รายวิชา ประวัติศาสตร์ รหัสวิชา ส22102 คุณครูผู้สอน คุณครูชาญวิทย์ ปรีชาพาณิชพัฒนา โรงเรียนเสลภูมิพิทยาคม อำเภอเสลภูมิ จังหวัดร้อยเอ็ด

ข่าว

วันเสาร์ที่ 22 สิงหาคม พ.ศ. 2558

ญี่ปุ่น

ญี่ปุ่น ก็เป็นอีกหนึ่งประเทศในทวีปเอเชียที่มีประวัติศาสตร์ความเป็นมาที่ยาวนานไม่แพ้ชาติไหน แต่หลักฐานที่บอกเล่าเรื่องราวยังไม่ปรากฏชัดเจนอย่างแน่นอน ซึ่งจากการคาดเดากล่าวไว้ว่า กลุ่มคนที่เข้ามาอาศัยอยู่ในญี่ปุ่นกลุ่มแรกน่าจะเป็นชาวไซบีเรีย ชาวเกาหลี หรือชาวจีนที่อพยพมาจากที่อื่น ส่วนหลักฐานทางอารยธรรมของญี่ปุ่นในยุคหินใหม่ ถูกพบเมื่อราวหนึ่งหมื่นปีก่อนคริสตกาล ซึ่งปัจจุบันคนพื้นเมืองที่ยังคงเหลืออยู่มีเพียง ‘ชนเผ่าไอนุ (Ainu)’ เท่านั้น
สามารถแบ่งยุคสมัยในญี่ปุ่นออกได้ 3 ยุค ได้แก่

1. ยุคแรก ยุคก่อนประวัติศาสตร์ หรือ ยุคโบราณ

ในยุคนี้ผู้คนจะอยู่อาศัยโดยการขุดโพรง และล่าสัตว์เพื่อใช้เป็นอาหาร แต่ต่อมาภายหลังก็เริ่มรู้จักการปลูกข้าวเป็นอาหารมากขึ้น
ยุคหิน
จากการสำรวจ พบว่า ผู้คนอาศัยอยู่บนหมู่เกาะญี่ปุ่นมากว่า 100,000 ปีมาแล้ว ซึ่งตอนนั้นญี่ปุ่นยังคงมีแผ่นดินเป็นส่วนเดียวกับทวีปเอเชีย คนโบราณในสมัยนั้น จะหาเลี้ยงชีพด้วยการล่าสัตว์และเก็บของป่าเป็นหลัก ยุคหิน ดำรงเรื่อยมาจนมาสิ้นสุดลงในช่วงประมาณ 12,000 – 11,000 ปีก่อน ซึ่งมีผลทำให้วิถีชีวิตของมนุษย์ทั่วโลกเปลี่ยนไปเป็นอย่างมาก
ยุคโจมง
ยุคโจมง (โจมงจิได) เกิดในช่วงประมาณ 10,000 ปีที่แล้วมา ยุคโจมง พบการผลิตเครื่องมือเครื่องใช้ที่ทำจากหินที่ประณีตมากขึ้น รวมถึงการใช้อาวุธที่เป็นธนูในการล่าสัตว์ด้วย นอกจากนี้ ยังมีการผลิตเครื่องปั้นดินเผาเอาไว้ใช้สำหรับใส่อาหาร โดยเครื่องปั้นดินเผาโจมงจะมีเอกลักษณ์ตรงที่มีลวดลายเป็นเชือกที่สวยงาม
ยุคยะโยอิ 
คำว่ายะโยอินั้น เป็นชื่อของแขวงหนึ่งในเขตบุงเกียว กรุงโตเกียว ซึ่งเป็นสถานที่แรกที่มีการค้นพบหลักฐานที่เกี่ยวข้องกับยุคนี้  มนุษย์ในช่วงต้นของยุคยะโยอิ เริ่มเรียนรู้การใช้ชีวิตต่างๆมากขึ้น เช่น การปลูกข้าว การทำเครื่องใช้โลหะ และการเคารพบูชาภูติผีปีศาจ เป็นต้น และชาวญี่ปุ่นก็มักจะใช้เครื่องมือเครื่องใช้ที่ผลิตจากเหล็กในการทำเกษตรกรรมเสมอ ส่วนดาบที่ทำด้วยทองแดงและกระจก จะถูกใช้ในการประกอบพิธีกรรมทางศาสนาต่างๆ นอกจากนี้ ยุคยะโยอิยังเริ่มมีการจัดแบ่งงานในการปกครองที่ครอบคลุมมากขึ้น ทำให้ช่องว่างระหว่างผู้ปกครองและผู้อยู่ใต้การปกครองขยายตัวกว้างมากขึ้น และเป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดเป็นรัฐเล็กๆขึ้นทั่วประเทศนั่นเอง

