักภักดีด้วยการส่งเครื่องราชบรรณาการ และต้นไม้เงิน ต้นไม้ทองมาให้ทางกรุงเทพ ทุกๆ 3 ปี สำหรับการกำกับดูแลหัวเมืองดังกล่าว ทรงใช้การถ่วงดุลอำนาจมอบให้เมืองนครศรีธรรมราชดูแลไทรบุรีกับกลันตัน และมอบให้เมืองสงขลาดูแลเมืองปัตตานีกับตรังกานู แต่สถานการณ์ในหัวเมืองมลายูก็มิได้สงบเรียบร้อยดีนัก โดยในปี 2334 เจ้าเมืองปัตตานีได้ส่งกองกำลังเข้าไปโจมตีเมืองสงขลา จนไทยต้องส่งกำลังไปปราบ และเพื่อมิให้ปัตตานีมีอำนาจมากเกินไป จึงแบ่งปัตตานีออกเป็น 7 เมือง ได้แก่ ปัตตานี หนองจิก สายบุรี ยะหริ่ง ยะรา รามันห์ และระแงะ ให้ทุกเมืองขึ้นตรงกับสงขลา

ความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับหัวเมืองมลายูตลอดสมัยรัชกาลที่ 2 และ 3 ก็มิได้ราบรื่นดีนัก ทั้งนี้เพราะหัวเมืองมลายูบางเมือง ถ้ามีโอกาสก็จะตั้งตนเป็นอิสระ ในตอนปลายสมัยรัชกาลที่ 2 เจ้าพระยาไทรบุรี (ปะแงรัน) ก็ได้ตั้งตนเป็นอิสระ ทางกรุงเทพจึงมอบให้เจ้าพระยานครศรีธรรมราชยกทัพไปปราบ เจ้าพระยาไทรบุรีได้หลบหนีไปอยู่ที่เกาะหมาก (ปีนัง) ซึ่งไทรบุรีให้อังกฤษเช่า โดยที่ทางกรุงเทพฯ ไม่ทราบเรื่องราวการให้เช่าเกาะหมากมาก่อน อย่างไรก็ตาม อังกฤษก็ได้ส่งฑูตมาเจรจาเรื่องนี้กับไทยใน ปี 2365

สมัยรัชกาลที่ 3 เมืองไทรบุรีได้ก่อกบฏขึ้นอีก 2 ครั้ง ใน ปี 2374 และ 2381 รวมไปถึงหัวเมืองอื่นๆ ด้วย เช่น ปัตตานี สายบุรี ยะลา กลันตัน ตรังกานู ก็ทำตามบ้าง ทางกรุงเทพฯ จึงส่งกองทัพไปปราบ เหตุการณ์ครั้งนี้มีผลทำให้รัชกาลที่ 3 ทรงจัดการปกครองหัวเมืองมลายูบางเมืองเสียใหม่ โดยเฉพาะไทรบุรีถูกแบ่งย่อยออกเป็น4 เมือง ได้แก่ ไทรบุรี ปะลิส สตูล และกะบังปาสู

นับจากนี้ความสัมพันธ์กับหัวเมืองมลายูจึงราบรื่นขึ้น โดยไทยพยายามให้เจ้าเมืองที่ฝักใฝ่อยู่กับไทยไปเป็นผู้ปกครองเพื่อจะได้ป้องกันมิให้เกิดข้อขัดแย้งเกิดขึ้น

ความสัมพันธ์กับจีน
ลักษณะความสัมพันธ์ยังเป็นแบบเช่นเดิม คือ เป็นการค้าในระบบรัฐบรรณาการ ได้รับการฟื้นฟูและพัฒนาจนขยายตัวมากขึ้น หลังจากที่พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชส่งฑูตไปเยือนจีน และทางราชสำนักจีนให้การยอมรับแล้ว ไทยก็ส่งฑูตนำเครื่องบรรณาการไปถวายจักรพรรดิจีน รวมทั้งหมด 52 ครั้ง ในช่วงระยะเวลาเพียง 69 ปี (พ.ศ.2325-2394)

เหตุผลที่ทำให้สมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้นไทยส่งฑูตไปยังจีนบ่อยครั้ง เพราะได้รับผลประโยชน์จากสิทธิพิเศษทางการค้าที่ทางการจีนมอบให้ ทำให้สามารถค้าขายได้สะดวก และได้รับผลกำไรตอบแทนงดงาม ซึ่งนอกจากราชสำนักไทยโดยกรมพระคลังสินค้าจะดำเนินการค้าขายกับจีนโดยตรงแล้ว บรรดาเชื้อพระวงศ์ ขุนนางชั้นผู้ใหญ่ พ่อค้าเอกชน ยังแต่งเรือสำเภาไปติดต่อค้าขายกับเมืองต่างๆ ของจีนอีกด้วย

สมัยรัชกาลที่ 3 การค้ากับจีนยังคงเจริญรุ่งเรืองอยู่ในช่วง 10 ปีแรกของรัชกาล แต่หลังจากนั้นก็ค่อยๆ ซบเซา อันเป็นผลมาจากปัจจัยภายในประเทศทังของไทยและของจีน คือ ไทยให้ความสนใจมุ่งการค้ากับชาติตะวันตก ขณะที่จีนก็มีปัญหาความมั่นคงต้องรับมือกับการคุกคามของชาติตะวันตก

ผลจากการติดต่อสร้างสัมพันธไมตรีกับจีน นอกจากได้รับผลประโยชน์ตอบแทนทางการค้าแล้ว ยังทำให้จีนบางส่วนอพยพโยกย้ายเข้ามาตั้งถิ่นฐานในราชอาณาจักรไทย อันเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาเศรษฐกิจไทยทางอ้อม รวมทังยังให้วัฒนธรรมจีนเผยแพร่มาสู่กรุงรัตนโกสินทร์มากขึ้นด้วย

ความสัมพันธ์กับโปรตุเกส
โปรตุเกสเป็นตะวันตกชาติแรกที่เข้ามาเจริญสัมพันธไมตรีกับราชสำนักไทย โดยลักษณะความสัมพันธ์จะเป็นเรื่องการผูกไมตรีและติดต่อค้าขาย

สมัยรัชกาลที่ 1 มีการเจริญสัมพันธไมตรีอย่างปกติธรรมดาเท่านั้น การติดต่อค้าขายระหว่างกันมีน้อยมาก โดยชาวโปรตุเกสชื่อ อันโตนีโอ วิเสน เป็นผู้นำสาสน์จากทางการโปรตุเกสมาถายพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก เมื่อปี 2329 เพื่อขอผูกไมตรีกับไทย ซึ่งรัชกาลที่ 1 ก็ทรงต้อนรับ และมีพระราชสาสน์ตอบกลับไป

ช่วงรัชกาลที่ 2 ความสัมพันธ์ของไทยกับโปรตุเกสมีความแน่นแฟ้นมากขึ้น มีการติดต่อทางการฑูตและทำสัญญาระหว่งกัน โดยในปี 2361 ผู้สำเร็จราชการโปรตุเกสที่เกาะมาเก๊า ได้ส่ง การ์ลูส มานูเอล ดา ซิลเวย์รา นำเครื่องราชบรรณาการและพระราชสาสน์ของกษัตริย์โปรตุเกสมาถวายรัชกาลที่ 2 เพื่อขอเจริญสัมพันธไมตรี ไทยก็ให้การต้อนรับอย่างดี เพราะเห็นว่าโปรตุเกสช่วยอำนวยความสะดวกแก่เรือกำปั่นหลวงที่เดินทางไปค้า ขายที่มาเก๊า รวมทั้งไทยยังต้องการซื้อปืนใหญ่จากโปรตุเกสเอาไว้ใช้ป้องกันพระนครด้วยจึง ยินดีที่จะเป็นมิตรกับโปรตุเกส

ต่อมาในปี  2363 ผู้สำเร็จราชการโปรตุเกสที่เมืองกัว ในอินเดีย ได้ร่างสัญญาทางพระราชไมตรีในนามของกษัตริย์โปรตุเกส มอบให้การ์ลูส มานูเอล ดา ซิลเวย์ราเข้ามาถวายโดยขอซิลเวียราเป็นกงสุลโปรตุเกสประจำกรุงเทพฯ ขอพระราชทานที่ดินและอาคารให้กงสุลได้พักอาศัย และขอปักธงโปรตุเกสที่สถานกงสุลด้วย ซึ่งรัชกาลที่ 2 ก็โปรดเกล้าฯ พระราชทานตามที่ขอ พร้อมแต่งตั้งให้ซิลเวย์รามีบรรดาศักดิ์เป็น หลวงอภัยพาณิช

ความสัมพันธ์กับโปรตุเกสนับจากนี้ไปจนตลอดรัชกาลที่ 3 ก็ยังคงเป็นความสัมพันธ์ทางการฑูตและการติดต่อค้าขาย ซึ่งก็มีปริมาณการค้าไม่มากนัก

ความสัมพันธ์กับอังกฤษ
สมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น อังกฤษได้ส่งฑูตเข้ามาเจรจาทางการค้าเป็นระยะๆ และได้จัดทำสัญญากับไทย เพื่อให้ตนได้ผลประโยชน์มากที่สุด

ในปี 2364 มาควิส เฮสติงส์ ผู้สำเร็จราชการอังกฤษที่อินเดีย ได้แต่งตั้ง จอห์น ครอว์เฟิร์ด เป็นฑูตเดินทางเข้ามาเจริญสัมพันธไมตรี และเจรจาเรื่องการค้ากับไทยแต่ประสบความล้มเหลว เพราะมีปัญหาหลายประการที่เจรจาตกลงกันไม่ได้ เช่น อังกฤษตั้งเงื่อนไขการขายอาวุธปีนกับไทยไว้มาก ไทยยอมผ่อนปรนลดอัตราการจัดเก็บภาษีขาเข้าขาออก แต่ขอให้อังกฤษค้ำประกันจำนวนเรือสินค้าที่จะเข้ามาค้าขาย แต่อังกฤษไม่ยอมรับรอง และปัญหาเรื่องเมืองไทรบุรี ซึ่งไทยถือว่าเป็นเรื่องกิจการภายในราชอาณาจักรจึงไม่ยอมนำหัวข้อนี้มาเจรจา

ถึงแม้การเจรจา ครั้งนี้ไม่สำเร็จ แต่ก็มีเรือสินค้าอังกฤษเข้ามาติดต่อค้าขายกับไทยมากขึ้น ซึ่งไทยก็เปิดให้มีการค้าขายอย่างสะดวกตามระเบียบกฏเกณฑ์ที่ทางการไทยกำหนด ไว้

