รายวิชา ประวัติศาสตร์ รหัสวิชา ส22102 คุณครูผู้สอน คุณครูชาญวิทย์ ปรีชาพาณิชพัฒนา โรงเรียนเสลภูมิพิทยาคม อำเภอเสลภูมิ จังหวัดร้อยเอ็ด

ข่าว

วันเสาร์ที่ 22 สิงหาคม พ.ศ. 2558

การแบ่งช่วงเวลาทางประวัติศาสตร์  มีจุดมุ่งหมายเพื่อให้การศึกษาค้นคว้าเรื่องราวเกิดความสะดวกมากขึ้น  นักประวัติศาสตร์อาศัยหลักฐานที่เป็นลายลักษณ์อักษร เพื่อใช้แบ่งยุคสมัยทางประวัติศาสตร์ตามแบบสากล ออกได้เป็น 2 สมัย ได้แก่ “สมัยก่อนประวัติศาสตร์ (Prehistorical Period)” ซึ่งหมายถึงช่วงเวลาที่มนุษย์ยังไม่รู้จักการบอกเล่าเรื่องราวผ่านตัวหนังสือ และ “สมัยประวัติศาสตร์ (Historical Period)” ซึ่งหมายถึงช่วงเวลาที่มนุษย์สามารถบอกเล่าเรื่องราวต่างๆในสังคมผ่านทางตัวหนังสือได้แล้ว
แต่ในปัจจุบัน องค์การศึกษาวิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (UNESCO) ได้กำหนดยุคสมัยเพิ่มขึ้นมาใหม่อีกหนึ่งสมัย ซึ่งก็คือ “สมัยกึ่งก่อนประวัติศาสตร์ (Protohistorical Period)” หรือหมายถึง ยุคสมัยที่มนุษย์ยังไม่รู้จักการใช้ตัวอักษรเพื่อบันทึกเรื่องราว แต่มีผู้คนจากสังคมอื่นเข้ามาพบเห็น และได้บันทึกเรื่องราวเอาไว้ให้
1) สมัยก่อนประวัติศาสตร์
สมัยนี้จะยังไม่มีหลักฐานทางประวัติศาสตร์ในรูปแบบที่เป็นลายลักษณ์อักษร  แต่จะต้องอาศัยการวิเคราะห์และตีความจากหลักฐานทางโบราณคดี  ไม่ว่าจะเป็น  เครื่องมือ  เครื่องใช้  เครื่องประดับ และโครงกระดูกมนุษย์ โดยสามารถแบ่งยุคสมัยก่อนประวัติศาสตร์ได้ ดังนี้
1.1) ยุคหิน   เริ่มขึ้นตั้งแต่ 500,000 ถึง 4,000 ปี ที่ผ่านมา  แบ่งออกได้เป็น 3 ยุคย่อย ได้แก่
1.1.1) ยุคหินเก่า เป็นช่วงเริ่มต้นของมนุษยชาติ  ในยุคนี้มนุษย์เริ่มรู้จักการใช้เครื่องมือเครื่องใช้ที่ทำด้วยหินอย่างง่ายก่อน โดยเครื่องมือจะมีลักษณะหยาบ และถูกใช้สำหรับขุดสับและสับตัดเป็นส่วนใหญ่  ส่วนการหาอาหาร มนุษย์ยุคนี้จะใช้วิธีการล่าสัตว์และหาของป่ากินเป็นอาหาร ยุคสมัยนี้สามารถแบ่งออกได้อีกเป็น 3 ช่วง คือ ยุคหินเก่าตอนต้น ยุคหินเก่าตอนกลาง และยุคหินเก่าตอนปลาย ในช่วงปลายยุคหินเก่า สามารถพบความสามารถด้านศิลปะของมนุษย์ได้ตามภาพวาดตามผนังถ้ำ ซึ่งภาพวาดที่มีชื่อเสียงอย่างมากของมนุษย์ในยุคนี้ อยู่ที่ถ้ำลาสโก ประเทศฝรั่งเศส
1.1.2) ยุคหินกลาง ช่วงเวลานี้ มนุษย์เริ่มรู้จักการทำเครื่องมือเครื่องใช้หรือเครื่องจักรสานด้วยความประณีตมากขึ้น และเริ่มอยู่รวมกลุ่มเป็นสังคมมากขึ้น ตลอดจนเริ่มรู้จักการเลี้ยงสัตว์เลี้ยง และเริ่มมีการเพาะปลูกเพื่อเป็นแหล่งอาหาร  แต่อาชีพหลักก็ยังคงเป็นการล่าสัตว์เช่นเดิม
1.1.3) หินใหม่  เป็นช่วงเวลาที่มนุษย์รู้จักการประดิษฐ์เครื่องมือด้วยหินขัดมัน  หรือที่เรียกว่า ‘ขวานหินขัด’ เพื่อใช้สำหรับตัดเฉือน ขุดหรือถาก อีกทั้ง มนุษย์ในยุคหินใหม่นี้ ยังรู้จักการตั้งถิ่นฐานเป็นหลักเป็นแหล่ง และมีการสร้างที่พักอาศัยถาวรในลักษณะที่เป็นกระท่อมดินเหนียว โดยมีการเปลี่ยนแปลงที่อยู่จากที่สูงมาเป็นที่ราบใกล้แหล่งน้ำ และอยู่อาศัยรวมกันเป็นกลุ่มหมู่บ้าน มีการเพาะปลูกและเลี้ยงสัตว์มากขึ้น  โดยพืชที่สำคัญในยุคนี้ ก็คือ ข้าว พร้อมทั้งมีการผลิตภาชนะดินเผาไว้สำหรับใช้งานด้วย
1.2) ยุคโลหะ ช่วงเวลานี้ มนุษย์มีการพัฒนาเครื่องมือเครื่องใช้มากขึ้น  โดยเริ่มรู้จักการนำเอาแร่ธาตุมาถลุง หลอม และหล่อเป็นอาวุธ เครื่องมือ และเครื่องประดับต่าง ๆ สามารถแบ่งยุคโลหะออกได้ ดังนี้
1.2.1) ยุคสำริด  เป็นช่วงเวลาที่มนุษย์ทำเครื่องมือเครื่องใช้และเครื่องประดับจากโลหะสำริด (ทองแดงผสมดีบุก) ส่วนการดำเนินชีวิตก็มีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นกว่ายุคหินมาก โดยจะอาศัยอยู่ร่วมกันเป็นชุมชนที่ขนาดใหญ่มากขึ้น
1.2.2) ยุคเหล็ก เป็นช่วงเวลาที่มนุษย์ทำเครื่องมือเครื่องใช้และเครื่องประดับจากเหล็ก เนื่องจากมีคุณภาพที่แข็งแกร่งมากกว่า  ในยุคนี้ผู้คนเริ่มมีการติดต่อค้าขายระหว่างชุมชนมากขึ้น
การแบ่งยุคสมัยประวัติศาสตร์
2) สมัยประวัติศาสตร์  
เป็นยุคสมัยที่มีการบันทึกเหตุการณ์ต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นเป็นลายลักษณ์อักษรแล้ว เนื่องจาก มนุษย์เริ่มรู้จักการประดิษฐ์ตัวอักษรขึ้นมาใช้  โดยลายลักษณ์อักษรมักพบเห็นได้ตามผนังถ้ำ  แผ่นดินเหนียว  แผ่นหิน ใบลาน และแผ่นโลหะ
ชุมชนของมนุษย์ในยุคสมัยประวัติศาสตร์  เริ่มมีการสร้างสรรค์อารยธรรมความเจริญที่แตกต่างกันออกไปตามแต่ละภูมิภาค  สมัยประวัติศาสตร์ทางสากล สามารถแบ่งออกได้เป็น 3 ยุคย่อยๆ ได้แก่
2.1) ประวัติศาสตร์สมัยโบราณ  ไล่เรียงมาตั้งแต่ ความเจริญของแหล่งอารยธรรมเมโสโปเตเมีย อารยธรรมอียิปต์โบราณ  อารยธรรมกรีก  โรมัน และจบลงที่กรุงโรมถูกตีแตกในปี พ.ศ.1019
2.2) ประวัติศาสตร์สมัยกลาง   เป็นยุคที่ต่อจากประวัติศาสตร์สมัยโบราณ เรื่อยมาจนถึงช่วงที่ชนชาติเติร์กเข้ามาโจมตีกรุงคอนสแตนติโนเปิลของจักรวรรดิโรมันตะวันออกในปี พ.ศ.1996
2.3) ประวัติศาสตร์สมัยใหม่  เป็นยุคที่ต่อจากประวัติศาสตร์สมัยกลาง  เรื่อยมาจนถึงสมัยของการสิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่ 2 ในปี พ.ศ.2488 ประวัติศาสตร์สมัยใหม่นี้มีเหตุการณ์สำคัญเกิดขึ้นหลายประการ เช่น การเกิดแนวความคิดแบบเสรีนิยม  การปฏิรูปศาสนา  การเกิดประชาธิปไตยและคอมมิวนิสต์  การขยายตัวทางการค้า  การแสวงหาดินแดนใหม่ หรือการปฏิวัติอุตสาหกรรม เป็นต้น
การแบ่งยุคสมัยตามประวัติศาสตร์ไทย
นักประวัติศาสตร์ ได้แบ่งช่วงเวลาทางประวัติศาสตร์ไทย  ออกเป็นลักษณะเฉพาะได้ดังต่อไปนี้
1) การแบ่งตามสมัยหรือตามเวลาที่เริ่มมีตัวอักษร สามารถแบ่งย่อยได้ 2 สมัย ได้แก่
1.1) สมัยก่อนประวัติศาสตร์  คือ ยุคสมัยที่ยังไม่มีการบันทึกเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเป็นลายลักษณ์อักษร  แบ่งออกเป็นยุคย่อยๆได้เช่นเดียวกันกับการแบ่งตามแบบสากล ได้แก่ ยุคหินเก่า  ยุคหินกลาง  ยุคหินใหม่ ยุคสำริด  และยุคเหล็ก
1.2) สมัยประวัติศาสตร์  คือ ยุคสมัยที่มนุษย์เริ่มรู้จักการใช้ตัวอักษรบอกเล่าเรื่องราวหรือเหตุการณ์ต่าง ๆที่เกิดขึ้นได้แล้ว ซึ่งหลักฐานทางประวัติศาสตร์ไทยที่สำคัญ ก็คือ หลักศิลาจารึก นั่นเอง
2) การแบ่งยุคสมัยตามอาณาจักร  ประเทศไทยแบ่งยุคสมัยตามอาณาจักรออกได้ดังต่อไปนี้  ได้แก่ อาณาจักรทวารวดี อาณาจักรละโว้ อาณาจักรตามพรลิงค์ อาณาจักรศรีวิชัย และอาณาจักรหริภุญชัย
3) การแบ่งยุคสมัยตามราชธานี   เนื่องจากประเทศไทยมีการเปลี่ยนแปลงการปกครองตามยุคสมัยได้หลายราชธานี การแบ่งยุคสมัยทางประวัติศาสตร์ตามราชธานี  จึงเป็นอีกหนึ่งวิธีที่คนไทยนิยมใช้   โดยสามารถเรียงลำดับยุคสมัยตามราชธานีได้ดังนี้ ได้แก่  สมัยสุโขทัย  สมัยอยุธยา  สมัยธนบุรี และสมัยรัตนโกสินทร์
4) การแบ่งยุคสมัยตามพระราชวงศ์  เนื่องด้วยความหลากหลายของราชวงศ์ การแบ่งยุคตามราชวงศ์จึงเป็นอีกหนึ่งแนวทางที่คนไทยใช้ในการแบ่งยุคสมัยทางประวัติศาสตร์  เช่น  สมัยราชวงศ์พระร่วง สมัยราชวงศ์อู่ทอง  สมัยราชวงศ์สุพรรณภูมิ  สมัยราชวงศ์สุโขทัย  สมัยราชวงศ์ปราสาททอง  สมัยราชวงศ์บ้านพลูหลวง หรือสมัยราชวงศ์จักรี เป็นต้น
5) การแบ่งยุคสมัยตามรัชกาล  เป็นการแบ่งยุคสมัยตามเวลาที่พระมหากษัตริย์ขึ้นครองราชย์ เช่น   รัชสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช  รัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก เป็นต้น
6) การแบ่งยุคสมัยตามระบอบการปกครอง  มีเพียง 2 ยุคสมัย ได้แก่ สมัยสมบูรณาญาสิทธิราชย์และสมัยประชาธิปไตย โดยมีจุดเปลี่ยนการปกครองในสองรูปแบบตรงกับวันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2475

หลักฐานทางประวัติศาสตร์ในแต่ละยุคสมัยสามารถแบ่งออกได้เป็น 2 ประเภท ได้แก่

หลักฐานทางประวัติศาสตร์ในแต่ละยุคสมัยสามารถแบ่งออกได้เป็น 2 ประเภท ได้แก่
  1. หลักฐานที่เป็นลายลักษณ์อักษร คือ หลักฐานที่แสดงออกมาในรูปของตัวหนังสือที่มนุษย์ขีดเขียนทิ้งไว้ โดยอาจจะอยู่ในรูปของพงศาวดาร จดหมายเหตุ ตำนาน หรือกฎหมาย
  2. หลักฐานที่เป็นวัตถุ คือ วัตถุที่มนุษย์สร้างขึ้นในแต่ละยุคแต่ละสมัย และสืบทอดกันมาจนถึงปัจจุบัน ประกอบไปด้วย โบราณสถาน และโบราณวัตถุ
       
