รายวิชา ประวัติศาสตร์ รหัสวิชา ส22102 คุณครูผู้สอน คุณครูชาญวิทย์ ปรีชาพาณิชพัฒนา โรงเรียนเสลภูมิพิทยาคม อำเภอเสลภูมิ จังหวัดร้อยเอ็ด

ข่าว

วันเสาร์ที่ 22 สิงหาคม พ.ศ. 2558

การแบ่งช่วงเวลาทางประวัติศาสตร์  มีจุดมุ่งหมายเพื่อให้การศึกษาค้นคว้าเรื่องราวเกิดความสะดวกมากขึ้น  นักประวัติศาสตร์อาศัยหลักฐานที่เป็นลายลักษณ์อักษร เพื่อใช้แบ่งยุคสมัยทางประวัติศาสตร์ตามแบบสากล ออกได้เป็น 2 สมัย ได้แก่ “สมัยก่อนประวัติศาสตร์ (Prehistorical Period)” ซึ่งหมายถึงช่วงเวลาที่มนุษย์ยังไม่รู้จักการบอกเล่าเรื่องราวผ่านตัวหนังสือ และ “สมัยประวัติศาสตร์ (Historical Period)” ซึ่งหมายถึงช่วงเวลาที่มนุษย์สามารถบอกเล่าเรื่องราวต่างๆในสังคมผ่านทางตัวหนังสือได้แล้ว
แต่ในปัจจุบัน องค์การศึกษาวิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (UNESCO) ได้กำหนดยุคสมัยเพิ่มขึ้นมาใหม่อีกหนึ่งสมัย ซึ่งก็คือ “สมัยกึ่งก่อนประวัติศาสตร์ (Protohistorical Period)” หรือหมายถึง ยุคสมัยที่มนุษย์ยังไม่รู้จักการใช้ตัวอักษรเพื่อบันทึกเรื่องราว แต่มีผู้คนจากสังคมอื่นเข้ามาพบเห็น และได้บันทึกเรื่องราวเอาไว้ให้
1) สมัยก่อนประวัติศาสตร์
สมัยนี้จะยังไม่มีหลักฐานทางประวัติศาสตร์ในรูปแบบที่เป็นลายลักษณ์อักษร  แต่จะต้องอาศัยการวิเคราะห์และตีความจากหลักฐานทางโบราณคดี  ไม่ว่าจะเป็น  เครื่องมือ  เครื่องใช้  เครื่องประดับ และโครงกระดูกมนุษย์ โดยสามารถแบ่งยุคสมัยก่อนประวัติศาสตร์ได้ ดังนี้
1.1) ยุคหิน   เริ่มขึ้นตั้งแต่ 500,000 ถึง 4,000 ปี ที่ผ่านมา  แบ่งออกได้เป็น 3 ยุคย่อย ได้แก่
1.1.1) ยุคหินเก่า เป็นช่วงเริ่มต้นของมนุษยชาติ  ในยุคนี้มนุษย์เริ่มรู้จักการใช้เครื่องมือเครื่องใช้ที่ทำด้วยหินอย่างง่ายก่อน โดยเครื่องมือจะมีลักษณะหยาบ และถูกใช้สำหรับขุดสับและสับตัดเป็นส่วนใหญ่  ส่วนการหาอาหาร มนุษย์ยุคนี้จะใช้วิธีการล่าสัตว์และหาของป่ากินเป็นอาหาร ยุคสมัยนี้สามารถแบ่งออกได้อีกเป็น 3 ช่วง คือ ยุคหินเก่าตอนต้น ยุคหินเก่าตอนกลาง และยุคหินเก่าตอนปลาย ในช่วงปลายยุคหินเก่า สามารถพบความสามารถด้านศิลปะของมนุษย์ได้ตามภาพวาดตามผนังถ้ำ ซึ่งภาพวาดที่มีชื่อเสียงอย่างมากของมนุษย์ในยุคนี้ อยู่ที่ถ้ำลาสโก ประเทศฝรั่งเศส
1.1.2) ยุคหินกลาง ช่วงเวลานี้ มนุษย์เริ่มรู้จักการทำเครื่องมือเครื่องใช้หรือเครื่องจักรสานด้วยความประณีตมากขึ้น และเริ่มอยู่รวมกลุ่มเป็นสังคมมากขึ้น ตลอดจนเริ่มรู้จักการเลี้ยงสัตว์เลี้ยง และเริ่มมีการเพาะปลูกเพื่อเป็นแหล่งอาหาร  แต่อาชีพหลักก็ยังคงเป็นการล่าสัตว์เช่นเดิม