ต่อมาในปี 2368 สมัยรัชกาลที่ 3 ลอร์ด แอมเฮิร์ส ผู้สำเร็จราชการอังกฤษที่อินเดียคนใหม่ ได้ส่งร้อยเอกเฮนรี่ เบอร์นี่ เดินทางเข้ามาเจรจากับราชสำนักไทย ใช้เวลาเจรจาถึง 5 เดือน ในที่สุดไทยกับอังกฤษก็สามารถทำสัญญาทางพระราชไมตรีและการพาณิชย์ (เรียกสั้นๆ ว่าสนธิสัญญาเบอร์นี่) ลงวันที่ 20 มิถุนายน 2369 ขึ้นมาได้ ซึ่งมีสาระสำคัญบางประเด็น เช่น ไทยจะจัดเฏ็บภาษีในอัตราที่แน่นอนตามความกว้างของปากเรือ ห้ามอังกฤษนำฝิ่นเข้ามาค้าขาย การค้าข้าวจะซื้อขายกันได้แต่จากพระคลังสินค้าเท่านั้น คนในบังคับอังกฤษเมื่อเข้ามาในราชอาณาจักรต้องปฏิบัติตามกฏหมายไทย อังกฤษยอมรับอธิปไตยของไทยเหนือเมืองไทรบุรี กลันตัน และตรังกานู

สัญญาเบอร์นี่ อังกฤษได้รับประโยชน์จากการค้า ส่วนไทยได้รับความเสมอภาคและการมีอำนาจเหนือหัวเมืองมลายูบางเมือง

อย่างไรก็ดี บรรดาพ่อค้าอังกฤษต่างก็ไม่พอใจสัญญาฉบับนี้ เพราะเห็นว่า เฮนรี เบอร์นี อ่อนข้อให้กับราชสำนักไทยมากเกินไป ดังนั้นในปี 2393 ตอนปลายสมัยรัชกาลที่ 3 อังกฤษจึงส่งเซอร์ เจมส์ บรูค เดินทางเข้ามาขอแก้ไขสัญญาเบอร์นี่กับไทย ซึ่งอังกฤษต้องการให้ไทยยกเลิกระบบการผูกขาดการค้าโดยพระคลังสินค้า ขอให้ไทยลดภาษีปากเรือจากวาละ 1,700 บาท เหลือ 500 บาท และห้ามเก็บค่าธรรมเนียมอื่นใดอีก ขอให้กงสุลอังกฤษเข้ามาร่วมพิพากษาคดีความที่เกิดกับคนในบังคับอังกฤษ รวมทั้งขอสิทธิพิเศษอีกหลายข้อ ซึ่งล้วนแต่เป็นประโยชน์กับอังกฤษทั้งสิ้น ขณะที่ไทยเห็นว่าข้อตกลงในสัญญาเบอร์นี่ มีความเหมาะสม อังกฤษได้รับผลประโยชน์มากอยู่แล้ว ถ้าไทยยอมแก้ไขสัญญาให้สิทธิพิเศษแก่อังกฤษมากไป จะทำให้ชาติอื่นๆ ถือเป็นแบบอย่าง ทำตามอังกฤษบ้าง ดังนั้น การเจรจาจึงไม่ประสบผลสำเร็จ เมื่อเซอร์ เจมส์ บรูค กลับไปถึงสิงคโปร์ ได้เสนอให้รัฐบาลอังกฤษใช้กำลังทหารบีบบังคับไทยให้ยอมแก้ไขสัญญา แต่รัฐบาลอังกฤษไม่เห็นชอบ ความสัมพันธ์ทางการค้าระหว่างไทยกับอังกฤษจึงเป็นไปตามสนธิสัญญาเบอร์นีที่ จัดทำขึ้นในปี 2369

ความสัมพันธ์กับสหรัฐอเมริกา
ไทยกับสหรัฐอเมริกามีความสัมพันธ์ต่อกันทางด้านการค้า และวัฒนธรรม ฝ่านคณะมิชชันนารีที่เข้ามาเผยแผ่ศาสนาคริสต์

ชาวอเมริกันเริ่มเข้ามาติดต่อกับไทยเป็นครั้งแรก ในปี 2361 ตรงกับรัชกาลที่ 2 เมื่อกัปตันเฮล นำปืนคาบศิลาจำนวน 500 กระบอก มาจำหน่ายให้ไทย ซึ่งกำลังต้องการอาวุธไว้ต่อสู้กับพม่า รัชกาลที่ 2 ทรงพอพระทัย จึงพระราชทานบรรดาศักดิ์ให้เป็นหลวงภักดีราชกปิตัน

ในสมัยรัชกาลที่ 3 ชาวอเมริกันได้เดินทางเข้ามายังราชอาณาจักรไทยมากขึ้น โดยเฉพาะคณะมิชชันนารีอเมริกันที่เข้ามาเผยแผ่ศาสนาคริสต์นิกายโปรเตสแตนต์ ได้สร้างคุณประโยชน์ให้กับสังคมด้วย เพราะคณะมิชชั่นนารีช่วยนำวิทยาการสมัยใหม่มาเผยแพร่ให้คนไทย นอกเหนือไปจากการสอนศาสนา ตัวอย่างเช่น หมอบรัดเลย์ เป็นผู้นำความรู้ด้านการพิมพ์มาเผยแพร่ ทำให้การจัดทำหนังสือ เอกสารเป็นไปอย่างรวดเร็ว มีการออกหนังสือพิมพ์ตามแบบตะวันตก อาทิ บางกอกรีคอร์เดอร์ บางกอกกาเลนเดอร์ รวมทั้งนำความรู้ทางการแพทย์สมัยใหม่ ได้แก่ การฉีดวัคซีนป้องกันอหิวาตกโรค การปลูกฝีป้องกันไข้ทรพิษ มาเผยแพร่ให้กับคนไทย เป็นต้น

สำหรับสัมพันธไมตรีทางด้านการค้า สหรัฐอเมริกาได้ส่ง เอ็ดมัน โรเบิร์ตส์ เข้ามาถวายสาสน์ของประธานาธิบดีแอนดรูว์ แจ็คสัน ต่อพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว และเจรจาทางการค้ากับไทย ซึ่งสามารถตกลงกันได้และลงนามในเดือนมีนาคม 2375 ซึ่งมีสาระสำคัญคล้ายคลึงกับสัญญาเบอร์นีที่ไทยเคยทำกับอังกฤษ เช่น พ่อค้าอเมริกันมีเสรีภาพในการซื้อขายสินค้าต่งๆ ยกเว้นสินค้าต้องห้ามไทยจะเรียกภาษีตามความกว้างของปากเรือ วาละ 1700 บาท สำหรับเรือที่บรรทุกสินค้าเข้ามาจำหน่ายและ 1500 บาท สำหรับเรือเปล่า แต่พ่อค้าอเมริกันห็นว่าสัญญาที่เอ็ดมันด์ โรเบิร์ตส์ ได้ทำกับไทยยังไม่สะดวกต่อการค้าขาย เพราะสินค้าหลายอย่างถูกผูกขาดโดยกรมพระคลังสินค้า และไทยเรียกเก็บภาษีสูงเกินไป ดังนั้น ใน พ.ศ.2393 สหรัฐอเมริกาจึงส่งโจเซฟ บาเลสเตีย ซึ่งเป็นกงลุสประจำอยู่ที่สิงค์โปร์ เป็นฑูตเข้ามาเจรจาขอแก้ไขสนธิสัญญากับไทย โดยสหรัฐอเมริกาขอให้ไทยยกเลิกการจัดเก็บภาษีปากเรือ ให้เก็บโดยวิธีอื่น และขอตั้งสถานกงสุลหรือผู้แทนการค้าในกรุงเทพฯ

ผลการเจรจาครั้งนี้ไม่สามารถตกลงกันได้ เพราะไทยยอมรับเงื่อนไขได้เพียงบางข้อ และไม่เต็มใจที่จะแก้ไขสัญญาทั้งหมด เพราะจะทำให้ชาติอื่นขอทำตามอย่างบ้าง ขณะเดียวกันไทยก็วิตกต่อการแพร่ขยายอิทธิพลของชาติตะวันตก เกรงว่าการแก้ไขสัญญาจะทำให้ชาติตะวันตกเข้ามามีบทบาทในดินแดนไทยมากขึ้น

ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศของไทยสมัยปรับปรุงประเทศให้ทันสมัย

พลตรีพระเจ้าวรวงศ์เธอ กรมหมื่นนราธิปพงศ์ประพันธ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ระหว่างปี2495-2501 ทรงเป็นคนไทยคนแรกที่ได้รับเลือกตั้งให้ดำรงตำแหน่งประธานสมัชชาใหญ่องค์การสหประชาชาติ ระหว่างปี 2499-2500

จุดมุ่งหมายสำคัญในสร้างความสัมพันธ์ระหว่างประเทศของไทยในช่วงนี้

การสร้างความสัมพันธ์ระหว่างประเทศสมัยปรับปรุงประเทศให้ทันสมัย ไทยต้องประสบปัญหาหนัก อันเกิดจากลัทธิล่าอาณานิคมของอังกฤษและฝรั่งเศส เพราะในขณะที่ชาติตะวันตกอื่นๆ ดำเนินความสัมพันธ์กับไทยในลักษณะเพื่อให้ได้ผลประโยชน์ตอบแทนทางการค้ามากที่สุด แต่อังกฤษและฝรั่งเศสกลับมุ่งหวังที่จะให้ได้ดินแดนของไทยด้วย
ดังนั้น ในสมัยรัชกาลที่ 4 และ5 ไทยจึงต้องใช้วิเทโศบายทางการฑูตหลายประการ เพื่อรับมือการคุกคามจากทั้งสองชาติ ไม่ว่าจะเป็นการยอมประนีประนอม ผูกสัมพันธไมตรีให้แน่นแฟ้น ถ่วงดุลอำนาจ ยอมเสียสละประโยชน์บางส่วน โดยยอมอดทนต่อการยั่วยุให้ใช้กำลังทหารโต้ตอบ เพราะทรงทราบดีว่าขีดความสามารถทางการรบของไทยไม่เอื้อให้ทำเช่นนั้น ดังมีบทเรียนมาแล้วจากชาติเพื่อนบ้านในเอเซีย เช่น จีน พม่า ที่ประสบกับความพ่ายแพ้อย่างยับเยิน เมื่อทำสงครามกับชาติตะวันตก
นอกจากนี้ ไทยยังดำเนินการพัฒนาประเทศให้ทันสมัยในหลายๆ ด้าน รวมไปถึง ด้านความสัมพันธ์ รัชกาลที่5 ทรงส่งฑูตไปเจริญสัมพันธไมตรีกับประเทศต่างๆ ทั่วยุโรป แม้แต่พระองค์เองก็เสด็จประพาสยุโรปถึง 2 ครั้ง ในปี 2440 และ 2450 ไม่นับถึงการส่งเชื้อพระวงศ์หลายพระองค์ไปศึกษาต่อที่อังกฤษ ฝรั่งเศส เยอรมัน รัสเซีย เป็นต้น นอกเหนือไปจากการมีความสัมพันธ์อันดีกับเพื่อนบ้านในเอเซียมาก่อนแล้ว

ทั้งนี้ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศของไทยในช่วงระยะเวลาดังกล่าว มีจุดมุ่งหมายดังนี้
1. เพื่อรักษาเอกราชและอธิปไตยของชาติมิให้ตกเป็นอาณานิคมของชาติตะวันตก
2. เพื่อรักษาดินแดนของไทยมิให้ถูกแบ่งแยก
3. เพื่อปรับปรุงประเทศให้ทันสมัยตามแนวทางตะวันตก
4. เพื่อผลประโยชน์ทางด้านเศรษฐกิจและการค้า