ลักษณะสำคัญของหลักฐานทางประวัติศาสตร์ในประเทศไทย
หลักฐานทางประวัติศาสตร์ในประเทศไทย สามารถแบ่งลักษณะออกได้เป็น 2 ประเภทใหญ่ ได้แก่
  1. หลักฐานที่ไม่ใช่ลายลักษณ์อักษร ได้แก่
1.1 โบราณสถาน คือ สิ่งก่อสร้างที่ติดอยู่กับพื้นดิน และไม่สามารถเคลื่อนที่ได้ การศึกษาหลักฐานประเภทนี้ จึงจำเป็นจะต้องเดินทางไปยังสถานที่นั้นๆโดยตรง ตัวอย่างของโบราณสถาน เช่น กำแพงเมือง คูเมือง วัด โบสถ์ วิหาร เจดีย์ หรือ ที่อยู่อาศัย เป็นต้น
1.2 โบราณวัตถุ คือ สิ่งของโบราณที่สามารถเคลื่อนย้ายได้ โบราณวัตถุอาจเกิดขึ้นตามธรรมชาติหรือเป็นสิ่งที่มนุษย์สร้างขึ้นเองก็ได้ ตัวอย่างของโบราณวัตถุ เช่น พระพุทธรูป  รูปเคารพต่างๆ เครื่องประดับ หรือเครื่องมือเครื่องใช้ต่างๆ  เป็นต้น
Hamburg_in_Ruins
  1. หลักฐานที่เป็นลายลักษณ์อักษร ได้แก่
2.1 จารึก หมายถึง หลักฐานที่เป็นลายลักษณ์อักษร ที่ใช้วิธีเขียนเป็นรอยลึกลงบนแผ่นหิน แผ่นดีบุก แผ่นอิฐ และใบลาน ตัวอย่างจารึกที่สำคัญ เช่น ศิลาจารึกหลักที่ 1 (จารึกพ่อขุนรามคำแหง) , ศิลาจารึกหลักที่ 2 (จารึกวัดศรีชุม) , ศิลาจารึกหลักที่ 3 (จารึกนครชุม) , ศิลาจารึกหลักที่ 4 (จารึกวัดป่ามะม่วง) เป็นต้น นอกจากนี้ ยังอาจจารึกไว้บนปูชนียสถานหรือปูชนียวัตถุต่างๆก็ได้ เช่น จารึกบนฐานพระพุทธรูปสมัยสุโขทัย เป็นต้น
จารึกที่พบในประเทศไทย มักจะเป็นเรื่องราวที่เกี่ยวข้องกับพระมหากษัตริย์และศาสนา ซึ่งมีทั้งที่เป็นตัวอักษรภาษาไทย ขอม มอญ ภาษาบาลี และสันสกฤต
2.2 เอกสารพื้นเมือง นับเป็นหลักฐานทางประวัติศาสตร์ในลักษณะที่เป็นลายลักษณ์อักษรที่สำคัญของประเทศไทย แบ่งเป็นรายละเอียดต่างๆ ได้ดังต่อไปนี้
1) ตำนาน เป็นเรื่องเล่าที่กล่าวถึงเหตุการณ์ในอดีตที่เล่าสืบต่อกันมานานพอสมควร แต่ไม่สามารถหาจุดกำเนิดหรือรับรู้ได้ว่าใครเป็นคนแรกที่เล่าเรื่อง จนภายหลังมีผู้บันทึกไว้เป็นลายลักษณ์อักษร และคัดลอกตำนานเหล่านั้นเป็นทอดๆไปเรื่อยๆ ทำให้มีโอกาสที่เรื่องราวจะคลาดเคลื่อนไปได้เรื่อยๆ ตำนานส่วนมากจะกล่าวถึงบ้านเมืองหรือชุมชนในสมัยเก่า หรือกล่าวถึงบุคคลสำคัญที่มีชื่อเสียงในอดีต ตัวอย่างตำนานเช่น ตำนานสิงหนวัติ, จามเทวีวงศ์, ตำนานสุวรรณโคมคำ, ตำนานมูลศาสนา เป็นต้น
2) พงศาวดาร เดิมทีใช้สำหรับเรียกเรื่องราวที่เกี่ยวข้องกับพระเจ้าแผ่นดิน แต่ต่อมา พงศาวดารถูกใช้ให้มีความหมายที่กว้างออกไปกว่าเดิม ซึ่งหมายถึง การบันทึกเรื่องราวที่เกี่ยวข้องกับอาณาจัก รและกษัตริย์ที่ปกครองอาณาจักรในอดีต  พงศาวดารเริ่มต้นมาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยาจนถึงสมัยรัชกาลที่ 4 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ทำให้สามารถแบ่งพงศาวดารย่อยออกได้เป็น 2 ลักษณะ ได้แก่ พระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยา และ พระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์ ตัวอย่างพงศาวดารเช่น พระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์, พงศาวดารกรุงเก่าฉบับหลวงประเสริฐ, พงศาวดารเหนือ, พงศาวดารโยนก เป็นต้น
3) จดหมายเหตุ เดิมทีมีความหมายถึงการเป็นบันทึกเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในวัน เดือน ปีหนึ่งๆ แต่ในปัจจุบัน ความหมายของจดหมายเหตุ หมายถึง เอกสารทางราชการทั้งหมดที่เมื่อครบปีจะต้องนำชิ้นที่ไม่ใช้ไปเก็บรวบรวมไว้ที่กองจดหมายเหตุแห่งชาติ ซึ่งเอกสารที่มีอายุตั้งแต่ 25-50 ปีขึ้นไป จึงจะถูกเรียกว่า “จดหมายเหตุหรือบรรณสาร” ในสมัยโบราณ จดหมายเหตุของไทยจะถูกบันทึกโดยผู้ที่รู้หนังสือและรู้ฤกษ์ยามดี โดยจะต้องมีการบันทึกวัน เดือน ปี และฤกษ์ยามในทุกครั้งที่มีการจดเหตุการณ์สำคัญลงไปในจดหมายเหตุ ตัวอย่างจดหมายเหตุเช่น จดหมายเหตุของหลวง, จดหมายเหตุของลาลูแบร์, บันทึกของบาดหลวงเดอ ชัว สี, จดหมายเหตุวันวิลิต, เอกสารฮอลันดา เป็นต้น

วิธีการทางประวัติศาสตร์มีอยู่ 5 ขั้นตอน คือ

  1. การกำหนดหัวเรื่องที่ต้องการจะศึกษา
การศึกษาเรื่องราวในประวัติศาสตร์ ควรเริ่มต้นจากการกำหนดเป้าหมาย เพื่อให้ทราบจุดประสงค์การศึกษาให้แน่ชัด ซึ่งเราจำเป็นจะต้องตั้งคำถามในสิ่งที่ต้องการศึกษา และใช้การอ่านและสังเกตในการตอบคำถาม นอกจากนี้ ก็ควรต้องมีความรู้พื้นฐานทางประวัติศาสตร์ให้มากเพียงพอ เพื่อที่จะสามารถตอบได้ว่าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นนั้นเกิดขึ้นได้อย่างไร
  1. การรวบรวมหลักฐานที่เกี่ยวข้อง
การรวบรวมหลักฐานที่ต้องการศึกษา มีทั้งที่เป็นหลักฐานลายลักษณ์อักษร และหลักฐานที่ไม่เป็นลายลักษณ์อักษร ซึ่งอาจอแบ่งหลักฐานทางประวัติศาสตร์ออกได้เป็น ‘หลักฐานชั้นต้นหรือหลักฐานปฐมภูมิ’ กับ ‘หลักฐานชั้นรองหรือหลักฐานทุติยภูมิ’ ดังต่อไปนี้
1) หลักฐานชั้นต้น (Primary Sources) เป็นหลักฐานที่เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์นั้นๆโดยตรง เช่น หลักฐานทางราชการ ประกาศ สุนทรพจน์ บันทึกความทรงจำของผู้ที่อยู่ในเหตุการณ์ ผู้เห็นเหตุการณ์ วีดิทัศน์ ภาพยนตร์ หรือภาพถ่าย เป็นต้น
2) หลักฐานชั้นรอง (Secondary Sources) เป็นหลักฐานที่ทำขึ้นจากหลักฐานชั้นต้น บุคคลที่สร้างขึ้นไม่ได้เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์นั้นโดยตรง แต่ได้รับรู้โดยผ่านบุคคลหรือผลงานอื่น
ด้วยเหตุนี้ หลักฐานชั้นต้นจึงมีความสำคัญมากกว่าหลักฐานชั้นรอง อย่างไรก็ตาม หลักฐานชั้นรองจะเป็นตัวช่วยในการอธิบายเรื่องราวให้เข้าใจมากยิ่งขึ้น และเป็นตัวช่วยที่จะนำไปสู่หลักฐานข้อมูลอื่นๆ การค้นคว้าเรื่องราวในประวัติศาสตร์ควรมองให้รอบด้านและระมัดระวัง เนื่องจากหลักฐานทุกประเภทมีจุดเด่นและจุดด้อยที่แตกต่างกัน
  1. การประเมินคุณค่าของหลักฐานที่ได้มา
ก่อนจะนำหลักฐานทางประวัติศาสตร์ที่ค้นคว้ามาได้มาศึกษา จะต้องมีการประเมินคุณค่าของหลักฐานนั้นเสียก่อน ว่าเป็นหลักฐานที่แท้จริงหรือไม่เพียงใด โดยการประเมินคุณค่าของหลักฐานนี้ อาจเรียกอีกชื่อหนึ่งว่า “การวิพากษ์วิธีทางประวัติศาสตร์” ซึ่งสามารถแบ่งออกได้เป็น 2 วิธี ได้แก่
1) การประเมินคุณค่าภายนอกหรือวิพากษ์วิธีภายนอก คือ การประเมินคุณค่าของหลักฐานจากลักษณะภายนอก และเนื่องจากบางครั้งหลักฐานอาจมีการปลอมแปลงให้ผิดไปจากความเป็นจริง หรือเพื่อผลประโยชน์ทางการเมืองหรือการค้า ดังนั้น การประเมินข้อเท็จจริงของเอกสารจึงเป็นสิ่งสำคัญ  โดยการประเมินวิธีภายนอก จะพิจารณาจากสิ่งที่ปรากฏภายนอกเป็นหลัก เช่น การพิจารณาเนื้อกระดาษ ที่สามารถบ่งบอกได้ว่ามีที่มาจากชาติไหน เป็นต้น
2) การประเมินคุณค่าภายในหรือวิพากษ์วิธีภายใน คือ การประเมินคุณค่าของหลักฐานโดยอาศัยข้อมูลภายในหลักฐานนั้นๆ ไม่ว่าจะเป็น ‘ชื่อบุคคล’ ‘สถานที่’ หรือ ‘เหตุการณ์’ ยกตัวอย่างเช่น หากในหลักฐานเชื่อกันว่าเป็นหลักฐานสมัยสุโขทัย แต่เนื้อหาภายในมีการกล่าวถึงสหรัฐอเมริกา ก็ควรตั้งข้อสงสัยว่าหลักฐานนั้นอาจไม่ใช่หลักฐานสมัยสุโขทัยจริง เนื่องจากประเทศสหรัฐอเมริกายังไม่เข้ามาในสมัยสุโขทัย
การเก็บหลักฐานทางประวัติศาสตร์
  1. การวิเคราะห์ สังเคราะห์ และจัดหมวดหมู่ข้อมูล
หลังจากแน่ใจแล้วว่าหลักฐานนั้นเป็นของแท้ และให้ข้อมูลที่เป็นจริงตามประวัติศาสตร์ ผู้ศึกษาก็ต้องพิจารณาเพิ่มเติมว่า ข้อมูลทางประวัติศาสตร์นั้นสมบูรณ์มากน้อยเพียงใด หรือข้อมูลนั้นๆมีจุดมุ่งหมายเบื้องต้นอย่างไรบ้าง หลังจากนั้น จึงนำเอาข้อมูลทั้งหลายมาแบ่งหมวดหมู่ตามความเหมาะสม เพื่อให้ง่ายต่อการดำเนินงานขั้นต่อไป
ขั้นตอนต่อไป คือ การพยายามหาความสัมพันธ์ของประเด็นต่างๆ และตีความข้อมูลนั้นๆว่า มีข้อเท็จจริงอื่นใดที่ยังคงถูกซ่อนและไม่กล่าวถึงอีกบ้าง รวมไปถึงการพิจารณาด้วยว่า ข้อมูลที่ได้มานั้นกล่าวเกินจริงไปหรือไม่ ซึ่งผู้ศึกษาประวัติศาสตร์จำเป็นต้องมีความละเอียดรอบคอบ เป็นกลาง รอบรู้ หรือมีจินตนาการ เพื่อที่จะนำข้อมูลทั้งหมดมาวิเคราะห์เปรียบเทียบ หรือจัดหมวดหมู่ได้อย่างเป็นระบบ
  1. การเรียบเรียงหรือการนำเสนอข้อมูล
หลังจากดำเนินขั้นตอนมาตามที่กล่าวไว้ข้างต้นแล้ว ก็จะมาจบลงที่การเรียบเรียงหรือการนำเสนอ ซึ่งเป็นขั้นตอนสุดท้ายของวิธีการทางประวัติศาสตร์ ขั้นตอนนี้มีความสำคัญเป็นอย่างมาก เนื่องจากเป็นขั้นตอนที่จะขมวดเอาข้อมูลทั้งหมดเข้าด้วยกัน และนำเสนอให้ตรงกับประเด็นหัวเรื่องที่สงสัย รวมไปถึงการสืบหาความคิดใหม่ที่ได้จากการศึกษาครั้งนี้ เพื่อจำลองเหตุการณ์ทางประวัติศาสตร์ที่เคยเกิดขึ้นในอดีต ให้กลับมาใหม่อีกครั้ง
สำหรับขั้นตอนการนำเสนอ ผู้ศึกษาจะต้องอธิบายเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นอย่างเป็นขั้นเป็นตอน มีเหตุมีผล และมีข้อมูลสนับสนุนที่น่าเชื่อถือ รวมถึงการปิดท้ายด้วยข้อเสนอแนะ เพื่อนำทางให้ผู้ที่สนใจคนอื่นๆได้ศึกษาต่อไป
ผู้ศึกษาประวัติศาสตร์ที่ดีจำเป็นต้องจำลองอดีตด้วยความถูกต้องและสมบูรณ์ที่สุด โดยการใช้ ‘วิธีการทางประวัติศาสตร์’ ตามที่กล่าวมาข้างต้น ทั้งนี้ก็เพื่อทำให้เกิดความเข้าใจในอดีต และนำมาสู่ความเข้าใจในปัจจุบันนั่นเอง