1.1.3) หินใหม่  เป็นช่วงเวลาที่มนุษย์รู้จักการประดิษฐ์เครื่องมือด้วยหินขัดมัน  หรือที่เรียกว่า ‘ขวานหินขัด’ เพื่อใช้สำหรับตัดเฉือน ขุดหรือถาก อีกทั้ง มนุษย์ในยุคหินใหม่นี้ ยังรู้จักการตั้งถิ่นฐานเป็นหลักเป็นแหล่ง และมีการสร้างที่พักอาศัยถาวรในลักษณะที่เป็นกระท่อมดินเหนียว โดยมีการเปลี่ยนแปลงที่อยู่จากที่สูงมาเป็นที่ราบใกล้แหล่งน้ำ และอยู่อาศัยรวมกันเป็นกลุ่มหมู่บ้าน มีการเพาะปลูกและเลี้ยงสัตว์มากขึ้น  โดยพืชที่สำคัญในยุคนี้ ก็คือ ข้าว พร้อมทั้งมีการผลิตภาชนะดินเผาไว้สำหรับใช้งานด้วย
1.2) ยุคโลหะ ช่วงเวลานี้ มนุษย์มีการพัฒนาเครื่องมือเครื่องใช้มากขึ้น  โดยเริ่มรู้จักการนำเอาแร่ธาตุมาถลุง หลอม และหล่อเป็นอาวุธ เครื่องมือ และเครื่องประดับต่าง ๆ สามารถแบ่งยุคโลหะออกได้ ดังนี้
1.2.1) ยุคสำริด  เป็นช่วงเวลาที่มนุษย์ทำเครื่องมือเครื่องใช้และเครื่องประดับจากโลหะสำริด (ทองแดงผสมดีบุก) ส่วนการดำเนินชีวิตก็มีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นกว่ายุคหินมาก โดยจะอาศัยอยู่ร่วมกันเป็นชุมชนที่ขนาดใหญ่มากขึ้น
1.2.2) ยุคเหล็ก เป็นช่วงเวลาที่มนุษย์ทำเครื่องมือเครื่องใช้และเครื่องประดับจากเหล็ก เนื่องจากมีคุณภาพที่แข็งแกร่งมากกว่า  ในยุคนี้ผู้คนเริ่มมีการติดต่อค้าขายระหว่างชุมชนมากขึ้น
การแบ่งยุคสมัยประวัติศาสตร์
2) สมัยประวัติศาสตร์  
เป็นยุคสมัยที่มีการบันทึกเหตุการณ์ต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นเป็นลายลักษณ์อักษรแล้ว เนื่องจาก มนุษย์เริ่มรู้จักการประดิษฐ์ตัวอักษรขึ้นมาใช้  โดยลายลักษณ์อักษรมักพบเห็นได้ตามผนังถ้ำ  แผ่นดินเหนียว  แผ่นหิน ใบลาน และแผ่นโลหะ
ชุมชนของมนุษย์ในยุคสมัยประวัติศาสตร์  เริ่มมีการสร้างสรรค์อารยธรรมความเจริญที่แตกต่างกันออกไปตามแต่ละภูมิภาค  สมัยประวัติศาสตร์ทางสากล สามารถแบ่งออกได้เป็น 3 ยุคย่อยๆ ได้แก่
2.1) ประวัติศาสตร์สมัยโบราณ  ไล่เรียงมาตั้งแต่ ความเจริญของแหล่งอารยธรรมเมโสโปเตเมีย อารยธรรมอียิปต์โบราณ  อารยธรรมกรีก  โรมัน และจบลงที่กรุงโรมถูกตีแตกในปี พ.ศ.1019
2.2) ประวัติศาสตร์สมัยกลาง   เป็นยุคที่ต่อจากประวัติศาสตร์สมัยโบราณ เรื่อยมาจนถึงช่วงที่ชนชาติเติร์กเข้ามาโจมตีกรุงคอนสแตนติโนเปิลของจักรวรรดิโรมันตะวันออกในปี พ.ศ.1996