ลักษณะการสร้างความสัมพันธ์ระหว่างประเทศสมัยปรับปรุงประเทศให้ทันสมัย
ในสมัยปรับปรุงประเทศ  บทบาทความสัมพันธ์ของไทยกับชาติเพื่อนบ้านได้ลดน้อยลงไปมาก บางชาติความสัมพันธ์ก็ยุติลง ทั้งนี้เพราะชาติเพื่อนบ้านเหล่านั้นต่างเผชิญกับปัญหาการคุกคามของชาติตะวันตก และเพื่อนบ้านบางชาติก็ตกเป็นอาณานิคมของอังกฤษ หรือฝรั่งเศส เช่นในปี  2405 ภาคใต้ของเวียดนามตกเป็นของฝรั่งเศสในปี 2428 พม่าก็ตกเป็นเมืองขึ้นของอังกฤษ ส่วนลาวและเขมรซึ่งเป็นประเทศราชของไทย ฝรั่งเศสก็พยายามแผ่อิทธิพลเข้ามาครอบครอง
ทางด้านความ สัมพันธ์กับจีน ไทยส่งฑูตไปเยือนจีนในลักษณะรัฐบรรณาการเป็นครั้งสุดท้าย ในปี 2395 อันเป็นปีแรกในสมัยรัชกาลที่ 4 นับจากนั้นมา ความสัมพันธ์กับจีนจะมีลักษณะเสมอภาคเท่ากันเหมือนกับแนวทางเจริญสัมพันธ ไมตรีกับชาติอื่นๆ

1. ลักษณะความสัมพันธ์ระหว่างประเทศในสมัยพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (พ.ศ.2394-2411)
พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว นับเป็นพระมหากษัตริย์ที่ทรงรอบรู้ศิลปวิทยาการตะวันตก ทรงมีความรู้ด้านภาษาอังกฤษอย่างเชี่ยวชาญ จนเมื่อขึ้นครองราชย์ในปี 2394 แล้ว ทรงตระหนักถึงภัยอันจะเกิดจากชาติตะวันตก พระองค์จึงเร่งปรับปรุงแนวทางการดำเนินความสัมพันธ์กับต่างประเทศเสียใหม่ ทรงยอมผ่อนปรนประนีประนอมกับชาติต่างๆ ในยุโรปมากขึ้น โดยเฉพาะกับอังกฤษและฝรั่งเศส รวมทั้งใช้วิธีการถ่วงดุลกับชาติอื่นๆ เพื่อมิให้ชาติใดชาติหนึ่งเข้ามามีอิทธิพลต่อไทยมากเกินไป

ความสัมพันธ์กับอังกฤษ   หลัง จากที่เซอร์ เจมส์ บรูค ประสบความล้มเหลวในการเจรจาของแก้ไขสัญญาเบอร์นีกับไทยในปลายรัชกาลที่ 3 เมื่อถึงต้นรัชกาลที่ 4 อังกฤษก็ได้แต่งตั้ง เซอร์ จอห์น เบาริง เป็นผู้แทนเข้ามาเจรจาการค้ากับไทยอีกครั้งหนึ่งในวันที่ 9 เมษายน 2398 และเพียงชั่วระยะเวลาอันสั้น ไทยกับอังกฤษก็บรรลุข้อตกลง สามารถลงนามในสนธิสัญญาทางพระราชไมตรีและการพาณิชย์ต่อกันได้สำเร็จ เมื่อวันที่ 18เมษายน 2398 ซึ่งเรียกสนธิสัญญาฉบับนี้ว่า สัญญาเบาริง” อันเป็นสัญญาที่ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทั้งทางด้านการเมือง เศรษฐกิจ และสังคมของไทยอย่างกว้างขวาง สาระสำคัญของสนธิสัญญาเบาริง มีดังนี้
1. อังกฤษมีสิทธิตั้งสถานกงสุลเพื่อพิทักษ์ประโยชน์ของตน และได้รับสิทธิสภาพนอกอาณาเขตในการตั้งศาลพิพากษาคดีคนในบังคับของตน
2. คนในบังคับอังกฤษมีสิทธิทำการค้าได้อย่างเสรีทั่วทุกเมืองท่าของไทย
3. คนในบังคับอังกฤษมีเสรีภาพในการนับถือศาสนา
4. คนในบังคับอังกฤษมีสิทธิซื้อที่ดินได้ภายใน 4 ไมล์ จากกำแพงเมือง ถ้าพ้นจากเขตนี้ ต้องอยู่อาศัยครบ 10ปี จึงจะมีสิทธิ์ซื้อได้
5. ไทยยกเลิกภาษีปากเรือ และเรียกเก็บภาษีขาเข้าตามราคาสินค้าในอัตราร้อยชัก 3 ส่วนภาษีขาออกให้เก็บได้ครั้งเดียวตามอัตราที่กำหนด
6. ฝิ่น เงินแท่ง ทองแท่ง ได้รับอนุญาตให้นำเข้ามาจำหน่ายได้ ส่วนฝิ่นต้องขายตรงให้กับเจ้าภาษีฝิ่นเท่านั้น ถ้าเจ้าภาษีฝิ่นไม่ซื้อต้องนำกลับออกไป
7. ไทยมีสิทธิห้ามส่งข้าว เกลือ และปลาออกนอกประเทศได้ในกรณีขาดแคลน แต่ต้องแจ้งให้กงสุลทราบล่วงหน้า 1 เดือน
8. ภายหลังถ้าไทยทำสัญญาให้สิทธิและผลประโยชน์อื่นใดนอกเหนือจากข้อตกลงในสัญญาฉบับนี้แก่ชาติอื่น อังกฤษจะได้สิทธิและผลประโยชน์นั้นด้วย
9. สัญญาจะยกเลิกไม่ได้ การเปลี่ยนแปลงแก้ไขข้อตกลงจะกระทำได้เมื่อสัญญาผ่านไปแล้ว 10 ปี โดยต้องการได้รับการยินยอมจากคู่สัญญาทั้งสองฝ่าย และต้องแจ้งให้ทราบล่วงหน้า 1 ปี

ผลของสนธิสัญญาเบาริง มีทั้งข้อดีและเสียดังต่อไปนี้

ข้อดี ทำให้ไทยสามารถรักษาเอกราชของชาติไว้ได้ ทำให้เศรษฐกิจเจริญรุ่งเรือง มีการติดต่อค้าขายอย่างกว้างขวาง ข้าวกลายเป็นสินค้าออกสำคัญ ทำให้พื้นที่ทำนาขยายตัว รวมท้งได้รับวิทยาการสมัยใหม่ อันเป็นผลมาจากการเดินทางเข้ามาของชาวตะวันตกจำนวนมาก
ข้อเสีย ไทยต้องเสียอธิปไตยทางการศาลให้กับต่างชาติ ประเทศราชของไทยเริ่มปลีกตัวออกห่าง เพราะเห็นว่าไทยคงไม่สามารถช่วยคุ้มครองภัยให้ตนได้ รวมทั้งไทยก็ได้รับภาษีน้อยกว่าที่ควรจะได้ เนื่องจากอัตราภาษีถูกกำหนดไว้ตายตัว
ถึงแม้ว่าไทยจะพยายามผูกไมตรี ยอมประนีประนอมทำสนธิสัญญาเบาริงกับอังกฤษแล้ว แต่ก็ยังเกิดข้อพิพาทกับอังกฤษขึ้นอีก ใน ปี 2405 ด้วยเรื่องหัวเมืองมลายู โดยผู้สำเร็จราชการอังกฤษที่สิงคโปร์กล่าวหาไทยว่าละเมิดข้อตกลงในสัญญา เบอร์นี ที่เข้าไปแทรกแซงกิจการภายในของเมืองตรังกานูซึ่งเป็นอิสระ โดยสนับสนุนให้เจ้าพระยาตรังกานู โจมตีเมืองปะหัง ซึ่งอยู่ใต้การครอบครองของอังกฤษ ทางอังกฤษจึงส่งกองเรือเข้าปิดล้อมและโจมตีเมืองตรังกานู ฝ่ายไทยจึงยื่นประท้วงไปยังลอร์ด รัสเซลล์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศชองอังกฤษ ซึ่งอังกฤษก็ยอมขอโทษที่เกิดการเข้าใจผิด ทั้งนี้เพราะในสัญญาเบอร์นีระบุชัดเจนว่า เมืองตรังกานูเป็นของไทย และการที่เจ้าพระยาตรังกานูส่งต้นไม้เงินต้นไม้ทองมาถวายกษัตริย์ไทย ก็สดงว่าตรังกานูมิได้เป็นรัฐอิสระ แต่ยอมอยู่ใต้อำนาจของไทย การยอมประนีประนอมและแก้ไขข้อขัดแย้งที่เกิดขึ้นอย่างสันติวิธีทำให้ไทยรอด พ้นจากการถูกอังกฤษคุกคามมาได้จนตลอดรัชกาลที่ 4