ญี่ปุ่น

ญี่ปุ่น ก็เป็นอีกหนึ่งประเทศในทวีปเอเชียที่มีประวัติศาสตร์ความเป็นมาที่ยาวนานไม่แพ้ชาติไหน แต่หลักฐานที่บอกเล่าเรื่องราวยังไม่ปรากฏชัดเจนอย่างแน่นอน ซึ่งจากการคาดเดากล่าวไว้ว่า กลุ่มคนที่เข้ามาอาศัยอยู่ในญี่ปุ่นกลุ่มแรกน่าจะเป็นชาวไซบีเรีย ชาวเกาหลี หรือชาวจีนที่อพยพมาจากที่อื่น ส่วนหลักฐานทางอารยธรรมของญี่ปุ่นในยุคหินใหม่ ถูกพบเมื่อราวหนึ่งหมื่นปีก่อนคริสตกาล ซึ่งปัจจุบันคนพื้นเมืองที่ยังคงเหลืออยู่มีเพียง ‘ชนเผ่าไอนุ (Ainu)’ เท่านั้น
สามารถแบ่งยุคสมัยในญี่ปุ่นออกได้ 3 ยุค ได้แก่

1. ยุคแรก ยุคก่อนประวัติศาสตร์ หรือ ยุคโบราณ

ในยุคนี้ผู้คนจะอยู่อาศัยโดยการขุดโพรง และล่าสัตว์เพื่อใช้เป็นอาหาร แต่ต่อมาภายหลังก็เริ่มรู้จักการปลูกข้าวเป็นอาหารมากขึ้น
ยุคหิน
จากการสำรวจ พบว่า ผู้คนอาศัยอยู่บนหมู่เกาะญี่ปุ่นมากว่า 100,000 ปีมาแล้ว ซึ่งตอนนั้นญี่ปุ่นยังคงมีแผ่นดินเป็นส่วนเดียวกับทวีปเอเชีย คนโบราณในสมัยนั้น จะหาเลี้ยงชีพด้วยการล่าสัตว์และเก็บของป่าเป็นหลัก ยุคหิน ดำรงเรื่อยมาจนมาสิ้นสุดลงในช่วงประมาณ 12,000 – 11,000 ปีก่อน ซึ่งมีผลทำให้วิถีชีวิตของมนุษย์ทั่วโลกเปลี่ยนไปเป็นอย่างมาก
ยุคโจมง
ยุคโจมง (โจมงจิได) เกิดในช่วงประมาณ 10,000 ปีที่แล้วมา ยุคโจมง พบการผลิตเครื่องมือเครื่องใช้ที่ทำจากหินที่ประณีตมากขึ้น รวมถึงการใช้อาวุธที่เป็นธนูในการล่าสัตว์ด้วย นอกจากนี้ ยังมีการผลิตเครื่องปั้นดินเผาเอาไว้ใช้สำหรับใส่อาหาร โดยเครื่องปั้นดินเผาโจมงจะมีเอกลักษณ์ตรงที่มีลวดลายเป็นเชือกที่สวยงาม
ยุคยะโยอิ 
คำว่ายะโยอินั้น เป็นชื่อของแขวงหนึ่งในเขตบุงเกียว กรุงโตเกียว ซึ่งเป็นสถานที่แรกที่มีการค้นพบหลักฐานที่เกี่ยวข้องกับยุคนี้  มนุษย์ในช่วงต้นของยุคยะโยอิ เริ่มเรียนรู้การใช้ชีวิตต่างๆมากขึ้น เช่น การปลูกข้าว การทำเครื่องใช้โลหะ และการเคารพบูชาภูติผีปีศาจ เป็นต้น และชาวญี่ปุ่นก็มักจะใช้เครื่องมือเครื่องใช้ที่ผลิตจากเหล็กในการทำเกษตรกรรมเสมอ ส่วนดาบที่ทำด้วยทองแดงและกระจก จะถูกใช้ในการประกอบพิธีกรรมทางศาสนาต่างๆ นอกจากนี้ ยุคยะโยอิยังเริ่มมีการจัดแบ่งงานในการปกครองที่ครอบคลุมมากขึ้น ทำให้ช่องว่างระหว่างผู้ปกครองและผู้อยู่ใต้การปกครองขยายตัวกว้างมากขึ้น และเป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดเป็นรัฐเล็กๆขึ้นทั่วประเทศนั่นเอง

2. ยุคที่สอง หรือ ยุคกลาง

ในยุคที่สองนี้ การปกครองแบบโชกุนเข้ามามีบทบาทมากยิ่งขึ้น และลดทอนอำนาจของจักรพรรดิลง อีกทั้งยังเป็นยุคสมัยแห่งการเริ่มต้นของระบบศักดินา ที่มีประวัติความเป็นมาอันแสนยาวนานด้วย
ยุคโคะฟุง
ยุคโคะฟุง (โคะฮุงจิได) เป็นชื่อยุคที่ตั้งตามชื่อสุสานที่นิยมสร้างกันอย่างแพร่หลายในยุคนี้ บ้านเมืองในยุคโคะฟุงจะมีลักษณะเป็นรัฐเล็กๆ และรวมตัวกันจนเป็นปึกแผ่น ในยุคนี้พบว่ามีชาวจีนกลุ่มหนึ่งได้ย้ายถิ่นฐานเข้ามาอาศัยอยู่ในญี่ปุ่นด้วย ทำให้การถ่ายทอดอารยธรรมแบบจีนเริ่มเกิดขึ้นนับตั้งแต่บัดนั้นเป็นต้นมา
ตั้งแต่ศตวรรษที่ 4 ถึง 6 ได้มีกลุ่มผู้คนที่มีความเข้มแข็งทางการเมืองมากขึ้น โดยพวกเขามีศูนย์กลางอยู่ที่บริเวณที่ราบยะมะโตะ  พวกเขาได้ทำการพัฒนาและเปลี่ยนแปลงการเกษตรกรรมครั้งยิ่งใหญ่ พร้อมกับการรับเอาวัฒนธรรมจีน รวมทั้งลัทธิขงจื๊อและศาสนาพุทธ เข้ามาในประเทศญี่ปุ่นด้วย ส่วนเมื่อถึงปลายศตวรรษที่ 4 ก็ได้มีการติดต่อค้าขายกับอาณาจักรบนคาบสมุทรเกาหลีมากขึ้นด้วย
ในยุคโคะฟุงนี้ ญี่ปุ่นได้รับเอาตัวอักษรแบบจีนที่มีรากฐานมาจากอักษรภาพ มาใช้เป็นตัวกลางในการสื่อสาร อีกทั้ง ชาวญี่ปุ่นยังได้เรียนรู้การแพทย์เบื้องต้น การดาราศาสตร์ และการใช้ปฏิทินด้วย
ยุคอะซึกะ
ยุคอะซึกะ เป็นยุคที่ศูนย์กลางการปกครองของระบอบกษัตริย์ยะมะโตะ มีศุนย์กลางอยู่ที่อะซึกะ จังหวัดนะระ และเมื่อศาสนาพุทธได้เข้ามาเผยแพร่ในญี่ปุ่น จึงทำให้ผู้ปกครองญี่ปุ่นถือเอาระบบการปกครองของจีนมาใช้เป็นแนวทางในการปกครองบ้านเมืองตน
เมื่อราวปลายคริสต์ศตวรรษที่ 6 ราชวงศ์สุยของจีน ได้รวมประเทศญี่ปุ่นขึ้นมาใหม่อีกครั้ง โดยญี่ปุ่นได้ให้เจ้าชายโชโตะกุ เป็นผู้สำเร็จราชการแทนจักรพรรดินีซุยโกะ และส่งคณะราชทูต “เคนซุยชิ” ไปเจริญสัมพันธไมตรีกับจีน ซึ่งการกระทำดังกล่าวนี้มีผลให้ญี่ปุ่นรับเอานวัตกรรมจากจีนแผ่นดินใหญ่เข้ามาอย่างมากมาย นอกจากนั้น ยังมีการตรารัฐธรรมนูญสิบเจ็ดมาตรา และการสร้างวัดโฮริว วัดไม้ที่เก่าแก่มากที่สุดในญี่ปุ่นขึ้นในยุคสมัยนี้ด้วย
ยุคนะระ
ในยุคนี้ ได้มีตั้งเมืองหลวงถาวรแห่งแรกของญี่ปุ่นขึ้นที่ เฮโจเกียว ซึ่งเป็นเมืองที่สร้างเลียนแบบมาจากเมืองฉางอาน เมืองหลวงของประเทศจีน เมืองหลวงแห่งใหม่นี้มีราชวงศ์ของญี่ปุ่นเป็นผู้ปกครอง แต่ระบอบการปกครองกลับเป็นไปตามแนวคิดแบบจีน และด้วยความแตกต่างของเชื้อชาติ ทำให้เกิดเป็นปัญหาแบบลูกโซ่ขึ้น ส่วนวัฒนธรรมและสถาปัตยกรรมที่ปรากฏในยุคนี้ ก็ยังคงพบเห็นวัฒนธรรมที่เป็นแบบจีนอยู่ แต่จะมีความแตกต่างทางละเอียดที่ไม่เหมือนกันบ้างเล็กน้อย
ยุคเฮอัง
หลังจากการล่มสลายของยุคนะระ ทำให้ญี่ปุ่นสร้างอารยธรรมใหม่ขึ้นพร้อมๆกับการกำเนิดยุคใหม่ที่มีชื่อว่า ยุคเฮอัง (เฮอังจิได) ในยุคนี้ อารยธรรมญี่ปุ่นเริ่มที่จะมีลักษณะที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัวมากขึ้น กว่าการลอกเลียนวัฒนธรรมของจีนแบบที่แล้วๆมา
คนในเมืองหลวงของยุคเฮอังใช้ชีวิตด้วยความหรูหราเป็นอย่างมาก ในขณะที่ราชสำนักก็ใช้เวลาส่วนใหญ่ไปกับศิลปะและความสุขทางสังคม ทำให้อำนาจการปกครองตามหัวเมืองต่างๆเริ่มสั่นคลอนและเสื่อมลงในที่สุด ในช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 11 อำนาจการปกครองตกไปอยู่ในมือของตระกูลฟุจิวะระ และทำให้เกิดการต่อสู้ของตระกูลนักรบต่างๆเพื่อแย่งชิงอำนาจ  ในที่สุดตระกูลมินะโมะโตะก็ได้รับชัยชนะ  และสามารถโค่นล้มตระกูลไทระได้สำเร็จ
samurai
ยุคคะมะกุระ
ชัยชนะของตระกูลมินะโมะโตะ เชื่อมโยงถึงจุดเริ่มต้นการปกครองรูปแบบใหม่ในระบอบศักดินา ยุคกลางของญี่ปุ่นที่อยู่ภายใต้อำนาจของโชกุน ยุคคะมะกุระ (คะมะกุระจิได) เริ่มต้นขึ้นในปี พ.ศ. 1728 (ค.ศ. 1185)
ในยุคสมัยคะมะกุระนี้ แนวคิดเรื่องความกล้าหาญและการรักในเกียรติยศตามวิถีชีวิตของซามูไร เป็นที่โดดเด่นและเป็นเอกลักษณ์เป็นอย่างมาก แต่เมื่อถึงปี พ.ศ. 1761 (ค.ศ. 1213) อำนาจการปกครองก็ตกไปอยู่ในมือของตระกูลโฮโจแทน ในยุคนี้ กองทัพมองโกลได้บุกเข้าทำสงครามกับตอนเหนือของเกาะคิวชูถึง 2 ครั้ง และถึงแม้ว่านักรบญี่ปุ่นจะมีอาวุธที่ด้อยกว่า แต่ด้วยความกล้าหาญของพวกเขา ก็ทำให้ญี่ปุ่นสามารถป้องกันรักษาพื้นที่เอาไว้ได้
ยุคมุโระมะจิ
ยุคนี้มีการปรับปรุงและพัฒนาในด้านระบบการชลประทาน การเพาะปลูก และยังมีการเติบโตในด้านกิจการค้าขายและบริการด้วย นอกจากนี้ ชาวโปรตุเกส ซึ่งเป็นชาวตะวันตกกลุ่มแรก ก็ได้เริ่มเข้ามาสู่ญี่ปุ่นในยุคนี้ด้วย  อย่างไรก็ตาม การปกครองระบอบโชกุนเกิดการเสื่อมถอยลงในยุคนี้เช่นกัน และทำให้เกิดเป็นสงครามกลางเมืองที่กินเวลายาวนานกว่า 100 ปี ในที่สุด โนะบุนะงะ โอะดะ ก็สามารถกำจัดอิทธิพลของมุโระมะจิลงได้ และได้สร้างอารยธรรมอะซุจิโมโมะยะมะขึ้นมาแทนที่
ยุคอะซุจิโมโมะยะมะ
ยุคนี้เป็นยุคสั้นๆ ที่มีการพัฒนาด้านสิ่งทอ เซรามิก ภาพวาด เครื่องเงิน และอุปกรณ์เกี่ยวกับชา หรืออาจกล่าวได้ว่า ยุคอะซุจิโมโมะยะมะเป็นยุคที่หรูหราที่สุดยุคหนึ่งในญี่ปุ่นเลยก็ว่าได้
ยุคเอะโดะ
ยุคเอะโดะ ถือเป็นจุดเปลี่ยนของเหตุการณ์ประวัติศาสตร์ญี่ปุ่นที่สำคัญเป็นอย่างมาก เนื่องจากโชกุนอิเอะยะสึได้สร้างแบบแผนทางการเมืองและสังคมขึ้นมาใหม่ และแบบแผนนี้ก็ถูกสืบทอดต่อเนื่องยาวนานมาอีก 265 ปีด้วย
การหลั่งไหลเข้ามาของชาวยุโรปในยุคนี้ ทำให้ญี่ปุ่นต้องเปลี่ยนแปลงตัวเองไปเป็นอย่างมาก ชาวญี่ปุ่นบางคนโดยเฉพาะทางตอนใต้ของญี่ปุ่น เปลี่ยนไปนับถือศาสนาคริสต์กันเป็นจำนวนมาก ซึ่งโชกุนก็ทราบดีว่าศาสนาคริสต์จะเข้ามาทำลายญี่ปุ่นในวันข้างหน้าอย่างแน่นอน ทำให้โชกุนต้องมีคำสั่งห้ามเผยแพร่ศาสนาคริสต์ในประเทศ และห้ามชาวต่างชาติทุกคนเข้าสู่ประเทศญี่ปุ่น ยกเว้นกลุ่มพ่อค้ากลุ่มเล็กๆ
ความสงบสุขจากการปิดประเทศ ทำให้ชาวเมืองญี่ปุ่นมีโอกาสที่จะประดิษฐ์สิ่งใหม่ๆขึ้นตลอดเวลา จนเมื่อถึงกลางคริสต์ศตวรรษที่ 18 วิทยาการสมัยใหม่ทั้งการแพทย์ ดาราศาสตร์ ภูมิศาสตร์ คณิตศาสตร์ หรือประวัติศาสตร์ก็ถูกพัฒนามากขึ้น การเรียนพิเศษ หรือที่เรียกว่า เทระโกะยะ ก็เป็นอีกหนึ่งสิ่งที่ได้รับการยอมรับอย่างมากในยุคนี้
ในปี พ.ศ. 2396 สหรัฐอเมริกาสามารถจูงใจญี่ปุ่น ให้ลงนามในสนธิสัญญาเพื่อผูกสัมพันธไมตรีกับประเทศสหรัฐอเมริกาได้สำเร็จ และในปีเดียวกันนั้นเอง ญี่ปุ่นได้ทำสนธิสัญญากับประเทศรัสเซีย อังกฤษ และเนเธอร์แลนด์ ตามมาด้วย ซึ่งการกดดันของต่างชาติ ทำให้ระบบศักดินาของโชกุนโตกุงาวะสิ้นสุดลงในปี พ.ศ. 2410 (ค.ศ. 1867) ในที่สุด
 