2.3) ประวัติศาสตร์สมัยใหม่  เป็นยุคที่ต่อจากประวัติศาสตร์สมัยกลาง  เรื่อยมาจนถึงสมัยของการสิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่ 2 ในปี พ.ศ.2488 ประวัติศาสตร์สมัยใหม่นี้มีเหตุการณ์สำคัญเกิดขึ้นหลายประการ เช่น การเกิดแนวความคิดแบบเสรีนิยม  การปฏิรูปศาสนา  การเกิดประชาธิปไตยและคอมมิวนิสต์  การขยายตัวทางการค้า  การแสวงหาดินแดนใหม่ หรือการปฏิวัติอุตสาหกรรม เป็นต้น
การแบ่งยุคสมัยตามประวัติศาสตร์ไทย
นักประวัติศาสตร์ ได้แบ่งช่วงเวลาทางประวัติศาสตร์ไทย  ออกเป็นลักษณะเฉพาะได้ดังต่อไปนี้
1) การแบ่งตามสมัยหรือตามเวลาที่เริ่มมีตัวอักษร สามารถแบ่งย่อยได้ 2 สมัย ได้แก่
1.1) สมัยก่อนประวัติศาสตร์  คือ ยุคสมัยที่ยังไม่มีการบันทึกเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเป็นลายลักษณ์อักษร  แบ่งออกเป็นยุคย่อยๆได้เช่นเดียวกันกับการแบ่งตามแบบสากล ได้แก่ ยุคหินเก่า  ยุคหินกลาง  ยุคหินใหม่ ยุคสำริด  และยุคเหล็ก
1.2) สมัยประวัติศาสตร์  คือ ยุคสมัยที่มนุษย์เริ่มรู้จักการใช้ตัวอักษรบอกเล่าเรื่องราวหรือเหตุการณ์ต่าง ๆที่เกิดขึ้นได้แล้ว ซึ่งหลักฐานทางประวัติศาสตร์ไทยที่สำคัญ ก็คือ หลักศิลาจารึก นั่นเอง
2) การแบ่งยุคสมัยตามอาณาจักร  ประเทศไทยแบ่งยุคสมัยตามอาณาจักรออกได้ดังต่อไปนี้  ได้แก่ อาณาจักรทวารวดี อาณาจักรละโว้ อาณาจักรตามพรลิงค์ อาณาจักรศรีวิชัย และอาณาจักรหริภุญชัย
3) การแบ่งยุคสมัยตามราชธานี   เนื่องจากประเทศไทยมีการเปลี่ยนแปลงการปกครองตามยุคสมัยได้หลายราชธานี การแบ่งยุคสมัยทางประวัติศาสตร์ตามราชธานี  จึงเป็นอีกหนึ่งวิธีที่คนไทยนิยมใช้   โดยสามารถเรียงลำดับยุคสมัยตามราชธานีได้ดังนี้ ได้แก่  สมัยสุโขทัย  สมัยอยุธยา  สมัยธนบุรี และสมัยรัตนโกสินทร์
4) การแบ่งยุคสมัยตามพระราชวงศ์  เนื่องด้วยความหลากหลายของราชวงศ์ การแบ่งยุคตามราชวงศ์จึงเป็นอีกหนึ่งแนวทางที่คนไทยใช้ในการแบ่งยุคสมัยทางประวัติศาสตร์  เช่น  สมัยราชวงศ์พระร่วง สมัยราชวงศ์อู่ทอง  สมัยราชวงศ์สุพรรณภูมิ  สมัยราชวงศ์สุโขทัย  สมัยราชวงศ์ปราสาททอง  สมัยราชวงศ์บ้านพลูหลวง หรือสมัยราชวงศ์จักรี เป็นต้น
5) การแบ่งยุคสมัยตามรัชกาล  เป็นการแบ่งยุคสมัยตามเวลาที่พระมหากษัตริย์ขึ้นครองราชย์ เช่น   รัชสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช  รัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก เป็นต้น
6) การแบ่งยุคสมัยตามระบอบการปกครอง  มีเพียง 2 ยุคสมัย ได้แก่ สมัยสมบูรณาญาสิทธิราชย์และสมัยประชาธิปไตย โดยมีจุดเปลี่ยนการปกครองในสองรูปแบบตรงกับวันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2475