ความสัมพันธ์กับฝรั่งเศส สมัยรัชกาลที่ 4 ไทยมีความสัมพันธ์กับฝรั่งเศส เนื่องจากฝรั่งเศสแผ่อิทธิพลเข้ามาในเขมร ซึ่งทำให้ไทยต้องยอมรอมชอมผ่อนปรนกับฝรั่งเศส เพื่อป้องกันมิให้ปัญหาเขมรลุกลามให้ฝรั่งเศสใช้เป็นข้ออ้างเข้ามาโจมตีดิน แดนไทย หลังจากที่ฝรั่งเศสประสบความสำเร็จในการยึดแคว้นโคชินไชนา ซึ่งอยู่ทางภาคใต้ของญวน ในปี 2405 แล้ว ฝรั่งเศสก็มุ่งเป้าหมายขยายอิทธิพลเข้าไปในเขมร ซึ่งขณะนั้นอยู่ภายใต้อำนาจของไทย เหตุผลที่ฝรั่งเศสต้องการจะครอบครองเชมร ก็เพื่อใช้เขมรซึ่งมีแม่น้ำโขงไหลผ่าน เป็นเส้นทางลำเลียงสินค้าสู่มณฑลยูนนานของจีน ซึ่งฝรั่งเศสเห็นว่าน่าจะเป็นตลาดการค้าที่สำคัญของตน รวมทั้งจะใช้เขมรเป็นฐานที่มั่นขยายอิทธิพลสู่ลาว และเป็นแหล่งผลิตเสบียงอาหารเพื่อป้อนกองทัพฝรั่งเศสในแถบอินโดจีน ทางฝรั่งเศสได้ส่งฑูตไปเจรจาเกลี้ยกล่อมให้พระนโรดมองค์บริรักษ์ กษัตริย์เขมรยอมลงนามในสัญญายินยอมให้เขมรเป็นรัฐอารักขาของฝรั่งเศสได้ สำเร็จ ในเดือนสิงหาคม 2406 เมื่อไทยทราบเรื่องจึงยื่นคำประท้วงไปยังกระทรวงการต่างประเทศของฝรั่งเศส แต่ไม่ได้ผล ไทยจึงจัดทำสัญญาลับกับเขมร เมื่อเดือนธันวาคม 2406 เพื่อให้เขมรยืนยันว่ายังเป็นประเทศราชของไทยอยู่ตามกฏหมาย ซึ่งสัญญาลับฉบับนี้กงสุลอังกฤษประจำประเทศไทยให้การสนับสนุน เพราะเกรงว่า ถ้าฝรั่งเศสได้ครอบครองเขมรแล้ว ก็คงจะขยายอิทธิพลเข้าสู่ไทยต่อไป อันจะทำให้ผลประโยชน์ของอังกฤษในหัวเมืองมลายู มอญ และพม่าได้รับความเสียหาย เมื่อฝรั่งเศสทราบเรื่องสัญญาลับ จึงขอให้ไทยยกเลิกสัญญา และยอมรับอำนาจของฝรั่งเศสว่ามีเหนือเขมร แต่ไม่ประสบความสำเร็จ ฝรั่งเศส จึงส่งเรือรบ มิตราย” เข้ามาจอดข่มขู่ไทยกลางแม่น้ำเจ้าพระยา รัชกาลที่ 4 ทรงหวั่นเกรงว่าเหตุการณ์จะบานปลาย และกลายเป็นข้ออ้างให้ฝรั่งเศสใช้เป็นเหตุเข้ามาโจมตีดินแดนของไทย รวมทั้งยังทรงคาดหวังว่า การผูกสัมพันธไมตรกับฝรั่งเศสไว้จะช่วยถ่วงดุลอำนาจกับอังกฤษได้ ดังนั้น ฝ่ายไทยจึงยอมเจรจาทำสัญยากับฝรั่งเศสในเดือนเมษายน ปี 2408 ซึ่งมีสาระสำคัญว่า ไทยยอมยกเลิกสัญญาลับที่ทำกับเขมรและยอมรับว่าเขมรอยู่ภายใต้การปกครองของ ฝรั่งเศส ทั้งนี้ฝรั่งเศสยินยอมให้เขมรส่งเครื่องราชบรรณาการมาถวายกษัตริย์ไทย รวมทั้งยอมรับว่าไทยมีอำนาจอธิปไตยเหนือเมืองพระตะบอก นครวัด และดินแดนลาว
แต่ภายหลัง รัฐบาลฝรั่งเศสก็ยังไม่ยอมให้การรับรองสัญญาฉบับนี้อย่างเป็นทางการ เพราะไม่ต้องการให้ไทยอ้างกรรมสิทธิ์เหนือดินแดนลาว สถานการณ์ทำท่าจะยืดเยื้อและบานปลายออกไป ซึ่งไม่เป็นผลดีต่อไทย ดังนั้น รัชกาลที่ 4 จึงส่งฑูตเดินทางไปเจรจากับฝรั่งเศสอีก ณ กรุงปารีส และสามารถลงนามกันได้ในเดือนกรกฏาคม 2410 โดยไทยต้องเสียดินแดนเขมรส่วนใหญ่ และเกาะ 6 เกาะ รวมเป็นเนื้อที่ประมาณ 124,000 ตารางกิโลเมตร ให้ฝรั่งเศส โดยฝรั่งเศสยอมระบุว่าไทยมีกรรมสิทธิ์เหนือเมืองเสียมราฐ และเมืองพระตะบอง แต่มิได้ระบุว่ามีสิทธิเหนือดินแดนลาวลงไปด้วย
การสูญเสียดินแดนบางส่วนที่เป็นประเทศราชให้กับฝรั่งเศส นับเป็นพระบรมราโชบายที่มีความสำคัญต่อการปกป้องรักษาอธิปไตยของชาติเอาไว้ แต่การเสียดินแดนเขมรในครั้งนี้ก็แสดงให้เห็นถึงภยันตรายของลัทธิจักรวรรดิ นิยมตะวันตกว่ากำลังขยายอำนาจเข้ามาสู่ประเทศไทยทุกขณะ

ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศสมัยพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว

เหตุการณ์ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศของไทยในสมัยรัชกาลที่ 5 นับเป็นวิกฤตการณ์ช่วงหนึ่งในประวัติศาสตร์ไทย เนื่องจากไทยถูกชาติมหาอำนาจตะวันตก โดยเฉพาะจากอังกฤษและฝรั่งเศสคุกคามอย่างหนัก

1. ปัญหาความสัมพันธ์กับฝรั่งเศส
ถึงแม้ว่าพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวจะทรงยินยอมยกเขมรส่วนใหญ่ยก เว้น เสียมราฐ พระตะบองให้กับฝรั่งเศส ใน พ.ศ.2410 ไปแล้วก็ตาม แต่ฝรั่งเศสก็ยังไม่หยุดท่าทีที่จะคุกคามไทยต่อไป เพราะฝรั่งเศสยังต้องการขยายอำนาจเข้าไปในลาวซึ่งเป็นประเทศราชของไทยต่อไป ด้วยเหตุนี้ภายหลังที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จเสวยราชสมบัติแล้ว จึงเกิดปัญหาความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับฝรั่งเศสขึ้น ฝรั่งเศสพยายามทุกวิถีทางที่จะขจัดอิทธิพลของไทยไปจากบริเวณฝั่งแม่น้ำโขง เพราะฝรั่งเศสต้องการใช้แม่น้ำโขงเป็นเส้นทางไปสู่จีนตอนใต้ จึงเกิดการปะทะกันตามชายแดน แต่ฝรั่งเศสไม่สามารถขับไล่ทหารไทยออกไปให้หมดจากฝั่งซ้ายแม่น้ำโขงได้ จึงเปลี่ยนมาใช้ นโบายเรือปืน” จนเกิดการปะทะกันระหว่างเรือรบฝรั่งเศสและกองกำลังของไทยบริเวณปากน้ำ ในวันที่ 13 กรกฏาคม 2436 ไทยเป็นฝ่ายเสียเปรียบ จำต้องยินยอมให้ฝรั่งเศสบีบบังคับให้ทำสัญญาเสียเปรียบ ซึ่งสาระสำคัญของสัญญาที่ไม่เป็นธรรมดังกล่าว สรุปได้ดังนี้

1. ประเทศไทยต้องยอมยกเลิกสิทธิทางฟากตะวันออกของแม่น้ำโขงและเกาะต่างๆ
2. ประเทศไทยต้องจ่ายเงิน 2 ล้านฟรังซ์เพื่อชดใช้ค่าเสียหายของเรือรบของฝรั่งเศส
3. ประเทศไทยต้องตั้งศาลพิจารณาโทษทหารที่มีส่วนร่วมในการยิงเรือรบของฝรั่งเศส และการเสียชีวิตของเจ้าหน้าที่ฝรั่งเศสที่ชายแดนแม่น้ำโขง
4. ประเทศไทยต้องไม่สร้างด่านหรือตั้งค่ายทหารในแขวงเมืองพระตะบอง เสียมราฐ และในเขต 25 กิโลเมตรบนฝั่งขวาแม่น้ำโขงให้ถือเป็นเขตปลอดทหาร แม้เจ้าหน้าที่ของไทยจะเข้าไปเกี่ยวข้องก็ไม่ได้

นอกจากนี้ในสัญญายังระบุให้ประเทศไทยรื้อป้อมค่ายบริเวณปลอดทหารภายในเวลา 1 เดือน ระหว่างนั้นฝรั่งเศสจะยึดจันทบุรีไว้เพื่อเป็นประกันว่าไทยจะปฏิบัติตามสนธิสัญญาอย่างเคร่งครัด ประเทศไทยจำต้องยอมทำตามข้อเรียกร้องดังกล่าว เพราะเป็นประเทศเล็กและเป็นฝ่ายเสียเปรียบ

ต่อมาในปี 2438 ไทยได้เปิดเจรจากับฝรั่งเศสเกี่ยวกับสัญญาเสียเปรียบดังกล่าว การเจรจาครั้งนั้นกินเวลานานมาก มีการเจรจาทั้งที่กรุงเทพและที่ปารีส แต่ไม่สามารถตกลงกันได้ จนกระทั่งปี 2447 ได้มีการเจรจาระหว่างไทยกับฝรั่งเศสที่กรุงปารีส และในที่สุด ได้ร่วมลงนามในสนธิสัญญาร่วมกันเมื่อวันที่ 13 กุมภาพันธ์2447 โดยมีสาระสำคัญคือ

1. รัฐบาลต้องยกดินแดนฝั่งขวาของหลวงพระบางอันได้แก่มโนไพร และจำปาศักดิ์ให้กับฝรั่งเศสเพื่อแลกกับจันทบุรี และรัฐบาลทั้งสองจะจัดตั้งคณะกรรมการปักปันเขตแดนทำการปักปันเขตแดนตามเวลาที่กำหนด
2. ฝ่ายไทยยอมรับชาวเอเซียที่เป็นคนในบังคับฝรั่งเศส โดยที่ฝ่ายไทยมิได้เห็นชอบมาก่อนให้เป็นคนในบังคับของฝรั่งเศสได้ แต่บุตรของคนเหล่านั้นต้องเป็นคนในบังคับของไทย คนในบังคับเหล่านี้เดิมขึ้นศาลกงสุล แต่ฝรั่งเศสยอมผ่อนผันให้ว่าถ้าเป็นคดีอาญาให้ขึ้นกับตุลาการฝรั่งเศส ถ้าเป็นคดีแพ่งและโจทก์เป็นคนไทยให้ขึ้นศาลกงสุล แต่ถ้าคนไทยเป็นจำเลยให้ขึ้นศาลต่างประเทศทั้งที่ตั้งอยู่ในกรุงเทพฯ และตามท้องถิ่นนั้นๆ
3. เขต 25 กิโลเมตร จากริมฝั่งแม่น้ำโขงและเขมรส่วนใน คือ พระตะบอง เสียมราฐ และศรีโสภณนั้น กำหนดว่าทางไทยที่จะเข้าไปในบริเวณดังกล่าว จะต้องเป็นทหารที่อยู่ใต้บังคับบัญชาของคนไทยเท่านั้น เพื่อเป็นหลักประกันว่าไทยจะปฏิบัติตามพันธะกรณีที่มีอยู่ ฝรั่งเศสจึงได้ถอนตัวออกจากจันทบุรี แต่ไปยึดตราดไว้เป็นหลักประกันจนกว่าไทยจะปฏิบัติตามข้อตกลง

อย่างไรก็ตาม สนธิสัญญาดังกล่าวก็ยังไม่อาจแก้ปัญหาความยุ่งยากระหว่างไทยกับฝรั่งเศสให้คลี่คลายลงได้ ในที่สุดได้มีการเจรจาระหว่างไทยกับฝรั่งเศสเพื่อยุติปัญหาขัดแย้งระหว่างกันอีกในปี 2450 การเจรจาในครั้งนี้ไทยยอมยกดินแดนเขมรส่วนใน ซึ่งได้แก่ เสียมราฐ พระตะบอง และศรีโสภณให้แก่ฝรั่งเศส เพื่อแลกกับด่านซ้าย ตราดและเกาะต่างๆ ที่อยู่ใต้แหลมสิงห์ลงไปถึงเกาะกูด และแลกกับอำนาจทางการศาลของไทยเหนือคนในบังคับฝรั่งเศส ซึ่งในที่สุดก็เจรจายุติลงได้ในเดือนธันวาคม 2450