3. ยุคที่สาม หรือ ยุคใหม่

ในยุคใหม่นี้ โชกุนและไดเมียว ถือเป็นผู้ที่มีอำนาจสิทธิขาดเสรี และในยุคนี้ประเทศญี่ปุ่นก็มีการติดต่อค้าขายกับชาวต่างประเทศมากยิ่งขึ้น
ปราสาทฮิเมจิ
ยุคเมจิ
ยุคเมจิ เป็นยุคที่โดดเด่นมากที่สุดในประวัติศาสตร์ญี่ปุ่น เนื่องจากในยุคนี้ ชาวญี่ปุ่นสามารถพัฒนาประเทศให้เข้าสู่ยุคของอุตสาหกรรมได้อย่างรวดเร็ว และสามารถพัฒนาสถาบันทางการเมืองได้เป็นอย่างดีด้วยเช่นกัน
ในช่วงปีแรกๆ สมเด็จพระจักรพรรดิเมจิได้ทรงย้ายเมืองหลวงไปอยู่ที่เมืองเอโดะ พร้อมเปลี่ยนชื่อเมืองหลวงเป็น “โตเกียว” นอกจากนี้ ได้ประกาศใช้รัฐธรรมนูญ ตั้งคณะรัฐมนตรี และสภาบันนิติบัญญัติระบบ 2 สภา ขึ้นเพื่อปกครองบ้านเมือง แทนการปกครองแบบแบ่งชนชั้นแบบเก่าด้วย
ในศตวรรษที่ 19 ญี่ปุ่นเข้าร่วมสงครามจีน-ญี่ปุ่นครั้งที่ 1 ซึ่งชัยชนะที่ญี่ปุ่นได้รับ ทำให้ญี่ปุ่นได้ไต้หวันมาครอบครอง และอีกสิบปีต่อมา ญี่ปุ่นก็ยังได้รับชัยชนะในสงครามรัสเซีย-ญี่ปุ่น และสามารถยึดซัคคาลินตอนใต้มาครอบครองได้เช่นกัน  ทำให้เมื่อสงครามโลกครั้งที่ 1 สิ้นสุดลง ประเทศญี่ปุ่นก็กลายเป็นหนึ่งในประเทศมหาอำนาจของโลกไปแล้ว
ยุคไทโช และโชวะ
อุตสาหกรรมของประเทศในสมัยโชวะ ยังคงเติบโตต่อไปข้างหน้าอย่างรวดเร็ว อย่างไรก็ตาม สภาวะเศรษฐกิจที่ตกต่ำไปทั่วโลก ก็มีผลให้เศรษฐกิจญี่ปุ่นเกิดความไม่มั่นคงตามไปด้วยเช่นกัน ประชาชนจึงเริ่มเกิดความไม่เชื่อมั่นในพรรคการเมืองที่ทำหน้าที่บริหารประเทศ จนในที่สุด พรรคการเมืองทั้งหมดก็ยุบรวมกันเป็น ‘พรรคการเมืองแห่งชาติ’ ซึ่งมีหน้าที่ในการปกครองญี่ปุ่นในเวลาต่อมา
ใน ค.ศ. 1945 ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่ญี่ปุ่นพ่ายแพ้ในลงครามโลกครั้งที่ 2 ญี่ปุ่นจึงจำเป็นต้องตกอยู่ภายใต้การควบคุมของฝ่ายสัมพันธมิตรที่นำโดย พลเอกดักลาส แม็คอาเธอร์ แห่งประเทศสหรัฐอเมริกา  ญี่ปุ่นต้องยินยอมทำตามข้อกำหนดต่างๆมากมายในฐานะที่ตนนั้นเป็นฝ่ายแพ้สงคราม เช่น ห้ามมีกองกำลังปกป้องประเทศ เป็นต้น อย่างไรก็ตาม การที่รัฐบาลญี่ปุ่นสนับสนุนการศึกษา วิทยาศาสตร์ วัฒนธรรม หรือเทคโนโลยีต่างๆ ทำให้ญี่ปุนสามารถพัฒนาตนเองให้ทันต่อการเปลี่ยนแปลงของโลกได้อย่างรวดเร็ว
ส่วยการฟื้นฟูสภาพเศรษฐกิจหลังสงครามโลก ญี่ปุ่นก็ได้รับการสนับสนุนจากสหรัฐอเมริกาและชาติอื่นๆเป็นอย่างมาก ทำให้ญี่ปุ่นสามารถเข้ามามีส่วนร่วมในการค้าเสรีของหลายฝ่าย และเพียงไม่กี่ปี ญี่ปุ่นก็กลายเป็นประเทศที่มีความเข้มแข็งทางเศรษฐกิจขึ้นมาได้อย่างรวดเร็ว นอกจากการปรับปรุงเศรษฐกิจแล้ว ญี่ปุ่นก็ยังพยายามปรับปรุงสถานะทางการทูตระหว่างประเทศด้วย โดยญี่ปุ่นได้เข้าเป็นหนึ่งในสมาชิกขององค์การสหประชาชาติ และร่วมเข้าประชุมการอภิปรายระหว่างประเทศตลอดมา
ญี่ปุ่นสามารถชำระเงินค่าปฏิกรรมสงครามได้อย่างครบถ้วนภายในกลางทศวรรษที่ 1960 ซึ่งใช้เวลาเพียงแค่ 20 ปี หลังจากการแพ้สงครามเท่านั้น ประเทศญี่ปุ่นสามารถฟื้นตัวเองกลับมายืนขึ้นอย่างสง่าผ่าเผยได้อีกครั้ง พร้อมกับการเป็นประเทศที่มีบทบาทในหมู่ประชาคมระหว่างประเทศที่มากขึ้นด้วย
หลังจากช่วงกลางทศวรรษที่ 1960 ญี่ปุ่นก็พบกับปัญหาใหม่ๆ เนื่องจาก ประชาชนมีความต้องการที่เพิ่มมากขึ้น และเริ่มที่จะค้นหาเป้าหมายอื่นๆ เพื่อปรับปรุงคุณภาพชีวิตของตนเอง เช่น นักศึกษาไม่พอใจต่อการเรียนในโรงเรียนหรือมหาวิทยาลัย ประชาชนเรียกร้องความเท่าเทียมกันในสังคม เป็นต้น ทำให้ประเทศญี่ปุ่นจำเป็นต้องถีบตัวเองให้เกิดการพัฒนาไปมากกว่าที่เคยเป็น
ในช่วงทศวรรษที่ 1970 พบว่าเศรษฐกิจญี่ปุ่นมีแนวโน้มการเติบโตที่ตกต่ำลง ทำให้ชาวญี่ปุ่นเกิดการเปลี่ยนแปลงทางความคิด และการดำเนินชีวิตไปเป็นอย่างมาก และเป็นผลให้ชาวญี่ปุ่นจำนวนมากให้ความสำคัญกับการแสวงหาเป้าหมายในการดำเนินชีวิตในแต่ละบุคคล จนเมื่อถึงช่วงกลางทศวรรษที่ 1980 รัฐบาลญี่ปุ่นก็เริ่มขยายความช่วยเหลือเข้าไปให้แก่ประชาคมโลก เนื่องจากญี่ปุ่นมีกำลังที่เพียบพร้อม และถือเป็นอีกหนึ่งความคาดหวังของประเทศอื่นๆ ทั่วโลก
ในปี ค.ศ. 1989 จักรพรรดิฮิโระฮิโตะได้เสด็จสวรรคตไป ทำให้จักรพรรดิอะกิฮิโตะขึ้นครองราชย์เป็นจักรพรรดิองค์ใหม่แทน และช่วงเวลาดังกล่าวนี้ก็ถือเป็นจุดสิ้นสุดของยุคโชวะ และหลังจากนั้น ยุคเฮเซก็ถือกำเนิดขึ้น และต่อเนื่องยาวนานมาจนถึงปัจจุบัน

คาบสมุทรเกาหลี

คาบสมุทรเกาหลี ก็ถือเป็นอีกหนึ่งดินแดนที่มีประวัติศาสตร์ความเป็นมาที่ยาวนานแห่งหนึ่งในโลก คาบสมุทรนี้เริ่มต้นจากการเป็นดินแดนของผู้คนหลายเผ่าพันธุ์ที่อยู่ดันแบบกระจัดกระจาย จากนั้นจึงค่อยๆรวมตัวกันขึ้นเป็นอาณาจักรเล็กๆ ก่อนจะถูกจีนยึดครองในที่สุด แต่ภายหลังที่ได้รับเอกราชจากจีน ก็สามารถก่อกำเนิดเป็นประเทศเกาหลีได้ในที่สุด
ก่อนที่อาณาจักรทั้งหลายในคาบสมุทรเกาหลีจะรวมตัวกันเป็นหนึ่งเดียว คาบสมุทรเกาหลีแบ่งแยกออกเป็น 3 อาณาจักรใหญ่  และแบ่งการปกครองเป็นราชวงศ์ 2 ราชวงศ์ หลังจากนั้นคาบสมุทรเกาหลีก็ตกอยู่ใต้อาณานิคมของญี่ปุ่น และเมื่อสงครามโลกครั้งที่ 2 สิ้นสุดลง เกาหลีก็ถูกแบ่งออกเป็น 2 ประเทศ ได้แก่ ‘เกาหลีเหนือ’ และ ‘เกาหลีใต้’ ซึ่งแม้ว่าจะมีความพยายามในการรวมสองประเทศเข้าด้วยกันมาโดยตลอด แต่ในปัจจุบันความพยายามนี้ก็ยังไม่ประสบความสำเร็จ
สามารถแบ่งยุคสมัยของคาบสมุทรเกาหลีออกได้ดังต่อไปนี้

ยุคเผ่า

ดินแดนบนคาบสมุทรเกาหลีในยุคแรก ประกอบไปด้วยผู้คนหลากหลายเผ่าพันธุ์ โดยเชื่อกันว่าเผ่าพันธ์ุแรกที่ปรากฏบนคาบสมุทรเกาหลี ก็คือ ‘เผ่าโชซอนโบราณ’ ที่มีมาตั้งแต่ช่วง พ.ศ. 143 – 243 และตั้งถิ่นฐานอยู่ทางตอนเหนือของดินแดนนี้ ส่วนเผ่าอื่นๆก็มีอยู่อีกมากมาย ได้แก่ ‘เผ่าพูยอ’ ตั้งอยู่บริเวณปากแม่น้ำซุงคารีแถบแมนจูเรียเหนือ ‘เผ่าโกคูรยอ’ ตั้งอยู่ระหว่างแม่น้ำพมากและแม่น้ำอัมนูก ‘เผ่าโอกจอ’ ตั้งอยู่บริเวณมณฑลฮัมกยอง ‘เผ่าทงเย’ ตั้งอยู่บริเวณมณฑลคังวอน และ ‘เผ่าสามฮั่น ได้แก่ มาฮั่น ชินฮั่น และพยอนฮั่น’ ตั้งอยู่บริเวณแม่น้ำฮั่นและแม่น้ำนักดงทางตอนใต้ของคาบสมุทรเกาหลี

พระมหากษัตริย์ในตำนาน

ตำนานการกำเนิดของชนชาติเกาหลี มีเรื่องเล่าไว้ว่า ‘เจ้าชายฮวางวุง’ ผู้เป็นโอรสของเทพเจ้าสูงสุดบนสวรรค์ ได้ลงมาจุติบนโลกมนุษย์ พร้อมทั้งได้สร้างครอบครัวกับหญิงที่มีกำเนิดจากหมี และมีโอรสชื่อ ‘ตันกุน’ พวกเขาทั้งหมดอาศัยอยู่บนภูเขาแตแบกซาน และต่อมาบริเวณนี้ก็กลายเป็น อาณาจักรโชซอนโบราณ ที่มีมาตั้งแต่ 1790 ปีก่อนพุทธศักราชนั่นเอง
เมื่อ พ.ศ. 434  จีนได้เข้ามายึดครองดินแดนบริเวณคาบสมุทรเกาหลี โดยมีจักรพรรดิฮั่นอู่ตี้ หรือ กวนอู่ตี้ ยกทัพเข้ามายึดครองดินแดนของอาณาจักรโชซอนโบราณแห่งนี้ พระองค์ได้จัดแจงแบ่งดินแดนเกาหลีออกเป็น 4 มณฑล ได้แก่ อาณาจักรนังนัง ชินบอน อิมดุน และฮยอนโท อย่างไรก็ตาม จีนไม่ได้เข้าปกครองดินแดนทั้งหมดของเกาหลี แต่เข้าปกครองเพียงแค่อาณาจักรนังนังเพียงมณฑลเดียวเท่านั้น จนเมื่อ พ.ศ. 856 ชนเผ่าโคกุรยอก็สามารถกลับเข้ายึดครองมณฑลนังนังได้สำเร็จ และทำการขับไล่จีนออกไปจากดินแดนของตน ทั้งนี้ การที่เกาหลีตกเป็นเมืองขึ้นของจีน ก็เป็นผลให้เกาหลีได้รับอิทธิพลทางวัฒนธรรมจากจีนมาอย่างมากมาย เช่น ตัวอักษร ศาสนาพุทธ หรือศาสนาขงจื้อ เป็นต้น

ยุคสามก๊ก และราชอาณาจักรทั้ง 3 ของเกาหลี

หลังจากที่เกาหลีเป็นเอกราชจากจีนแล้ว ดินแดนเกาหลีในขณะนั้นก็ถูกแบ่งออกเป็น 3 อาณาจักร ได้แก่
อาณาจักรโกคูรยอ ตั้งอยู่ทางภาคเหนือของคาบสมุทรเกาหลี อาณาจักรแห่งนี้มีความเข้มแข็งมากขึ้นจากการที่ราชวงศ์ฮั่นล่มสลาย และสามารถขยายอำนาจเข้ายึดครองมณฑลนังนังจากจีนได้
อาณาจักรแพกเจ เป็นหนึ่งในชนเผ่าย่อยของเผ่าพูยอที่อพยพหนีลงมาทางใต้ ก่อนที่พวกเขาจะเข้ายึดครองอาณาจักรอื่นรวมถึงเผ่าฮั่นดั้งเดิมด้วย
อาณาจักรชิลลา ตั้งอยู่ทางตะวันออกเฉียงใต้ อาณาจักรนี้ถูกพัฒนาขึ้นจากเผ่าซาโร ซึ่งแม้ในช่วงแรก อาณาจักรชิลลาจะยังไม่ค่อยมีความเข้มแข็งมากนัก แต่พวกเขาก็พยายามผูกมิตรกับอาณาจักรโคกุรยอมาโดยตลอด จนกระทั่งเมื่อสงครามระหว่างอาณาจักรโคกุรยอกับแพกเจผ่านพ้นไป อาณาจักรชิลลาก็สามารถเพิ่มความเข้มแข็งขึ้นได้มากขึ้น และในที่สุดก็สามารถยึดครองลุ่มแม่น้ำฮั่นและลุ่มแม่น้ำนักดงได้สำเร็จ

ยุคอาณาจักรเอกภาพ อาณาจักรซิลลา

หลังจากที่อาณาจักรชิลลาเข้มแข็งมากขึ้น อาณาจักรแพกเจจึงจำเป็นต้องหันไปผูกสัมพันธ์กับอาณาจักรโกคูรยอแทน ในขณะที่ อาณาจักรชิลลาก็หันไปร่วมมือกับราชวงศ์สุยและราชวงศ์ถังของจีน ทำให้เกิดเป็นกองกำลังผสมของสองชนชาติขึ้น และสามารถเข้ายึดครองอาณาจักรแพกเจได้สำเร็จในปี พ.ศ.1203 จากนั้นก็เข้ายึดครองอาณาจักรโกคูรยอใน พ.ศ.1211
ต่อมาในปี พ.ศ.1278 อาณาจักรชิลลากับราชวงศ์ถังก็เกิดผิดใจกัน ทำให้อาณาจักรชิลลาบุกเข้ายึดอาณาจักรโกคูรยอคืนมาจากจีน และสามารถเข้ายึดคาบสมุทรเกาหลีกลับมาได้อย่างสมบูรณ์
อาณาจักรชิลลาเจริญที่สุดในยุคของกษัตริย์คยองตอก แต่ด้วยความขัดแย้งในหมู่เชื้อพระวงศ์และมีการปฏิวัติบ่อยครั้ง จึงทำให้อาณาจักรต้องล่มสลายลงในเวลาต่อมา โดยสาเหตุหลักของการสิ้นสุดอำนาจ เกิดมาจากการต่อต้านอำนาจรัฐของกลุ่มชาวนาและกลุ่มอำนาจท้องถิ่น โดยมี วังกอนเป็นผู้นำในการต่อต้าน และต่อมาก็ได้สถาปนาเป็นราชวงศ์โครยอขึ้น

ยุคอาณาจักรเหนือใต้

หลังจากที่อาณาจักรโกคูรยอและอาณาจักรแพกเจแตกสลายไปแล้ว ก็มีกลุ่มคนกลุ่มหนึ่งพยายามที่จะรวบรวมประชาชนชาวโกคูรยอที่ถูกทัพชิลลาโจมตี เพื่ออพยพย้ายผู้คนถิ่นฐานขึ้นไปทางตอนเหนือ และก่อตั้งเป็น ‘อาณาจักรบัลแฮ’ ขึ้น ในขณะที่ทางตอนใต้ อาณาจักรชิลลาก็มีการผสานรวมแผ่นดินของอาณาจักรโกคูรยอ อาณาจักรแพกเจ และอาณาจักรชิลลาเดิมเข้าไว้ด้วยกัน ทำให้ในยุคนี้ปรากฎเป็น 2 อาณาจักรใหญ่ที่ตั้งอยู่ทางเหนือและใต้ และเป็นที่มาของชื่อยุคที่ว่า “ยุคอาณาจักรเหนือใต้”

ยุคสามอาณาจักรหลัง

หลังจากที่อาณาจักรบัลแฮล่มสลาย ประชาชนก็พากันหนีตายลงมาที่อาณาจักรโกคูรยอเดิมทางตอนใต้ โดยมีเชื้อพระวงศ์ของอาณาจักรบัลแฮเป็นผู้นำ และทำการสถาปนาอาณาจักรใหม่ขึ้นมา โดยให้ชื่อว่า “ อาณาจักรโกคูรยอ” พร้อมสถาปนาตนเองป็นกษัตริย์นามว่า “พระเจ้ากุงแย” ในขณะที่ ชาวแพกเจที่อาศัยอยู่ที่อาณาจักรชิลลา ก็รวมตัวกันก่อกบฏขึ้นภายใต้การนำของ “คยอน ฮวอน” จากนั้นจึงย้ายถิ่นฐานไปที่บริเวณอาณาจักรแพกเจเดิม แล้วให้ชื่อว่า “อาณาจักรแพกเจ” พร้อมสถาปนาตนเองขึ้นเป็น “พระเจ้าคยอน ฮวอน” จากนั้นจึงทำการกบฏต่ออาณาจักรรวมชิลลา ทำให้อาณาจักรชิลลาเกิดความวุ่นวายไปทั่ว

ยุคอาณาจักรโครยอ

พ.ศ. 1486  “วังฮูมา” สถาปนาตนเองขึ้นเป็นกษัตริย์แทโจแห่งราชวงศ์โคเรียว ซึ่งถือเป็นอาณาจักรที่เจริญที่สุดในสมัยกษัตริย์มุนจง เนื่องจากมีความเจริญด้านพระพุทธศาสนามาก นอกจากนี้ ก็ยังมีการทำสงครามกับญี่ปุ่นและมองโกล อีกทั้งถูกจีนควบคุมในสมัยราชวงศ์หยวนด้วย แต่เมื่อราชวงศ์หยวนของจีนอ่อนแอลง อาณาจักรโครยอก็ยังต้องพบกับปัญหาโจรสลัดญี่ปุ่น รวมถึงการรุกรานของราชวงศ์หมิงต่อ แต่พอถึงในปี พ.ศ. 1935 ฝ่ายทหารก็สามารถยึดอำนาจนายพลอีซองกเยได้ และเป็นจุดเริ่มต้นของราชวงศ์ใหม่ในที่สุด

ยุคราชวงศ์โชซอน

นายพล ลี ซองเก ยกตัวเองขึ้นเป็นกษัตริย์แทโจในราชวงศ์โชซอน และเขาก็ได้ส่งเสริมให้ลัทธิขงจื้อกลายเป็นลัทธิประจำชาติเกาหลีด้วย อีกทั้ง ยังลดอิทธิพลของพุทธศาสนาลง  ส่วนในสมัยของกษัตริย์เซจงมหาราช พระองค์ก็ทรงประดิษฐ์อักษรฮันกึลขึ้น เพื่อเอาไว้ใช้เป็นภาษาในการสื่อสารแทนอักษรจีน แต่เพราะความขัดแย้งกับชาติตะวันตกในเรื่องคริสต์ศาสนา รวมถึงความแตกแยกในหมู่ขุนนาง จึงเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้ราชวงศ์นี้เสื่อมสลายลง และในไม่นาน ระบอบกษัตริย์ก็ถูกล้มล้างไปในที่สุด

การถูกญี่ปุ่นยึดครอง และการเคลื่อนไหวเพื่ออิสรภาพ

ในศตวรรษที่ 19 เกาหลียังคงเป็นประเทศที่เรียกว่า “อาณาจักรแห่งฤาษี” หรือมีความหมายว่า พวกเขาการปฏิเสธความสัมพันธ์ทางการทูตและการค้ากับชาติตะวันตก แต่คาบสมุทรเกาหลีก็ยังเป็นบริเวณที่หลายประเทศในเอเชียและในยุโรป ต้องการอยากจะเข้ามาครอบครอง ซึ่งเมื่อญี่ปุ่นกลายเป็นประเทศที่ได้ชัยชนะเหนือจีนและรัสเซีย จึงทำให้ญี่ปุ่นสามารถผนวกเอาเกาหลีเข้าเป็นอาณานิคมได้ในที่สุด
เนื่องจากเกาหลีตกอยู่ใต้การปกครองของญี่ปุ่น จึงทำให้คนเกาหลีส่วนใหญ่เกิดความรักชาติ และเกิดการประท้วงขึ้นเมื่อญี่ปุ่นประกาศห้ามไม่ให้ชาวเกาหลีเรียนภาษาเกาหลีในโรงเรียน สุดท้ายญี่ปุ่นจึงต้องใช้อำนาจอย่างโหดร้ายในการควบคุมกลุ่มผู้ประท้วงและผู้สนับสนุนที่ทำให้เกิดการเคลื่อนไหวครั้งนี้ จนยังผลให้เกิดผู้เสียชีวิตหลายพันคน และแม้ว่าการประท้วงครั้งนี้จะไม่ประสบผลสำเร็จ แต่การเคลื่อนไหวเพื่ออิสรภาพครั้งนี้ ก็ทำให้ชาวเกาหลีเกิดความผูกพัน เป็นหนึ่งเดียวกัน และเกิดความรักชาติมากยิ่งขึ้น จนในที่สุดก็นำไปสู่การจัดตั้งรัฐบาลเฉพาะกาลที่เซี่ยงไฮ้ ประเทศจีน และมีการซุ่มสะสมกองกำลังติดอาวุธในแมนจูเรีย เพื่อจุดมุ่งหมายในการต่อต้านลัทธิอาณานิคมของญี่ปุ่น
ในยุคอาณานิคมนี้ ญี่ปุ่นพยายามเรียกหาประโยชน์ทางเศรษฐกิจจากเกาหลีอย่างต่อเนื่อง ทำให้ชาวเกาหลีต้องตกอยู่ภายใต้การปกครองแบบอาณานิคมของญี่ปุ่นไปอย่างยาวนาน จนมาสิ้นสุดลงในปี 1945 ในช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง
koreawar