สนธิสัญญาระหว่างไทยกับฝรั่งเศส พ.ศ.2450 จัดว่าเป็นสนธิสัญญาที่ทั้งสองฝ่ายได้แลกเปลี่ยนผลประโยชน์ซึ่งกันและกัน ยิ่งกว่าสนธิสัญญาฉบับใดที่ไทยเคยทำกับฝรั่งเศสในข่วง 14 ปี หลังวิกฤตการณ์ ร.ศ.112 (พ.ศ.2436)

2. ปัญหาความสัมพันธ์กับอังกฤษ
สืบเนื่องมาจากการที่ฝรั่งเศสได้ปิดฉากคุกคามไทยด้วยกำลังทหารในปี 2436 ทำให้ประเทศไทยมีความจำเป็นที่จะต้องหาหลักประกันในกรณีที่ฝรั่งเศสใช้กำลังเข้ารุกรานไทยต่อไปอีก ด้วยเหตุนี้ไทยจึงมองเห็นว่า ชาติที่ถ่วงดุลอำนาจของฝรั่งเศสได้เป็นอย่างดีในขณะนั้นคือ อังกฤษ ซึ่งกำลังมีอิทธิพลครอบงำพม่าและมลายูบางส่วน

ต่อมาเมื่ออังกฤษเสนอให้รัฐบาลไทย ทำสัญญาคุ้มครองดินแดนทางใต้ของไทย เพราะอังกฤษเกรงว่าจะมีชาติอื่นเข้าไปมีบทบาทแทนตน อันจะทำให้กระทบกระเทือนผลประโยชน์ของอังกฤษในมลายูและบริเวณทางใต้ของไทย ไทยจึงถือโอกาสเปิดการเจรจากับอังกฤษจนสามารถลงนามในสนธิสัญญาในวันที่ 15 มกราคม2440 สนธิสัญญาระหว่างไทยกับอังกฤษใน พ.ศ.2440 มีสาระสำคัญพอสรุปได้ดังนี้

รัฐบาลไทยจะไม่ยินยอมให้ชาติหนึ่งชาติหนึ่งเข้ามาเช่าซื้อ หรือถือกรรมสิทธิ์เหนือดินแดนไทยบริเวณตั้งแต่ตำบลบางสะพานจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ลงไป โดยปราศจากความเห็นชอบของรัฐบาลอังกฤษ และฝ่ายรัฐบาลอังกฤษตกลงจะให้ความคุ้มครองแก่ไทยในกรณีที่ถูกรุกรานจากชาติอื่น

ข้อตกลงระหว่างไทยกับอังกฤษฉบับ นี้เป็นเหตุให้อังกฤษได้เข้ามามีอิทธิพลทางการเมืองและเศรษฐกิจในดินแดนไทย ตั้งแต่ตอนใต้ตำบลบางสะพานลงไปจนสุดเขตแดน กล่าวคือ รัฐบาลไทยต้องขอความเห็นชอบจากอังกฤษในการให้สัมปทานการทำเหมืองแร่แก่ชาว ต่างชาติในบริเวณดังกล่าว ทำให้การทำงานล่าช้า และอังกฤษมักจะขัดขวางการลงทุนของชาติอื่นๆ รัฐบาลไทยจึงต้องพยายามหาทางเจรจายกเลิกสัญญาฉบับนี้กับอังกฤษให้ได้

อย่างไรก็ตาม ปัญหาความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับอังกฤษในขณะนั้นมิได้มีเพียงสนธิสัญญา ระหว่างไทยกับอังกฤษใน พ.ศ. 2440 เท่านั้น แต่ยังมีปัญหาเรื่องสิทธิสภาพนอกอาณาเขตของคนในบังคับอังกฤษ ปัญหาการแทรกแซงของอังกฤษในหัวเมืองมลายูของไทย และปัญหาการสร้างทางรถไฟสายใต้ของไทยอีกด้วยทำให้ไทยต้องเปิดการเจรจากับ อังกฤษเพื่อแก้ไขปัญหาเหล่านี้ใน พ.ศ. 2452

ไทยได้เสนอยกหัวเมืองมลายู อันได้แก่ ไทรบุรี กลันตันและตรังกานู ให้กับอังกฤษ ซึ่งเป็นดินแดนที่มิได้มีประโยชน์ต่อไทยแต่อย่างใด ทั้งในด้านเศรษฐกิจและการทหาร

จากการที่ไทยมีนโยบายในการเจรจากับอังกฤษด้วยข้อเสนอดังกล่าว ทำให้ไทยกับอังกฤษสามารถบรรลุข้อตกลงกันได้จนกระทั่งมีการลงนามในสนธิสัญญาเมื่อวันที่ 10 มีนาคม 2452 สรุปสาระสำคัญมีดังนี้

1) รัฐบาลไทยยอมยกเลิกสิทธิการปกครองและการบังคับบัญชาเหนือดินแดนรัฐมลายู ซึ่งประกอบด้วย ไทรบุรี กลันตัน ตรังกานูและปะลิส รวมทั้งเกาะใกล้เคียงให้แก่อังกฤษ

2) คนในบังคับอังกฤษที่เป็นชาวเอเชียและจดทะเบียนก่อนวันเซ็นสัญญาจะย้ายไปขึ้นศาลไทย มีตุลาการแล้วแต่ไทยจะแต่งตั้ง แต่เวลาพิจารณาคดีกงสุลอังกฤษจะไปนั่งฟังอยู่ด้วย

กรณีที่คนในบังคับอังกฤษเป็นจำเลย กงสุลอาจพิจารณาขอถอนคดีได้ ส่วนคนในบังคับที่จดทะเบียนหลังวันเซ็นสัญญาจะอยู่ในอำนาจศาลไทย คนในบังคับเหล่านี้จะเปลี่ยนไปใช้ศาลไทยทั้งหมดอย่างเต็มที่เมื่อประเทศไทย มีประมวลกฎหมายลักษณะอาญา และกฎหมายแพ่งพาณิชย์ กฎหมายลักษณะวิธีพิจารณาคดี และกฎหมายลักษณะพระธรรมนูญจัดตั้งศาลแล้ว

นอกจากนี้ ยังมีการทำสนธิสัญญาว่าด้วยการปักปันเขตแดนและสนธิสัญญาเรื่องอำนาจศาลแยกเป็นพิเศษอีกด้วย รวมทั้งภาคผนวกว่า ต้องการยกเลิกสนธิสัญญาระหว่างไทยกับอังกฤษ ปี 2440 และว่าด้วยการสร้างทางรถไฟสายใต้ ซึ่งรัฐบาลอังกฤษจะให้เงินกู้ในการก่อสร้าง ภายใตเงื่อนไขที่ว่าอังกฤษจะต้องเป็นผู้ดำเนินการก่อสร้าง

กล่าวโดยสรุป ปัญหาความสัมพันธ์กับต่างประเทศในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้า อยู่หัว เป็นปัญหาที่สำคัญต่อความอยู่รอดของเอกราชและบูรณภาพเขตแดนของประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งปัญหาความสัมพันธ์กับอังกฤษและฝรั่งเศส ซึ่งไทยต้องใช้วิเทโศบายที่ฉลาดและสุขุมคัมภีรภาพ รู้จักปรับตัวโอนอ่อนตามความต้องการของประเทศมหาอำนาจเหล่านั้นบ้าง แต่ก็ไม่ทำให้เราต้องสูญเสียอธิปไตยของชาติโดยส่วนรวม ด้วยพระบรมราโชบายที่ชาญฉลาดของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงตัดสินพระทัยได้ถูกต้องและเกิดผลดีต่อประเทศชาติอย่างใหญ่หลวง ในส่วนที่เกี่ยวกับการแก้ปัญหาความสัมพันธ์กับอังกฤษและฝรั่งเศส ซึ่งต่างก็มุ่งขยายอิทธิพลเข้าไปในดินแดนเพื่อนบ้านของไทย จนกระทั่งประชิดไทยไว้คนละด้าน เป็นสภาวะที่ล่อแหลมอันตรายมาก ถ้าพระองค์ทรงดำเนินวิเทโศบายผิดพลาดในครั้งนั้น ประเทศไทยอาจต้องกลายเป็นอาณานิคมของอังกฤษและฝรั่งเศสเช่นเดียวกับประเทศ เพื่อนบ้านของไทยที่ได้ประสบชะตากรรมก่อนหน้านี้แล้วก็เป็นไปได้

ความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับต่างประเทศในสมัยรัชกาลที่ 6
ความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับต่างประเทศในสมัยรัชกาลที่ 6 (พ.ศ.2453-2475)

การเข้าร่วมในสงครามโลกครั้งที่ 1
จากกรณีที่เกิดสงครามสู้รบในยุโรปจนกลายเป็นสงครามโลกครั้งที่ 1 ในปี  2457 นั้น นับเป็นการสู้รบของกองทัพ 2 ฝาย คือ ฝ่ายมหาอำนาจกลาง ซึ่งมี 4 ประเทศ ได้แก่ อังกฤษ ฝรั่งเศส รัสเซีย และสหรัฐอเมริกา เป็นผู้นำ สำหรับประเทศในเอเซียที่ประกาศสงครามเข้าร่วมกับฝ่ายสัมพันธมิตร มีประเทศญี่ปุ่น ไทย และจีนตามลำดับ

การเข้าสู่สงครามโลกครั้งที่ 1 ของประเทศไทยในครั้งนั้น มิได้เร่งรีบตัดสินใจแต่ประการใด เพราะสงครามโลกเริ่มต้นในปี 2457 แต่ไทยเริ่มเข้าสู่สงครามใน พ.ศ.2460 กล่าวได้ว่าได้มีการพิจารณาไตร่ตรองข้อดีข้อเสียต่างๆ จนมั่นใจว่าจะเกิดผลดีต่อประเทศไทยแล้ว พระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัวจึงทรงประกาศสงครามกับฝ่ายมหาอำนาจ กลางในวันที่ 22 กรกฏาคม 2460 หลังจากที่ได้ประกาศวางตัวเป็นกลางมาโดยตลอด

สาเหตุที่ไทยประกาศสงครามกับฝ่ายมหาอำนาจกลางในสงครามโลกครั้งที่ 1
เหตุผลที่พระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงตัดสินพระทัยที่ประกาศสงครามเข้าร่วมกับฝ่ายสัมพันธมิตรมีอยู่ 3 ประการคือ

1. ทรงเห็นว่าสัมพันธมิตรจะเป็นฝ่ายมีชัยชนะในสงครามอย่างแน่นอน จึงทรงหวังว่าจะได้รับผลประโยชน์จากการยกเลิกสนธิสัญญาที่ไทยทำเสียเปรียบเยอรมันและออสเตรีย-ฮังการีในอดีต รวมทั้งอาจได้รับการแก้ไขสนธิสัญญาที่ไม่เสมอภาคกับนานาประเทศในภายหลัง
2. ทรงเห็นว่าการรักษาความเป็นกลางมีผลเสียมากกว่าผลดี จึงทรงมีพระราชประสงค์จะหลีกเลี่ยงการคุกคามจากประเทศคู่สงครามทั้งสองฝ่าย ทรงดำริว่าถ้าไทยยังคงรักษาความเป็นกลางต่อไปและสัมพันธมิตรเป็นฝ่ายมีชัย ก็จะไม่ได้รับผลประโยชน์อย่างใดมีแต่เสมอตัวกับขาดทุน
3. พระองค์ทรงมีพระราชประสงค์จะรักษาธรรมระหว่างประเทศไว้ เพื่อป้องกันมิให้ประเทศใหญ่ใช้อำนาจอันไม่เป็นธรรมรุกรานประเทศเล็กกว่า

ภายหลังการประกาศเข้าร่วมสงครามกับฝ่ายสัมพันธมิตรแล้ว รัฐบาลไทยได้จัดส่งกองทหารอาสาไปร่วมรบกับสัมพันธมิตรตามคำขอร้องของฝรั่งเศส กองทหารอาสาสมัครดังกล่าว ประกอบด้วยกองปืนทหารบกจำนวน400 คนเศษ และกองทหารรถยนต์อีกประมาณ 850 คน รวมทั้งสิ้นประมาณ 1,250 คน กองทหารอาสาทั้งหมดอยู่ภายใต้บังคับบัญชาของพันเอกพระเฉลิมอากาศ (สุณี สุวรรณประทีป) ออกเดินทางจากประเทศไทยไปยังประเทศฝรั่งเศสในวันที่ 20 มิถุนายน 2461

ผลจากการที่ไทยเข้าร่วมในสงครามโลกครั้งที่ 1
เมื่อสงครามโลกครั้งที่ 1เมื่อสงครามโลกครั้งที่ 1 ได้สิ้นสุดลงโดยมหาอำนาจกลางเป็นฝ่ายปราชัย ฝ่ายสัมพันธมิตรจึงจัดให้มีการประชุมลงนามในสนธิสัญญาสันติภาพที่กรุงปารีส สำหรับประเทศไทยในฐานะที่เป็นส่วนหนึ่งของสัมพันธมิตร ก็ได้รับเกียรติจากคณะผู้นำฝ่ายสัมพันธมิตรให้ส่งคณะผู้แทนเข้าร่วมประชุม และลงนามในสนธิสัญญาสันติภาพกับประเทศมหาอำนาจกลางทั้งสี่ ได้แก่ เยอรมนี ออสเตรีย-ฮังการี และบัลกาเรีย ยกเว้นตุรกี ซึ่งผู้แทนไทยมิได้เชิญ

โดยเฉพาะเยอรมนี และออสเตรีย-ฮังการีนั้นเป็นประเทศคู่สงครามกับไทย จึงเป็นผลให้ไทยได้รับประโยชน์ตามความในสนธิสัญญาหลายประการ ส่วนบัลกาเรียเนื่องจากมิได้เป็นประเทศคู่สงครามกับไทยและมิได้มีสนธิสัญญา ทางพระราชไมตรีต่อกันจึงย่อมไม่มีผลเกิดขึ้นแต่อย่างใด

นอกจากไทยจะได้รับประโยชน์จาก ประเทศคู่สงครามแล้วในส่วนที่เกี่ยวกับความสัมพันธ์กับต่างประเทศ ไทยได้รับการยกย่องว่ามีฐานะและสิทธิเท่าเทียมกับนานาประเทศ เพราะภายหลังเมื่อประเทศต่างๆได้พร้อมใจกันสถาปนาองค์การสันนิบาตชาติขึ้น โดยมีจุดประสงค์เพื่อรักษาสันติภาพของโลกนั้น ปรากฏว่าไทยเป็นประเทศหนึ่งทีได้รับเกียรติให้เข้าร่วมในฐานะสมาชิกผู้ริ เริ่มก่อตั้งองค์การนี้ และมีสิทธิออกเสียงในที่ประชุมเช่นเดียวกับบรรดาประเทศ สมาชิกทั้งหลาย

ส่วนจุดมุ่งหมายสำคัญที่พระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัวได้ทรงตั้งพระทัยไว้คือการขอแก้ไขสนธิสัญญาที่ไม่เสมอภาคกับนานาประเทศ ซึ่งต่อมาในภายหลังได้บรรลุผลสำเร็จสมดังพระราชประสงค์ทุกประการ

การแก้ไขสนธิสัญญาที่ไม่เสมอภาคกับนานาประเทศ
1. การยกเลิกสนธิสัญญาเสียเปรียบกับเยอรมนีและออสเตรีย-ฮังการี นับ ตั้งแต่วันที่ 22 กรกฏาคม 2460เป็นต้นมา พระราชไมตรีระหว่างไทยกับเยอรมนีและออสเตรีย-ฮังการีได้สิ้นสุดลง แต่การณ์กับเป็นประโยชน์ต่อไทยเพราะเป็นผลให้ไทยหลุดพ้นจากข้อผูกมัดอันเสีย เปรียบในสนธิสัญญาทางพระราชไมตรีที่ไทยทำไว้กับเยอรมนี เมื่อ พ.ศ.2404 และออสเตรีย-ฮังการี ในปี 2412 โดยปริยาย ภายหลังที่ไทยได้ประกาศปฏิญญาณยกเลิกสัญญาทั้งหมดที่ทำไว้กับเยอรมนี และออสเตรีย-ฮังการี เมื่อวันที่ 27 เมษายน พ.ศ.2462 ปัญหาเรื่องที่ไทยเสียเปรียบเยอรมนีและออสเตรีย-ฮังการีทางด้านการศาล การเก็บภาษีอากรจึงหมดสิ้นไป และไม่ต้องเสียเวลาไปเจรจาขอแก้ไขสนธิสัญญาเช่นเดียวกับที่ได้ปฏิบัติต่อ ประเทศต่างๆ ภายหลังการลงนามในสนธิสัญญาสันติภาพที่กรุงปารีส

2. การแก้ไขสนธิสัญญากับสหรัฐอเมริกา
ในการประชุมเพื่อทำสนธิสัญญาสันติภาพที่กรุงปารีส ภายหลังสงครามโลกครั้งที่ 1 ยุติลงแล้ว ประเทศไทยได้แถลงในที่ประชุมให้ทราบถึงความไม่เป็นธรรมของสนธิสัญญาที่นานาประเทศผูกมัดไทย และขอแก้สนธิสัญญาไม่เสมอภาคให้เท่าเทียมกัน

หลังจากนั้นการขอแก้ไขสนธิสัญญา กับสหรัฐอเมริกาก็เป็นผลสำเร็จในปี 2463 สนธิสัญญา ฉบับใหม่นี้ให้ประโยชน์แก่ประเทศไทยหลายประการ คือ ทางด้านการศาลรัฐบาลสหรัฐอเมริกายอมสละสิทธิทางการศาลที่มีอยู่ในไทยจนหมด สิ้น ภายหลังที่ไทยประกาศใช้ประมวลกฏหมายครบถ้วนแล้วไม่เกิน 5 ปี แต่ในระยะเวลาดังกล่าว รัฐบาลสหรัฐอเมริกายังคงสงวนสิทธิให้ทูตหรือกงสุลอเมริกันมีสิทธิถอนคดีที่ ชาวอเมริกันเป็นจำเลยในศาลไทยไปพิจารณาความตามกฏหมายอเมริกันได้ทุกศาล(ยก เว้นศาลฏีกา) แต่ถ้าคดีใดมีเนื้อความอยู่ในประมวลกฏหมายที่ไทยประกาศใช้ และได้แจ้งให้สถานทูตอเมริกันทราบแล้ว การพิจารณาคดีจะต้องเป็นไปตามกฏหมายไทย

ทางด้านภาษีอากร รัฐบาลสหรัฐอเมริกาได้ยกเลิกข้อที่กำหนดให้ไทยเก็บภาษีขาเข้าในอัตราร้อยชัก 3 เป็นครั้งแรก และยอมคืนสิทธิการเก็บภาษีทั้งหมดให้แก่ไทย แต่มีข้อแม้ว่าไทยจะต้องปฏิบัติต่อสหรัฐอเมริกาเช่นเดียวกับประเทศอื่นๆ ที่ยอมให้เพิ่มภาษี (โดยไม่มีข้อแลกเปลี่ยน) อย่างเท่าเทียมกัน

อย่างไรก็ตาม แม้ว่าสนธิสัญญาระหว่างไทยกับสหรัฐอเมริกาจะมีเงื่อนไขที่รัฐบาลสหรัฐ อเมริกาสงวนสิทธิไว้บางประการ แต่ก็มีความสำคัญยิ่งที่ทำให้ไทยได้รับเอกสิทธิ์ทางการศาลอย่างสมบูรณ์ใน สมัยต่อมาและการที่รัฐบาลสหรัฐอเมริกายินยอมให้ไทยแก้ไขสนธิสัญญาใหม่ โดยมิได้เรียกร้องผลประโยชน์เป็นการตอบแทนนับว่าเป็นสิ่งที่หาได้ยากยิ่ง

3. การแก้ไขสนธิสัญญากับฝรั่งเศส ในการเจรจาระหว่างไทยกับฝรั่งเศสค่อนข้างจะมีปัญหาในตอนแรก เพราะฝรั่งเศสมีผลประโยชน์มากกว่าสหรัฐอเมริกา และยังมีปัญหาเกี่ยวกับการปักปันเขตแดนอินโดจีนกับไทยอีกด้วย การเจรจาจึงไม่ได้ผลคืบหน้าเท่าที่ควรแต่ไทยก็พยายามโอนอ่อนผ่อนปรนต่อฝรั่งเศส

ในที่สุดรัฐบาลฝรั่งเศสตกลงยินยอมทำสนธิสัญญากับไทยตามแบบอย่างสหรัฐอเมริกา แแต่ยังคงสงวนสิทธิบางประการ และทั้งสองฝ่ายได้ตกลงนามในสนธิสัญญาเมื่อวันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2467 ภายหลังได้มีการแลกเปลี่ยนสัตยาบันกันที่กรุงเทพฯ เมื่อวันที่ 12 มกราคม 2468

4. การแก้ไขสนธิสัญญากับอังกฤษ ในการเจรจาขอแก้ไขสนธิสัญญากับอังกฤษ รัฐบาลอังกฤษได้เสนอข้อเรียกร้องที่เป็นประโยชน์แก่ฝ่ายตน โดยให้ฝ่ายไทยรับรองว่าจะให้ชาวอังกฤษเข้ามารับราชการในตำแหน่งต่างๆ พร้อมกันนั้นก็ได้สงวนสิทธิบางประการไว้ คือให้ไทยเพิ่มอัตราภาษีในระดับปานกลาง และกำหนดอัตราภาษีสินค้าบางชนิดให้แน่นอนลงไป ซึ่งฝ่ายไทยก็เห็นชอบตามข้อเสนอของอังกฤษ ในที่สุดทั้งสองฝ่ายตกลงลงนามในสนธิสัญญาเสมอภาคเมื่อวันที่ 14 กรกฏาคม 2468

ภายหลังที่สหรัฐอเมริกา ฝรั่งเศส และอังกฤษตกลงยินยอมให้ไทยแก้ไขสนธิสัญญาแล้ว ประเทศต่างๆ ก็มีสนธิสัญญาผูกมัดไทย ก็ได้ตกลงยินยอมให้ไทยแก้ไขสนธิสัญญาตามแบบสหรัฐอเมริกา ประเทศเหล่านั้น ได้แก่ เนเธอร์แลนด์ สเปน โปรตุเกส เดนมาร์ก สวีเดน ใน พ.ศ.2468 อิตาลี เบลเยี่ยม นอร์เวย์ ปี 2469 และญี่ปุ่น ปี2466