การก่อตั้งสาธารณรัฐเกาหลี

แม้ว่าเกาหลีจะหลุดพ้นจากการตกเป็นอาณานิคมของญี่ปุ่นแล้ว เนื่องจากการที่ญี่ปุ่นพ่ายแพ้ในสงครามโลกครั้งที่ 2  แต่อิสรภาพที่ชาวเกาหลีต้องการก็ยังไม่สมบูรณ์ เนื่องจากเกิดการแบ่งแยกเพราะความแตกต่างทางอุดมการณ์ ทำให้ความพยายามที่เกาหลีจะจัดตั้งรัฐบาลอิสระต้องจบลง เมื่อกองทัพของสหรัฐอเมริกาเข้ายึดครองดินแดนทางตอนใต้ของคาบสมุทร ในขณะที่ โซเวียตก็เข้ายึดครองดินแดนทางตอนเหนือเช่นกัน ทำให้สมัชชาใหญ่ขององค์การสหประชาชาติ ก็ได้มีมติในการแก้ปัญหาเรื่องนี้โดยการกำหนดให้เกิดการจัดการเลือกตั้งในเกาหลี ในเดือนพฤศจิกายน ปี 1947 ทั้งนี้ การเลือกตั้งยังคงต้องอยู่ภายใต้การดูแลของคณะกรรมาธิการองค์การสหประชาชาติด้วย
แต่ความวุ่นวายยังไม่จบเพียงเท่านั้น เมื่อสหภาพโซเวียตยืนยันที่จะปฏิเสธการเลือกตั้งครั้งนี้ รวมถึงปฏิเสธคณะกรรมาธิการองค์การสหประชาชาติ ที่จะเข้าไปดูแลตอนเหนือของเกาหลีด้วย ทำให้สมัชชาใหญ่องค์การสหประชาชาติ ต้องแก้ปัญหาโดยการจัดการเลือกตั้งในพื้นที่ที่คณะกรรมาธิการองค์การสหประชาชาติมีสิทธิที่เข้าไปได้เท่านั้น ทำให้การเลือกตั้งครั้งนี้นับเป็นการเลือกตั้งครั้งแรกในประเทศเกาหลี ซึ่งจัดขึ้นเมื่อวันที่ 10 มีนาคม 1948 และเป็นจุดกำเนิดให้เกาหลีถูกแบ่งออกเป็น 2 ส่วน ที่เส้นขนานที่ 38 อันได้แก่ เกาหลีเหนือ และ เกาหลีใต้ นั่นเอง
ซึงมันลี
ประธานาธิบดีคนแรกแห่งสาธารณรัฐเกาหลี ก็คือ “ซึงมันลี” ผู้จบการศึกษาจากสหรัฐอเมริกา และเป็นหนึ่งในผู้ที่ร่วมต่อสู้เพื่ออิสรภาพของเกาหลีด้วย อีกทั้ง ซึงมันลี ยังเป็นบุคคลสำคัญที่ทำให้เกิดการจัดตั้งรัฐบาลแบ่งส่วนในเกาหลีใต้ด้วย ในขณะที่ เกาหลีเหนือก็มีการปกครองที่แตกต่างกันออกไป โดยมีคิม อิลซุง ผู้ได้รับการสนับสนุนจากสหภาพโซเวียต เป็นผู้นำการปกครองในรูปแบบคอมมิวนิสต์
เมื่อวันที่ 25 มิถุนายน 1950 เกาหลีเหนือได้เริ่มต้นประกาศสงครามกับเกาหลีใต้อย่างเต็มรูปแบบ ซึ่งถือเป็นสงครามที่กินเวลานานถึง 3 ปี ทั้งกองกำลังสหรัฐอเมริกา จีน และชาติอื่นๆ ต่างพากันเข้าร่วมรบกันอย่างมุ่งมั่น และเป็นผลให้เกิดความเสียหายต่อคาบสมุทรนี้อย่างย่อยยับ จนเมื่อเดือนกรกฎาคมปี 1953 สงครามครั้งนี้จึงได้สิ้นสุดลง และแม้ว่าการปกครองประเทศของประธานาธิบดีลี จะทำคุณประโยชน์ต่อประเทศชาติอย่างมหาศาล  แต่สุดท้าย เขาต้องออกจากตำแหน่ง เนื่องมาจากการเกิดจลาจลของเหล่านักศึกษา ที่ทำการประท้วงในด้านการทุจริต และการฉ้อโกงเงินประเทศ
ประเทศเกาหลีกลายเป็นประเทศอุตสาหกรรม และถือเป็นประเทศที่เศรษฐกิจเจริญเติบโตอย่างรวดเร็ว ตั้งแต่ช่วงทศวรรษ 1960 ภายใต้การปกครองของ “พัค จองฮี” นายพลที่ยึดอำนาจจากรัฐบาล ซึ่งทำให้เขาได้รับการขนานนามว่าเป็น “มหัศจรรย์แห่งแม่น้ำฮัน” แต่สุดท้ายในปี 1979 ประธานธิบดีพัคก็ถูกลอบสังหารในที่สุด
ในปี 1987 เป็นช่วงปีที่ระบอบการเลือกตั้งแบบประธานาธิบดีที่มาจากเสียงของประชาชนเข้ามามีบทบาทในประเทศเกาหลี แต่ก็ยังพบว่าไม่ประสบความสำเร็จเท่าไรนัก จนกระทั่งเกิดประชาธิปไตยภาคประชาชนขึ้นอีกครั้งในปี 1993
ในปี 1998 กรุงโซลในเกาหลีใต้ได้รับคัดเลือกเป็นเจ้าภาพการแข่งขันกีฬาโอลิมปิค และได้เป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันฟุตบอลโลกปี 2002 อีกด้วย เกาหลีได้พยายามแสดงมรดกทางวัฒนธรรม พร้อมกับการถ่ายทอดเทคโนโลยีอันล้ำสมัยออกสู่สายตาของคนทั่วโลกอยู่เสมอ โดยแสดงออกผ่านทางการค้า และการแลกเปลี่ยนระหว่างประเทศ และแม้ว่าในช่วงปี 1950 ประเทศเกาหลีจะถูกจัดอันดับการเป็นประเทศที่ยากจนที่สุด แต่ในปัจจุบันกลับพบว่า เกาหลีสามารถถีบตัวเองขึ้นมาอยู่ในอันดับต้นๆของโลกได้แล้ว แม้ว่าผลพวงจากสงครามเย็นจะยังคงหลงเหลืออยู่ในคาบสมุทรเกาหลี แต่สาธารณรัฐเกาหลีก็ยังสามารถเติบโตทางประชาธิปไตยและเศรษฐกิจได้อย่างต่อเนื่อง นอกจากนี้ยังพบว่า เกาหลียังถือเป็นประเทศที่มีบทบาทสำคัญเป็นอย่างมากในเวทีเศรษฐกิจโลกด้วย

ยุคศักดินา (1027 ปี ก่อน ค.ศ. – ค.ศ. 1912)