ในการแก้ไขสนธิสัญญาเสมอภาคกับนานาประเทศในครั้งนั้น ส่วนใหญ่คงยินยอมทำสนธิสัญญากับไทยตามแบบอย่างสหรัฐอเมริกา และถึงแม้ว่าประเทศไทยจะถูกผูกมัดด้วยข้อเรียกร้องบางประการ แต่ข้อผูกมัดเหล่านี้ก็มีกำหนดเวลาสิ้นสุด ดังนั้น ต่อมาในปี 2481 รัฐบาลไทยจึงสามารถแก้ไขสนธิสัญญาใหม่กับนานาประเทศ จนเป็นผลให้ไทยได้รับเอกราชโดยสมบูรณ์อย่างแท้จริง

อย่างไรก็ตาม การที่ไทยได้รับการยกเลิกสนธิสัญญาเสียเปรียบจากนานาประเทศในครั้งนี้ ถ้าพิจารณาอย่างลึกซึ้งแล้ว จะเห็นว่าส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากการที่ไทยได้เข้าร่วมในสงครามโลกครั้งที่ 1 โดยเป็นฝ่ายสัมพันธมิตร การที่ฝ่ายสัมพันธมิตรประสบชัยชนะ ไทยจึงได้รับความเห็นใจจากฝ่ายสัมพันธมิตร โดยเฉพาะสหรัฐอเมริกาได้ยอมแก้ไขสนธิสัญญาเสียเปรียบกับไทย ทำให้ประเทศอื่นๆ ยอมแก้ไขสนธิสัญญาซึ่งไทยเสียเปรียบตามไปด้วย ดังนั้น ถ้ากล่าวโดยสรุปแล้วการดำเนินนโยบายต่างประเทศในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระ มงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัวได้ประสบผลสำเร็จอย่างงดงาม

ความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับต่างประเทศหลังเปลี่ยนแปลงการปกครองจนถึงปัจจุบัน

ประเทศไทยกับสงครามโลกครั้งที่ 2
ภายหลังประเทศฝรั่งเศสได้ยอมแพ้แก่ประเทศเยอรมนีในสงครามโลกครั้งที่ 2 และได้ตกลงทำสัญญาสงบศึกเมื่อวันที่ 22 มิถุนายน 2482 แล้วรัฐบาลฝรั่งเศสได้เร่งเร้ามายังประเทศไทยให้ยอมรับกติกาไม่รุกรานกัน เพื่อให้มีผลบังคับใช้ในทันที

ประเทศไทยภายใต้รัฐบาลพลตรีหลวงพิบูลสงคราม (ต่อมาเป็น จอมพล ป.พิบูลสงคราม) ได้ตอบไปว่า ไทยพร้อมจะยอมรับรับรองกติกาสัญญาไม่รุกรานกัน เพียงแต่ฝรั่งเศสจะยอมรับข้อเสนอของฝ่ายไทย 3 ข้อ คือ

1. ให้เส้นเขตแดนตามลำน้ำโขง (ถือร่องน้ำลึกเป็นเกณฑ์) เป็นไปตามกฏหมายระหว่างประเทศ
2. ให้ถือว่าแม่น้ำโขงเป็นเขตแดนระหว่างประเทศไทยและอินโดจีน ตั้งแต่ทิศเหนือมาจดใต้จนถึงเขตแดนกัมพูชา โดยให้ไทยได้รับดินแดนทางฝั่งขวาของแม่น้ำโขงตรงข้ามหลวงพระบางและปากเซกับคืนมา
3. ขอให้รัฐบาลฝรั่งเศสรับรองว่า ถ้าอินโดจีนเปลี่ยนจากอธิปไตยฝรั่งเศสไป ฝรั่งเศสจะต้องคืนอาณาเขตลาวและกัมพูชาให้แก่ไทย
ฝรั่งเศสไม่ยอมตกลงกับไทยจึงเกิดกระทบกระทั่งกันทางชายแดนเป็นประจำและรุนแรงมากขึ้น ในที่สุดประเทศไทยได้ประกาศเข้าสงครามกับอินโดจีนตั้งแต่วันที่ 2 มกราคม 2484 เป็นต้นไป โดยส่งกองทัพเข้ายึดพื้นที่ของอินโดจีนฝรั่งเศสบางส่วนเอาไว้ได้

ต่อมาประเทศญี่ปุ่นได้ยื่นมือเข้ามาเป็นคนกลางไกล่เกลี่ยกรณีพิพาทที่เกิดขึ้น และได้จัดให้มีการประชุมร่วมกันที่กรุงโตเกียว เมื่อวันที่ 7 กุมภาพันธ์ 2484 ผลของการเจรจาปรากฏว่าฝรั่งเศสยอมยกดินแดนบริเวณเมืองศรีโสภณ มงคลบุรี และพระตะบองให้แก่ประเทศไทย ส่วนประเทศไทยจะจ่ายเงินเป็นค่าเสียหายในการทำสงครามให้กับฝรั่งเศสจำนวนหนึ่ง

หลังจากนั้นไม่นาน ญี่ปุ่นได้ประกาศสงครามกับสหรัฐอเมริกาและอังกฤษ ญี่ปุ่นได้ยกพลขึ้นบกในประเทศไทยตอนเช้ามืดของวันที่ 7 ธันวาคม 2484 รัฐบาลไทยประกาศยุติการสู้รบเพื่อรักษาชีวิตของคนไทย และตกลงกับประเทศญี่ปุ่นว่า ไทยยินยอมให้กองทัพญี่ปุ่นเดินผ่านประเทศไทยไปเท่านั้น โดยที่อำนาจอธิปไตยของประเทศไทยยังคงดำรงอยู่

ต่อมานายปรีดี พนมยงค์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ซึ่งไม่เห็นด้วยกับการที่ประเทศไทยต้องถูกบังคับให้ร่วมมือกับญี่ปุ่น ได้จัดตั้งขบวนการเสรีไทยอย่างลับๆ เพื่อต่อสู้ให้ประเทศไทยและคนไทยได้สิทธิและเสรีภาพกลับคืนมา เหมือนเหตุการณ์ก่อนวันที่ 8 ธันวาคม 2484 ภายหลังเมื่อนายปรีดี พนมยงค์ พ้นจากตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง และได้เข้าดำรงตำแหน่งผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์แล้ว ก็ยิ่งเป็นผลดีต่อการดำเนินงาน เกี่ยวกับขบวนการเสรีไทยยิ่งขึ้น

ในวันที่ 21 ธันวาคม 2484 ประเทศไทยได้ตกลงทำสัญญาสัมพันธไมตรีระหว่างไทยกับญี่ปุ่น เพื่อป้องกันประเทศไทยและในที่สุดได้เปลี่ยนนโยบายเป็นประเทศคู่สงครามกับสหรัฐอเมริกาและอังกฤษในวันที่ 25มกราคม 2484

ในการเปลี่ยนแปลงนโยบายของรัฐบาลไทย ทำให้คนไทยในสหรัฐอเมริกาและอังกฤษไม่เห็นด้วย เพราะเกรงว่าประเทศไทยจะต้องประสบกับความเสียหาย ในประเทศสหรัฐอเมริกา ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช เอกอัคราชทูตไทยประจำกรุงวอชิงตัน ดี.ซี. ได้ประการจัดตั้งขบวนการเสรีไทยขึ้นเพื่อต่อต้านญี่ปุ่น และประกาศไม่ยอมรับนโยบายของรัฐบาลไทยในขณะนั้น โดยกล่าวว่า เป็นความเห็นของบุคคลเพียงกลุ่มเดียว ประชาชนชาวไทยทั้งประเทศต่างไม่เห็นด้วย ในอังกฤษก็ได้มีการจัดตั้งขบวนการเสรีไทยเช่นเดียวกัน

จากบทบาทของขบวนการเสรีไทยทั้งในและนอกประเทศ ทำให้ประเทศไทยรอดพ้นจากการถูกยึดครองจากฝ่ายพันธมิตร ภายหลังที่ญี่ปุ่นประกาศยอมแพ้ฝ่ายสัมพันธมิตรในวันที่ 14 สิงหาคม 2488 ทั้งนี้เพราะฝ่ายสัมพันธมิตรมีความเห็นใจขบวนการขบวนการเสรีไทยที่ต่อต้านญี่ปุ่น โดยเฉพาะสหรัฐอเมริกาได้มีส่วนช่วยเหลือประเทศไทยเป็นอย่างมาก ทำให้อังกฤษและประเทศในฝ่ายสัมพันธมิตรอื่นๆ ไม่กล้าทำอะไรรุนแรงกับประเทศไทย

2. ประเทศไทยกับนโยบายผูกมิตรกับโลกตะวันตกเพื่อต่อต้านคอมมิวนิสต์หลังสงครามโลกครั้งที่ 2
เมื่อสงครามโลกได้สิ้นสุดลงแล้ว โลกต้องประสบกับความตึงเครียดอีกครั้งหนึ่ง เพราะสหภาพโซเวียตซึ่งปกครองภายใต้ระบอบคอมมิวนิสต์ ได้ขยายอิทธิพลเข้าครอบงำในภูมิภาคต่างๆ ทำให้สหรัฐอเมริกาและพันธมิตรตะวันตกอื่นๆในโลกเสรีได้รวมตัวกันต่อต้านการ ขยายตัวของลัทธิคอมมิวนิสต์ต่อมาจีนคอมมิวนิสต์ได้ยึดครองประเทศจีนเป็นผล สำเร็จใน ปี 2492 ทำให้สหรัฐอเมริกามีความวิตกกังวลมาก จึงมีนโยบายต่อต้านคอมมิวนิสต์อย่างแข็งกร้าว

ประเทศไทยก็มีความวิตกกังวลต่อการ ขยายตัวของลัทธิคอมมิวนิสต์เช่นเดียวกัน จึงหวังพึ่งสหรัฐอเมริกาในการป้องกันการรุกรานของคอมมิวนิสต์ จึงทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับสหรัฐอเมริกาแน่นแฟ้นขึ้นตามลำดับ

ในปี 2493 สหรัฐอเมริกาได้ให้ความช่วยเหลือแก่ไทยด้วยการทำสัญญาความตกลงว่าด้วยความช่วยเหลือทางทหาร และความตกลงว่าด้วยความร่วมมือทางเศรษฐกิจและทางเทคนิค ซึ่งสหรัฐอเมริกาเชื่อว่า การให้ความช่วยเหลือทางเศรษฐกิจนั้น จะสามารถสกัดกั้นการขยายตัวของคอมมิวนิสต์ได้ ความช่วยเหลือที่สหรัฐอเมริกาให้กับประเทศไทยในระยะแรกๆ ได้เน้นทางด้านเศรษฐกิจและวิชาการ ซึ่งไทยได้รับความช่วยเหลือจากสหรัฐอเมริการะหว่างปี .2493-2500 คิดเป็นมูลค่า 50,735,930 เหรียญสหรัฐ

สำหรับความช่วยเหลือทางด้านวิชาการ สหรัฐอเมริกาได้ให้ทุนคนไทยไปศึกษาและดูงานในสหรัฐอเมริกาอย่างต่อเนื่อง ส่วนความช่วยเหลือทางด้านการทหาร สหรัฐอเมริกาให้ความช่วยเหลือกองทัพไทย โดยพัฒนาประสิทธิภาพของกำลังพลและกำลังอาวุธยุทโธปกรณ์ รวมทั้งข้อตกลงช่วยเหลือป้องกันประเทศไทยทางด้านการทหาร ถ้าถูกรุกรานจากภายนอก

ประเทศไทยได้เข้าเป็นสมาชิกผู้ ร่วมก่อตั้งองค์การป้องกันร่วมกันแห่งเอเซียตะวันออกเฉียงใต้ (ส.ป.อ.) ในปี2497 โดยมีสมาชิกรวม 8 ประเทศคือ สหรัฐอเมริกา อังกฤษ ฝรั่งเศส ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ ฟิลิปปินส์ ปากีสถาน และประเทศไทย ซึ่งมีจุดมุ่งหมายในการต่อต้านและป้องกันการคุกคามของคอมมิวนิสต์ในภูมิภาค เอเซียตะวันออกเฉียงใต้โดยตรง

ต่อมาสหรัฐอเมริกาได้มีการเปลี่ยนแปลงนโยบายที่มีต่อสาธารณรัฐประชาชนจีน ด้วยหันไปเปิดความสัมพันธ์กับสาธารณรัฐประชาชนจีน ในพ.ศ.2515 ประเทศไทยก็เปลี่ยนนโยบายตามสหรัฐอเมริกา ด้วยการเปิดความสัมพันธ์กับสาธารณรัฐประชาชนจีนในพ.ศ.2518 เช่นกัน

ประเทศไทยก็ได้มีนโยบายที่จะรวมกลุ่มประเทศในแถบเอเซียตะวันออกเฉียงใต้เข้าด้วยกัน เพื่อรวมมือทางเศรษฐกิจ สังคมและวัฒนธรรม โดยไม่มุ่งทางการทหาร ภายหลังจากที่องค์การ ส ป อ ได้ยกเลิกไปแล้ว (ซึ่งต่อมาองค์การนี้เป็นที่รู้จักกันดีในนาม สหประชาชาติในกลุ่มอาเซียน ) ความร่วมมือของสหประชาชาติในกลุ่มอาเซียนทางด้านการเมือง เศรษฐกิจ สังคมและวัฒนธรรม ได้ทำให้ประเทศไทยมีอำนาจต่อรองทางการเมืองระหว่างประเทศสูงขึ้น

3. ประเทศไทยกับการเปลี่ยนแปลงนโยบายต่างประเทศ
ภายหลังการสถาปนาความสัมพันธ์กับประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีนในปี 2517 อันเป็นการเริ่มต้นการสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตกับสาธารณรัฐประชาชนจีน แล้ว นโยบายการต่อต้านประเทศคอมมิวนิสต์ตามนโยบายของสหรัฐอเมริกาที่เคยดำเนินมา ภายหลังตั้งแต่สงครามโลกครั้งที่ 2 สิ้นสุดลงก็เริ่มเปลี่ยนแปลงไปกล่าวคือ ประเทศไทยได้เปิดความสัมพันธ์ทางการเมืองและการค้ากับสาธารณรัฐประชาชน จีนอย่างใกล้ชิด ขณะเดียวกันก็มีความสัมพันธ์กับสาธารณรัฐประชาชนจีนในการต่อต้านการขยาย อิทธิพลของเวียดนามในประเทศกัมพูชา

อย่างไรก็ตาม เมื่อประเทศไทยและสมาชิกในกลุ่มอาเซียนได้สนับสนุนการแสวงหาสันติภาพในเวียดนามและประเทศไทยก็มีบทบาทสำคัญในเรื่องนี้ ประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีนจึงให้การสนับสนุนบทบาทของประเทศไทยและกลุ่มอาเซียนเป็นอย่างดี จนกระทั่งมีผลให้องค์การสหประชาชาติเข้ามามีบทบาทในการสร้างสันติภาพในกัมพูชาอย่างจริงจังต่อไป

ในสมัยพลเอกชาติชาย ชุณหะวัณ เป็นนายกรัฐมนตรี (พ.ศ.2531-2534) ได้ประกาศนโยบายที่จะเปลี่ยนแปลงสนามรบในอินโดจีนให้เป็นตลาดการค้าแทน ซึ่งเท่ากับว่าประเทศไทยมุ่งมั่นในการเปิดสัมพันธภาพทางการทูตและการค้า ตลอดจนความร่วมมือกับกลุ่มประเทศอินโดจีน (ประกอบด้วยลาว กัมพูชา เวียดนาม)อย่างใกล้ชิดต่อไป

การเปลี่ยนแปลงนโยบายที่จะมีความสัมพันธ์ทางการทูตและการค้ากับกลุ่มประเทศอินโดจีนอย่างใกล้ชิดของประเทศไทยนั้น มิได้ทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับประเทศแถบตะวันตก เปลี่ยนแปลงไป สำหรับความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับประเทศญี่ปุ่น ก็มีความสนิทสนมใกล้ชิดทั้งทางด้านเมืองและการค้า อันล้วนแต่ก่อให้เกิดประโยชน์ต่อประเทศไทยโดยส่วนรวมทั้งสิ้น

สภาพกรุงเทพฯ เมื่อครั้งถูกฝ่ายสัมพันธมิตร ทิ้งระเบิดโจมตี ที่โรงไฟฟ้าวัดเลียบ

ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศไทย กับต่างประเทศในสมัยรัตนโกสินทร์ได้ดำเนินไปอย่างเหมาะสมกับสถานการณ์และ เป็นประโยชน์ต่อบ้านเมืองมาทุกยุคสมัย ในสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น (พ.ศ.2325-2394)ประเทศไทยดำเนินนโยบายสร้างความสัมพันธ์กับประเทศตะวันตกอย่างระมัดระวัง ไม่ผลีผลามตกลงทำสัญญาที่เสียเปรียบกับประเทศตะวันตก เพราะสถานการณ์ขณะนั้นยังไม่รุนแรงถึงขั้นที่จะเป็นอันตรายต่อประเทศไทย เพราะมหาอำนาจตะวันตกยังมีปัญหากับประเทศเพื่อนบ้านของไทยอยู่ ขณะเดียวกันกับประเทศเพื่อนบ้านไทยก็ดำเนินนโยบายแข็งกร้าว ไม่ยอมอ่อนข้อให้ โดยเฉพาะกับพม่าและเวียดนาม ส่วนลาวและเขมร ไทยก็ขยายอำนาจเข้าครอบงำจนอยู่ภายใต้อิทธิพลของไทย

ในสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น (พ.ศ.2325-2394) ประเทศไทยดำเนินนโยบายสร้างความสัมพันธ์กับประเทศตะวันตก เพราะสถานการณ์ขณะนั้นยังไม่รุนแรงถึงขั้นที่จะเป็นอันตรายต่อประเทศไทย เพราะมหาอำนาจตะวันตกยังมีปัญหากับประเทศเพื่อนบ้านของไทยอยู่ ขณะเดียวกันประเทศเพื่อนบ้านไทยก็ดำเนินนโยบายแข็งกร้าว ไม่ยอมอ่อนข้อให้ โดยเฉพาะกับพม่าและเวียดนาม ส่วนลาวและเขมร ไทยก็ขยายอำนาจเข้าครอบงำจนอยู่ภายใต้อิทธิพลของไทย

ในสมัยปรับปรุงประเทศ (พ.ศ.2394-2475) รัชกาลที่ 5 ดำเนินนโยบายผ่อนปรนกับประเทศแถบตะวันตก เพื่อมิให้ประเทศไทยต้องสูญเสียเอกราชอธิปไตย ด้วยการยอมสูญเสียดินแดนลาว เขมร และมลายู ให้กับฝรั่งเศสและอังกฤษตามลำดับ ต่อมาในสมัยรัชกาลที่ 6 พระองค์ทรงประกาศสงครามกับเยอรมนีและออสเตรีย-ฮังการี โดยเป็นพันธมิตรกับอังกฤษ ฝรั่งเศส รัสเซีย และสหรัฐอเมริกา ทำให้ประเทศไทยได้มีโอกาสแก้ไขสนธิสัญญาเสียเปรียบที่ทำไว้กับประเทศแถบ ตะวันตกเมื่อครั้งสมัยรัชกาลที่ 4

หลังเปลี่ยนแปลงการปกครอง ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ประเทศไทยดำเนินนโยบายเข้ากับญี่ปุ่น โดยประกาศสงครามกับอังกฤษ ฝรั่งเศส สหรัฐอเมริกา แต่ภายหลังประเทศญี่ปุ่นเป็นฝ่ายพ่ายแพ้ในสงคราม ทำให้ประเทศไทยเกือบถูกฝ่ายสัมพันธมิตรยึดครอง แต่เป็นเพราะขบวนการเสรีไทยซึ่งดำเนินการต่อต้านญี่ปุ่นร่วมกับฝ่ายสัมพันธมิตรตะวันตก ประเทศไทยจึงรอดพ้นจากการตกเป็นฝ่ายพ่ายแพ้ไปได้

ภายหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ประเทศไทยมีความสัมพันธ์กับประเทศแถบตะวันตก โดยเฉพาะประเทศสหรัฐอเมริกาอย่างใกล้ชิด ประเทศไทยจึงดำเนินนโยบายต่อต้านคอมมิวนิสต์ตามสหรัฐอเมริกาอย่างแข็งกร้าว จนประเทศไทยตกเป็นเป้าหมายของการคุกคามและบ่อนทำลายของคอมมิวนิสต์

เมื่อประเทศไทยเปลี่ยนแปลงนโยบายหันไปเป็นมิตร กับประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีน และสถาปนาความสัมพันธ์กับกลุ่มประเทศอินโดจีน แสดงบทบาทสำคัญในการสร้างสันติภาพในกัมพูชาร่วมกับกลุ่มประเทศอาเซียนแล้ว ประเทศไทยก็ได้รับการยอมรับบทบาทในวงการระหว่างประเทศเป็นอย่างดี

กล่าวโดยสรุป สมัยรัตนโกสินทร์ประเทศไทยได้ดำเนินนโยบายต่างประเทศ โดยคำนึงถึงผลประโยชน์และความอยู่รอดของประเทศชาติเป็นสำคัญ โดยเฉพาะอย่างยิ่งพระมหากษัตริย์ในพระราชวงศ์จักรีทุกพระองค์ โดยเฉพาะพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวและพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้า เจ้าอยู่หัว ได้ดำเนินพระบรมราโชบายในการรักษาความสัมพันธ์ด้านต่างประเทศ โดยเฉพาะกับฝรั่งเศสและอังกฤษอย่างสุขุมคัมภีรภาพ จึงส่งผลให้ประเทศไทยสามารถดำรงเอกราชมาได้ตราบเท่าทุกวันนี้

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น