จีน ถือเป็นประเทศเก่าแก่ ที่เต็มไปด้วยอารยธรรมที่ยาวนานมากที่สุดแห่งหนึ่งในโลก รองลงจากอารยธรรมอียิปต์ ซึ่งหากย้อนกลับไปเมื่อประมาณ 5,000 ปีที่ผ่านมา ก็จะสามารถพบหลักฐานทางประวัติศาสตร์ที่บ่งชี้ถึงอารยธรรมจีนได้แล้ว และตลอดช่วงเวลาที่ผ่านมานี้ ก็ได้ก่อเกิดเรื่องราวและประวัติศาสตร์มากมายนับไม่ถ้วน และเรื่องราวต่างๆก็ถูกเล่าสืบต่อจนกลายเป็นตำนานที่ถูกเล่าขานตั้งแต่ในอดีตจนถึงปัจจุบัน
อารยธรรมจีนที่เป็นรากฐานที่สำคัญที่สุด ก็คือ ‘การสร้างระบบภาษาเขียน’ ในยุคราชวงศ์กอณัฐ ซึ่งในขณะนั้นถูกใช้เป็นภาษากลางในการสื่อสารทั่วประเทศ และถือเป็นครั้งแรกในโลกด้วย และระบบแนวคิดนี้ก็ถูกพัฒนาไปเป็นภาษาอังกฤษในปัจจุบัน ที่สามารถอ่านเป็นภาษาเยอรมัน รัสเซีย หรือสเปน ที่มีสำเนียงต่างกันได้
ประวัติศาสตร์จีน มีเรื่องราวความเป็นมาซึ่งสามารถแบ่งออกเป็นช่วงเวลาต่างๆ ได้ดังนี้
ยุคก่อกำเนิด หรือยุคบรรพกาล (? – 2100 ปี ก่อน ค.ศ.)
แม่น้ำหวงเหอ ถือเป็นลุ่มแม่น้ำที่มีผู้คนพากันมาอาศัยอยู่มาตั้งแต่ช่วงยุคหิน และผู้คนก็เริ่มมีพัฒนาการขึ้นมาเรื่อยๆ ตั้งแต่เริ่มจากต่างคนต่างอยู่ มาเป็นการยังชีพด้วยการเก็บของป่าและการล่าสัตว์ ต่อมาก็เกิดการรวมกลุ่มกันขึ้นเป็นชุมชน เริ่มทำการเพาะปลูกและเลี้ยงสัตว์ จนก่อให้เกิดเป็นสังคมแบบชนเผ่าขึ้น ซึ่งช่วงเวลาแห่งการเริ่มต้นนี้ มี 3 ผู้นำ ได้แก่ “ซุ่ยเหริน ฝูซี และเสินหนง” เป็นบุคคลสำคัญที่มีส่วนในการช่วยพัฒนาคุณภาพชีวิตความเป็นอยู่ของผู้คนในสมัยนั้นให้ดีขึ้น ซึ่งต่อมา สามคนนี้ก็ได้รับการยกย่องให้เป็น “ซันหวง” หรือสามกษัตริย์
จนเมื่อประมาณ 4600 ปีก่อนคริสต์ศักราช “หวงตี้ หรือ จักรพรรดิเหลือง” ก็เข้าปราบปรามชนเผ่าทั้งหลายในแถบลุ่มน้ำหวงเหอได้ทั้งหมด และทำให้เกิดเป็นจุดเริ่มต้นของชนชาติ “หวาเซี่ย” หรือ ชนชาติจีน ในที่สุด และเวลาต่อมา ก็เกิดมีผู้นำที่มีความสามารถ ได้แก่ จวนซวี ตี้คู่ เหยา และซุ่น ซึ่งบุคคลทั้งสี่ได้รวมตัวกับหวงตี้ จนกลายเป็นกลุ่มคนที่มีชื่อเรียกว่า “หวู่ตี้ หรือ ห้าจักรพรรดิ”
แต่แล้วสังคมจีนแบบบุพกาลครั้งนี้ก็สิ้นสุดลง เนื่องจาก “ต้าอวี่” เป็นบุคคลที่สามารถแก้ไขปัญหาน้ำท่วมในแถบลุ่มแม่น้ำหวงเหอ ที่เป็นปัญหาสำคัญต่อชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนแถบนั้นได้สำเร็จ ทำให้พระเจ้าซุ่นยอมสละราชบัลลังก์ของตน มอบให้แก่ผู้ที่มีความสามารถมากกว่าอย่างต้าอวี่
ต้าอวี่ จึงได้ขึ้นปกครองประเทศด้วยความสงบสุขตลอดมา จนเมื่อตนเองแก่ชรา ก็คิดจะมอบราชสมบัติต่อให้แก่ “อี้” อีกหนึ่งบุคคลที่มีความสามารถ แต่เพราะแรงสนับสนุนจากบรรดาหัวหน้าเผ่าที่อยู่ภายใต้การปกครองของต้าอวี่ ทำให้ “ฉี่” ผู้เป็นโอรสของต้าอวี่ ได้ขึ้นสืบทอดบัลลังก์ต่อจากบิดาแทน และนี่ก็กลายเป็นจุดสิ้นสุดของยุคบรรพกาล และทำให้ประวัติศาสตร์จีนเปลี่ยนเข้าสู่ยุคแห่งรัฐระบอบทาสแทน
ยุคทาส (2100 – 1028 ปี ก่อน ค.ศ.)
ยุคทาส เป็นยุคที่จีนเริ่มมีการสถาปนาระบอบการปกครองแบบราชวงศ์ขึ้น และการสืบต่อราชบัลลังก์จะต้องเป็นการสืบสันตติวงศ์ทางสายเลือด ซึ่งเข้ามาแทนที่การคัดเลือกจากความสามารถที่เคยเป็นมาในยุคก่อน และทำให้ยุคนี้เริ่มมีชนชั้นทาสเกิดขึ้นด้วย ทั้งนี้ก็เพราะเมื่อฉี่ขึ้นครองราชย์ ยังคงมีชนเผ่าบางเผ่าที่ไม่ยอมรับในอำนาจการปกครองของเขา ฉี่จึงจำเป็นต้องยกทัพไปปราบกลุ่มคนเหล่านั้น และกวาดต้อนเชลยศึกมาทำหน้าที่รับใช้ตน และจุดเริ่มต้นของทาสและนายทาสก็บังเกิดขึ้นนับตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา ยุคทาสนี้ประกอบไปด้วยราชวงศ์ 2 ราชวงศ์ ดังต่อไปนี้
ราชวงศ์เซี่ย (2100 – 1600 ปี ก่อน ค.ศ.)
สถาปนาราชวงศ์ขึ้นโดยฉี่ ผู้เป็นโอรสของต้าอวี่ และสิ้นสุดราชวงศ์ลงที่ “เจี๋ย”  รวมมีกษัตริย์ปกครองทั้งหมด 17 พระองค์
ราชวงศ์ชาง (1600 – 1028 ปี ก่อน ค.ศ.)
สถาปนาราชวงศ์ขึ้นโดย “ชางทัง” ผู้รวบรวมกำลังประชาชนขึ้นโค่นล้มการปกครองของพระเจ้าเจี๋ย ยุคนี้มีความเจริญรุ่งเรืองในด้านเครื่องสัมฤทธิ์เป็นอย่างมาก อีกทั้งยังเป็นยุคที่อักษรกระดองเต่าถือกำเนิดขึ้นมาด้วย ราชวงศ์นี้ปกครองอย่างยาวนานจนถึง “โจ้ว” กษัตริย์องค์สุดท้ายของราชวงศ์ รวมมีกษัตริย์ปกครองทั้งสิ้น 30 พระองค์
กำแพงเมืองจีน
ยุคศักดินา (1027 ปี ก่อน ค.ศ. – ค.ศ. 1912)
หลังจากที่ “โจวหวู่หวาง” รวบรวมกำลังพลเข้าโค่นล้มพระเจ้าโจ้วหวางแห่งราชวงศ์ชางแล้ว ก็ได้สถาปนาราชวงศ์โจวขึ้น ซึ่งถือเป็นจุดเริ่มต้นของยุคใหม่ขึ้นด้วย โจวหวู่หวางได้มีการปูนบำเหน็จรางวัลให้แก่บรรดาเชื้อพระวงศ์ ขุนศึก และหัวหน้าเผ่าต่างๆ ที่ช่วยกันร่วมมือโค่นล้มราชวงศ์ชาง อีกทั้งแต่งตั้งให้คนเหล่านี้เป็น “จูโหว” หรือเจ้าครองแคว้น พร้อมทั้งมอบที่ดินในขนาดต่างๆตามแต่ระดับความดีความชอบ ให้พวกเขาได้เป็นสมบัติและปกตรองภายใต้อำนาจของตนเองด้วย กษัตริย์แห่งราชวงศ์โจว หรือ“โอรสสวรรค์” จึงถือเป็นจุดเริ่มต้นของยุคศักดินา ยุคหนึ่งในประวัติศาสตร์จีนที่แสนยาวนาน ยุคนี้ประกอบไปด้วยราชวงศ์ต่างๆ ดังต่อไปนี้
ราชวงศ์โจว (1027 – 256 ปี ก่อน ค.ศ.)
ราชวงศ์โจว ถือเป็นราชวงศ์ที่มีอายุยาวนานมากที่สุดในประวัติศาสตร์จีน และถือเป็นจุดเริ่มต้นของระบอบศักดินาด้วย ราชวงศ์นี้สามารถแบ่งออกได้เป็น 2 ช่วง ได้แก่ ‘ราชวงศ์โจวตะวันตก’ (1027 – 771 ปี ก่อน ค.ศ.) ซึ่งมีเมืองหลวงอยู่ที่เฮ่าจิง กับ ‘ราชวงศ์โจวตะวันออก’ (770 – 256 ปี ก่อน ค.ศ.) ที่มีเมืองหลวงอยู่ที่ลั่วอี้
โดยยุคราชวงศ์โจวตะวันออก ก็สามารถแบ่งย่อยออกได้อีกเป็น 2 ยุค คือ ชุนชิว กับ จ้านกั๋ว ซึ่งทั้งสองยุค เป็นยุคที่มีการสู้รบเพื่อแย่งชิงดินแดนกันอย่างวุ่นวายของบรรดาเจ้าผู้ครองแคว้น ทำให้เกิดความขัดแย้งวุ่นวายในทั่วทุกหัวระแหง อย่างไรก็ตาม ยุคนี้ก็ถือเป็นยุคแห่งความเจริญรุ่งเรืองทางศิลปวิทยาการมากมาย โดยเฉพาะด้านปรัชญาความคิด ทำให้ยุคนี้ถูกเรียกอีกชื่อหนึ่งว่า ‘ยุคปราชญ์ร้อยสำนัก’ ตามที่หลายคนอาจรู้จักนักปราชญ์จีนคนสำคัญของอย่าง ขงจื่อ เหลาจื่อ จวงจื่อ ซุนวู หรือ ซุนจื่อ ม่อจื่อ เมิ่งจื่อ สวินจื่อ หรือหานเฟยจื่อ เป็นต้น อีกทั้ง ยุคนี้ยังเป็นยุคต้นกำเนิดของปรัชญาสำคัญ ที่ในกาลต่อมาได้กลายเป็นเสาหลักแห่งความคิดของอารยธรรรมจีน อย่าง ‘ปรัชญาขงจื่อ’ และ ‘ปรัชญาเต๋า’ นั่นเอง
ราชวงศ์ฉิน
ราชวงศ์ฉิน (221 – 207 ปี ก่อน ค.ศ.)
เนื่องจาก ฉินหวางเจิ้ง สามารถยุติความขัดแย้งในช่วงยุคจ้านกั๋ว และสามารถรวบรวมแผ่นดินจีนให้เป็นปึกแผ่นได้สำเร็จอีกครั้ง พระองค์จึงได้สถาปนาราชวงศ์ฉิน ซึ่งเป็นการปกครองระบอบรวมศูนย์อำนาจขึ้นเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์จีน และยังสถาปนา “ฮ่องเต้ หรือจักรพรรดิ” ให้เป็นตำแหน่งสูงสุดในการปกครองประเทศอีกด้วย ซึ่งฮ่องเต้ก็ถูกใช้เรื่อยมาจนถึงยุคสมบูรณาญาสิทธิราชย์ โดยพระองค์ได้สถาปนาตนเองขึ้นเป็น “ฉินสื่อหวงตี้ หรือ จิ๋นซีฮ่องเต้” ฮ่องเต้คนแรกของประวัติศาสตร์จีน พระองค์ถือเป็นผู้สร้างความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันในด้านภาษา การคมนาคม เงินตรา ระบบการชั่งตวงวัด รวมถึงเป็นผู้สร้างกำแพงเมืองจีน สิ่งก่อสร้างขนาดใหญ่ที่ใช้ในการปกป้องการรุกรานของศัตรูทางตอนเหนือของประเทศด้วย
ราชวงศ์ฮั่น (202 ปี ก่อน ค.ศ. – ค.ศ. 220)
หลังจากที่ราชวงศ์ฉินล่มสลายลงเนื่องจากการต่อต้านของชาวนาและอดีตชนชั้นปกครอง หลิวปัง ขุนศึกที่ได้รับชัยชนะจากการต่อสู้แย่งชิงความเป็นใหญ่ครั้งนี้ จึงสถาปนาตนเองขึ้นเป็นจักรพรรดิที่มีชื่อว่า “ฮั่นเกาจู่”  ราชวงศ์ฮั่นสามารถแบ่งออกได้เป็น 2 ช่วงคือ ‘ราชวงศ์ฮั่นตะวันตก’ (202 ปีก่อน ค.ศ. – ค.ศ. 8) กับ ‘ราชวงศ์ฮั่นตะวันออก’ (ค.ศ. 25 – 220) และเมื่อราชวงศ์ฮั่นตะวันออกล่มสลาย แผ่นดินจีนก็กลับมาวุ่นวายอีกครั้ง และเกิดเป็นยุคสามก๊กขึ้นมา (ค.ศ. 220 – 265) หรือการที่แผ่นดินจีนถูกแบ่งออกเป็นสามแคว้น ที่ต่อสู้แย่งชิงความเป็นใหญ่ซึ่งกันและกัน
ราชวงศ์จิ้น (ค.ศ. 265 – 420)
“จักรพรรดิจิ้นหวู่ตี้ หรือ ซือหม่าเหยียน” เป็นผู้สถาปนาราชวงศ์จิ้นขึ้น เนื่องจากพระองค์สามารถจัดการปราบสามก๊ก และรวบรวมแผ่นดินจีนเข้าไว้เป็นหนึ่งเดียวได้สำเร็จ ราชวงศ์จิ้นสามารถแบ่งย่อยได้เป็น 2 ช่วง ได้แก่ ‘จิ้นตะวันตก’ (ค.ศ. 265 – 316) กับ ‘จิ้นตะวันออก’ (ค.ศ. 317 – 420)
ราชวงศ์เหนือใต้ (ค.ศ. 420 – 589)
เมื่อราชวงศ์จิ้นล่มสลายลงของ แผ่นดินจีนก็ถูกแบ่งออกเป็น 2 ส่วน โดยมีแม่น้ำแยงซีเกียงเป็นเส้นแบ่งกึ่งกลาง แต่ละส่วนก็ต่างมีราชวงศ์สลับสับเปลี่ยนขึ้นมาปกครอง และถือเป็นยุคที่มีการต่อสู้ฆ่าฟันกันอย่างวุ่นวายมากที่สุดยุคหนึ่งในประวัติศาสตร์จีน อย่างไรก็ตาม ยุคนี้ก็เป็นการหลอมรวมกันครั้งยิ่งใหญ่ของวัฒนธรรมจีนเหนือและจีนใต้
ราชวงศ์สุย (ค.ศ. 581 – 618)
“จักรพรรดิสุยเหวินตี้ หรือหยางเจียน” เป็นผู้สถาปนาราชวงศ์นี้ขึ้นมาหลังจากที่แผ่นดินจีนแตกแยกวุ่นวาย อีกทั้ง ยังเป็นผู้เริ่มต้นระบบการสอบเข้ารับราชการหรือการสอบจอหงวน รวมถึงการขุดคลองต้าอวิ้นเหอ เพื่อเชื่อมต่อเส้นทางคมนาคมเหนือใต้เข้าหากันด้วย
ราชวงศ์ถัง (ค.ศ. 618 – 907)
“จักรพรรดิถังเกาจู่ หรือหลี่เยวียน” เป็นผู้สถาปนาราชวงศ์นี้ขึ้นจากการที่พระองค์สามารถรบชนะบรรดาขุนศึกต่างๆได้สำเร็จ ราชวงศ์ถังอาศัยรากฐานความเจริญเดิมที่ราชวงศ์สุยเคยสร้างไว้ และเพิ่มเติมความรุ่งเรืองให้แก่อาณาจักรของตนมากขึ้นไปอีก ทำให้จีนในยุคนี้ถือเป็นยุคที่เจริญรุ่งเรืองมากที่สุดในทุกด้าน หรือเรียกว่า ‘ยุคทองของประวัติศาสตร์จีน

ต้นเหตุของสงคราม

ต้นเหตุของสงคราม
ในช่วงเวลาที่สงครามโลกครั้งที่ 2 เริ่มต้นขึ้นในทวีปยุโรปในปี พ.ศ.2482 ระยะแรกของสงครามปรากฎว่า ฝ่ายอังกฤษและฝรั่งเศสเป็นฝ่ายเพลี่ยงพล้ำการรบให้แก่เยอรมนี ทำให้เยอรมนียึดเอาดินแดนในทวีปยุโรปตะวันตก ตั้งแต่ เนเธอร์แลนด์ เบลเยี่ยม ลักเซมเบิร์ก และฝรั่งเศสไว้ได้ อีกทั้งยังเข้ายึดครองประเทศนอร์เวย์และเดนมาร์คเพิ่มเติมอีกด้วย ในขณะเดียวกัน ประเทศญี่ปุ่นที่เป็นพันธมิตรกับเยอรมนี ก็ต้องการที่จะขยายอิทธิพลมายังภูมิภาคเอเชียอาคเนย์เช่นกัน จึงได้ฉวยโอกาสนี้ที่อังกฤษและฝรั่งเศสกำลังเพลี่ยงพล้ำ เข้าทำสงครามกับประเทศในแถบอินโดจีนภาคเหนือ
USSArizona_PearlHarbo
สหรัฐอเมริกา ที่เป็นพันธมิตรของอังกฤษและฝรั่งเศส เห็นว่า หากปล่อยให้ญี่ปุ่นครอบครองดินแดนในเอเชียอาคเนย์ จะเกิดเป็นภัยร้ายแรงที่ส่งผลกระทบต่อสหรัฐฯในมหาสมุทรแปซิฟิคอย่างแน่นอน อีกทั้ง ยังจะมีผลต่อระบบการป้องกันและเศรษฐกิจในสหรัฐฯอีกด้วย ทำให้สหรัฐฯต้องยื่นคำขาดขอให้ญี่ปุ่นถอนทหารออกจากจีน ไม่ฉะนั้นสหรัฐฯ จะยกเลิกสัญญาการค้าขาย รวมถึงการยึดทรัพย์สิน และงดการส่งผลิตภัณฑ์ต่างๆ จากสหรัฐฯ เข้าสู่ประเทศญี่ปุ่นด้วย ทำให้ญี่ปุ่นได้ส่งเอกอัครราชทูตพิเศษ ได้แก่ นายพล โนโมรุ และ นายกุรุสุ ไปเจรจาที่กรุงวอชิงตัน แต่ญี่ปุ่นก็หักหลังสหรัฐฯ โดยการส่งกองบินไปทิ้งระเบิดที่อ่าวเพิร์ลฮาร์เบอร์ เพื่อทำลายฐานทัพเรือและกองกำลังทางอากาศของสหรัฐฯในวันที่ 8 ธันวาคม พ.ศ.2484 และในวันเดียวกันนั้นเอง ญี่ปุ่นได้ถือโอกาสส่งกำลังทหารเข้าไปตามจุดสำคัญในเอเชียอาคเนย์ ด้วยเหตุนี้จึงทำให้ “สงครามมหาเอเชียบูรพา” เริ่มต้นขึ้นทันที
สามารถสรุปสาเหตุที่ทำให้รัฐบาลไทยต้องประกาศสงครามกับอังกฤษและสหรัฐอเมริกา ได้ดังนี้
1. กองทัพญี่ปุ่นเปลี่ยนทีท่าจากที่เดิมจะขอเดินทัพผ่านประเทศไทย เป็นการเข้ายึดครองการทหารและการคมนาคมของประเทศไทยแทน
2. กองทัพญี่ปุ่นแทรกแซงการบริหารงานของรัฐบาลไทย
3. กองทัพญี่ปุ่นเตรียมตัวสะสมยวดยานพาหนะ เครื่องมือในการรบ และแรงงาน
4. กองทัพญี่ปุ่นห้ามให้ไทยการกระจายเสียง โฆษณา ฉายภาพยนตร์ หรือสอนภาษาอังกฤษ
5. กองทัพญี่ปุ่นเริ่มผลิตธนบัตรญี่ปุ่นเพื่อใช้ในประเทศไทย
6. กองทัพญี่ปุ่นเข้ายึดทรัพย์ของชนชาติอังกฤษ สหรัฐอเมริกา และฮอลันดา  ซึ่งทำให้ภายหลังรัฐบาลไทยจำเป็นต้องชดใช้ด้วยเงินจำนวนมหาศาล
7. กองทัพญี่ปุ่นสั่งให้ส่งมอบคนอังกฤษ สหรัฐอเมริกา และฮอลันดา จำนวนหลายพันคน ที่กักกันไว้ที่มหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง ไปจองจำที่ค่ายเชลยญี่ปุ่นที่แม่น้ำแคว จังหวัดกาญจนบุรี
Greater_East_Asia_Conference
ความรุนแรงของสงครามมหาเอเชียบูรพา
ในคืนวันที่ 8 ธันวาคม พ.ศ. 2484 ทหารญี่ปุ่นได้ยกพลขึ้นบกตามฝั่งทะเลอ่าวไทย ตั้งแต่สมุทรปราการ ประจวบคีรีขันธ์ ชุมพร สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช สงขลา จนถึงปัตตานี เพื่อจะใช้เป็นทางผ่านเข้ายึดพม่าและมลายูของอังกฤษ นอกจากนี้ ยังส่งกำลังพลบางส่วนโดยสารรถไฟเข้าไปสู่อำเภออรัญประเทศใน จังหวัดปราจีนบุรีด้วย ในขณะที่กองกำลังของไทยทั้งทหาร ตำรวจ ยุวชนทหาร และพลเรือนก็พยายามต่อสู้อย่างเต็มความสามารถ แต่เมื่อถึงวันรุ่งขึ้น รัฐบาลไทยก็ต้องสั่งให้ยุติการรบ และยินยอมให้กองทัพญี่ปุ่นเคลื่อนพลผ่านประเทศไทยไป และประเทศไทยก็จำเป็นต้องทำสัญญาทางทหารร่วมกับญี่ปุ่นในวันที่ 21 ธันวาคม พ.ศ.2484 ด้วย
ไทยจำเป็นต้องประกาศสงครามต่ออังกฤษและสหรัฐอเมริกา เพื่อความอยู่รอดของประเทศชาติ อย่างไรก็ตาม ประเทศไทยยังคงไม่ได้ประกาศสงคราม จนกระทั่งในคืนของวันที่ 24 มกราคม พ.ศ. 2485 ที่พระนครของไทยถูกโจมตีทางอากาศอย่างหนัก ทำให้ในวันที่ 25 มกราคม พ.ศ. 2485 ไทยจึงได้ประกาศสงครามในที่สุด
จอมพล ป.พิบูลสงคราม ซึ่งเป็นนายกรัฐมนตรีในตอนนั้น และนายทหารชั้นผู้ใหญ่หลายคน ได้เล็งเห็นตรงกันว่า ญี่ปุ่นคงจะไม่สามารถชนะฝ่ายสัมพันธมิตรได้แน่ จอมพล ป.จึงใช้ความคิดที่จะสงวนกองกำลังของไทยเอาไว้ไม่ให้ถูกญี่ปุ่นปลดอาวุธและเข้ายึดครองประเทศไทย หากเมื่อใดที่ญี่ปุ่นเพลี่ยงพล้ำ จึงใช้กำลังทหารส่วนนี้ขับไล่ญี่ปุ่นให้ออกจากประเทศไทยไป ซึ่งจอมพล ป. ได้ให้กำลังทางบกส่วนใหญ่ย้ายไปทางเหนือของประเทศ เพื่อป้องกันไม่ให้ถูกญี่ปุ่นจู่โจมเข้าปลดอาวุธได้
ในช่วงเวลาเดียวกันนั้นเอง ฝ่ายญี่ปุ่นก็เกิดความระแวงสงสัย และเกรงว่าฝ่ายไทยจะเข้าขัดขวางการปฏิบัติหน้าที่ของกองทัพญี่ปุ่นที่กำลังทำสงครามกับพม่า กองทัพญี่ปุ่นจึงขอร้องให้รัฐบาลไทยช่วยส่งทหารไปร่วมรบในประเทศพม่าตามข้อตกลงที่เคยทำกันไว้ โดยกำหนดให้ฝ่ายไทยส่งกำลังทหารเข้าไปยึดพื้นที่ที่บริเวณรัฐฉานของพม่า ซึ่งจอมพล ป. พิบูล ก็ได้ยินยอมตามสัญญา เนื่องจากเห็นว่าตรงกับแนวความคิดที่จะนำกำลังทหารไปปฏิบัติการทางภาคเหนือของประเทศอยู่แล้ว อีกทั้งยังทำให้ญี่ปุ่นหมดความหวาดระแวงสงสัยด้วย นอกจากนี้ จะได้หาทางติดต่อกับฝ่ายสัมพันธมิตรที่เดินทางผ่านประเทศจีน ในกรณีที่ญี่ปุ่นเพลี่ยงพล้ำในการทำสงครามด้วย
การปฏิบัติการของกองทัพพายัพ 
สงครามในระยะแรก กองทัพญี่ปุ่นได้ชัยชนะเหนืออังกฤษอย่างรวดเร็ว ทำให้สถานการณ์ของอังกฤษไม่ค่อยสู้ดีเท่าไร อังกฤษจึงจำเป็นต้องถอนกองกำลังออกจากพม่าไป แต่ก่อนที่อังกฤษจะถอนกำลังออกไปจากพม่า  อังกฤษได้มอบพื้นที่และภารกิจในการต้านทานกองทัพญี่ปุ่นในสหรัฐไทยเดิม ให้แก่กองทัพจีนดูแลต่อ ซึ่งเป็นฝ่ายสัมพันธมิตร และจีนเองก็เป็นประเทศคู่สงครามกับญี่ปุ่นมาตั้งแต่ในอดีตแล้ว กองทัพจีนฝ่ายก๊กมินตั๋งภายใต้การนำของจอมพล เจียงไคเช็ค จึงได้มอบให้กองพลที่ 93 เป็นหน่วยรับผิดชอบต่อ ซึ่งกองพลที่ 93 ได้เคลื่อนพลจากเมืองเชียงรุ้ง ไปตามเส้นทางต่างๆ ได้แก่ เมืองเชียงรุ้ง – เมืองลอง – เมืองยู้ – เมืองยอง จากนั้นจึงตั้งกองบัญชาการอยู่ที่เมืองเชียงตุง
ส่วนกองทัพพายัพของไทย จัดตั้งขึ้นจากการรวมกำลังของหน่วยต่างๆทั่วประเทศ โดยมีพลตรี จรูญ รัตนกุล เสรีเริงฤทธิ์เป็นแม่ทัพ กองทัพพายัพประกอบด้วย 3 กองพล  โดยกองทัพพายัพได้เคลื่อนพลเข้าสู่ดินแดนสหรัฐไทยเดิมในวันที่ 10 พฤษภาคม พ.ศ. 2485 และได้ปฎิบัติภารกิจได้อย่างสำเร็จลุล่วง แต่ก็ต้องทนกับความลำบากอย่างยิ่ง เนื่องจากภูมิประเทศบริเวณนี้ล้วนทุรกันดาร และเต็มไปด้วยโรคภัยไข้เจ็บ กองทัพพายัพได้เคลื่อนที่จนเข้าประชิดกับชายแดนพม่า-จีน จนเมื่อถึงวันที่ 14 มกราคม พ.ศ. 2485 กองทัพพายัพบางส่วนก็เริ่มถอนกำลังกลับเข้าสู่ประเทศไทย รวมระยะเวลาที่ปฎิบัติการในพื้นที่สหรัฐไทยเดิม เท่ากับ 8 เดือน 6 วัน
การสิ้นสุดสงคราม
สงครามมหาเอเชียบูรพา เริ่มมาตั้งแต่ช่วงเดือนธันวาคม พ.ศ.2484 และมาสิ้นสุดลงเมื่อสหรัฐฯตัดสินใจส่งเครื่องบินไปทิ้งระเบิดปรมาณูที่เมืองฮิโรชิมาและเมืองนางาซากิที่ประเทศญี่ปุ่น ในวันที่ 6 สิงหาคม พ.ศ.2488 และ ในวันที่ 9 สิงหาคม พ.ศ.2488 เหตุการณ์ครั้งนี้ทำให้ประเทศญี่ปุ่นเสียหายเป็นอย่างมาก สมเด็จพระจักรพรรดิ ฮิโรฮิโต จึงมีพระบรมราชโองการให้กองทัพญี่ปุ่นทั่วทุกบริเวณ ยุติการรบอย่างสิ้นเชิงในวันที่ 14 สิงหาคม พ.ศ.2488 และในวันที่ 15 สิงหาคม พ.ศ. 2488 สมเด็จพระเจ้าจักรพรรดิ ฮิโรฮิโต ก็ทรงประกาศยอมจำนนต่อฝ่ายสัมพันธมิตรอย่างไม่มีเงื่อนไข ผ่านทางวิทยุกระจายเสียง ทำให้สงครามมหาเอเชียบูรพาที่ยืดเยื้อมาเกือบ 4 ปี ยุติลงในวันนั้นเอง
ในส่วนของประเทศไทย ก็มีพระบรมราชโองการออกมาว่า การประกาศสงครามกับอังกฤษและสหรัฐอเมริกานั้นถือเป็นโมฆะ เนื่องจากเป็นการกระทำที่ผิดไปจากความต้องการของประชาชนชาวไทย อีกทั้งยังเป็นการฝ่าฝืนต่อบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญและกฎหมายของบ้านเมืองของประเทศไทยด้วย ทั้งนี้ การที่ประเทศไทยสามารถรอดพ้นจากการถูกกล่าวหาว่าเป็นฝ่ายเดียวกับประเทศญี่ปุ่นได้ ก็เพราะว่ามีขบวนการเสรีไทย ขบวนการใต้ดินที่ปฏิบัติงานต่อต้านญี่ปุ่นอยู่ นอกจากนี้ขบวนการเสรีไทยยังให้ความช่วยเหลือแก่ฝ่ายสัมพันธมิตรมาโดยตลอด ซึ่งนับว่าเป็นส่วนสำคัญที่ช่วยให้สหรัฐฯเกิดความเห็นใจ
ประเทศไทยเป็นอย่างมาก และส่งผลให้รัฐบาลสหรัฐฯและอังกฤษ ประกาศรับรองสันติภาพของประเทศไทยในที่สุด
ผลกระทบที่ไทยได้รับในสงครามมหาเอเชียบูรพา
แม้ว่าท้ายที่สุดแล้วประเทศไทยจะไม่ถือเป็นหนึ่งในประเทศที่แพ้สงคราม แต่ตลอดระยะเวลาสงครามที่ผ่านมา ประเทศไทยก็ต้องพบกับศึกหนักทั้งการโจมตีทางอากาศ การทำลายสถานที่ราชการและบ้านเรือน ตลอดจนทำให้ชีวิตและทรัพย์สินจำนวนมากต้องได้รับความเสียหายไป หากจะประเมินมูลค่าการสูญเสียที่เป็นค่าใช้จ่ายในการสงคราม จะรวมเป็นจำนวนเงินถึง 812 ล้านบาท สูญเสียกำลังพลรวมเป็นจำนวน 5,957 คน  ซึ่งปนะกอบไปด้วย นายทหาร 143 คน, นายสิบ 474 คน, พลทหาร 4,942 คน, ตำรวจ 88 คน และพลเรือน 310 คน และนอกจากการสูญเสียที่กล่าวมาแล้ว สงครามครั้งนี้ยังส่งผลกระทบอีกหลายๆอย่างต่อประเทศไทย ดังนี้
  1. ประเทศไทยถูกบังคับด้วยสนธิสัญญาสมบูรณ์แบบ ทำให้ไทยต้องคืนดินแดนกลันตัน ตรังกานู ไทรบุรี และปะลิส มอบคืนให้แก่อังกฤษ อีกทั้งยังต้องชดใช้ค่าเสียหายใน 4 รัฐของมลายู รวมเป็นจำนวนเงิน 30 ล้านบาท และไทยยังต้องยอมขายข้าว ดีบุก ยางพารา และไม้สัก ตามราคาที่อังกฤษกำหนดด้วย พร้อมกับต้องส่งข้าวจำนวนหนึ่งล้านห้าแสนตันให้อังกฤษโดยไม่คิดมูลค่าใดๆ
  2. ประเทศไทยต้องคืนดินแดนพระตะบอง เสียมราฐ และศรีโสภณ ให้แก่ฝรั่งเศส ซึ่งได้มาตอนที่มีกรณีพิพาทอินโดจีน
  3. ประเทศไทยต้องยอมรับกับภาวะการตกต่ำของเศรษฐกิจ ทั้งภาวะเงินเฟ้อ ตลาดมืด และการกักตุนสินค้า เป็นต้น
  4. สภาพสังคมของประเทศไทยในขณะนั้นเกิดความเสื่อมโทรมเป็นอย่างมาก เต็มไปด้วยคดีอาชญากรรม และทำให้ขวัญกำลังใจของทหารและประชาชนตกต่ำลง