2. ยุคที่สอง หรือ ยุคกลาง

ในยุคที่สองนี้ การปกครองแบบโชกุนเข้ามามีบทบาทมากยิ่งขึ้น และลดทอนอำนาจของจักรพรรดิลง อีกทั้งยังเป็นยุคสมัยแห่งการเริ่มต้นของระบบศักดินา ที่มีประวัติความเป็นมาอันแสนยาวนานด้วย
ยุคโคะฟุง
ยุคโคะฟุง (โคะฮุงจิได) เป็นชื่อยุคที่ตั้งตามชื่อสุสานที่นิยมสร้างกันอย่างแพร่หลายในยุคนี้ บ้านเมืองในยุคโคะฟุงจะมีลักษณะเป็นรัฐเล็กๆ และรวมตัวกันจนเป็นปึกแผ่น ในยุคนี้พบว่ามีชาวจีนกลุ่มหนึ่งได้ย้ายถิ่นฐานเข้ามาอาศัยอยู่ในญี่ปุ่นด้วย ทำให้การถ่ายทอดอารยธรรมแบบจีนเริ่มเกิดขึ้นนับตั้งแต่บัดนั้นเป็นต้นมา
ตั้งแต่ศตวรรษที่ 4 ถึง 6 ได้มีกลุ่มผู้คนที่มีความเข้มแข็งทางการเมืองมากขึ้น โดยพวกเขามีศูนย์กลางอยู่ที่บริเวณที่ราบยะมะโตะ  พวกเขาได้ทำการพัฒนาและเปลี่ยนแปลงการเกษตรกรรมครั้งยิ่งใหญ่ พร้อมกับการรับเอาวัฒนธรรมจีน รวมทั้งลัทธิขงจื๊อและศาสนาพุทธ เข้ามาในประเทศญี่ปุ่นด้วย ส่วนเมื่อถึงปลายศตวรรษที่ 4 ก็ได้มีการติดต่อค้าขายกับอาณาจักรบนคาบสมุทรเกาหลีมากขึ้นด้วย
ในยุคโคะฟุงนี้ ญี่ปุ่นได้รับเอาตัวอักษรแบบจีนที่มีรากฐานมาจากอักษรภาพ มาใช้เป็นตัวกลางในการสื่อสาร อีกทั้ง ชาวญี่ปุ่นยังได้เรียนรู้การแพทย์เบื้องต้น การดาราศาสตร์ และการใช้ปฏิทินด้วย
ยุคอะซึกะ
ยุคอะซึกะ เป็นยุคที่ศูนย์กลางการปกครองของระบอบกษัตริย์ยะมะโตะ มีศุนย์กลางอยู่ที่อะซึกะ จังหวัดนะระ และเมื่อศาสนาพุทธได้เข้ามาเผยแพร่ในญี่ปุ่น จึงทำให้ผู้ปกครองญี่ปุ่นถือเอาระบบการปกครองของจีนมาใช้เป็นแนวทางในการปกครองบ้านเมืองตน
เมื่อราวปลายคริสต์ศตวรรษที่ 6 ราชวงศ์สุยของจีน ได้รวมประเทศญี่ปุ่นขึ้นมาใหม่อีกครั้ง โดยญี่ปุ่นได้ให้เจ้าชายโชโตะกุ เป็นผู้สำเร็จราชการแทนจักรพรรดินีซุยโกะ และส่งคณะราชทูต “เคนซุยชิ” ไปเจริญสัมพันธไมตรีกับจีน ซึ่งการกระทำดังกล่าวนี้มีผลให้ญี่ปุ่นรับเอานวัตกรรมจากจีนแผ่นดินใหญ่เข้ามาอย่างมากมาย นอกจากนั้น ยังมีการตรารัฐธรรมนูญสิบเจ็ดมาตรา และการสร้างวัดโฮริว วัดไม้ที่เก่าแก่มากที่สุดในญี่ปุ่นขึ้นในยุคสมัยนี้ด้วย
ยุคนะระ
ในยุคนี้ ได้มีตั้งเมืองหลวงถาวรแห่งแรกของญี่ปุ่นขึ้นที่ เฮโจเกียว ซึ่งเป็นเมืองที่สร้างเลียนแบบมาจากเมืองฉางอาน เมืองหลวงของประเทศจีน เมืองหลวงแห่งใหม่นี้มีราชวงศ์ของญี่ปุ่นเป็นผู้ปกครอง แต่ระบอบการปกครองกลับเป็นไปตามแนวคิดแบบจีน และด้วยความแตกต่างของเชื้อชาติ ทำให้เกิดเป็นปัญหาแบบลูกโซ่ขึ้น ส่วนวัฒนธรรมและสถาปัตยกรรมที่ปรากฏในยุคนี้ ก็ยังคงพบเห็นวัฒนธรรมที่เป็นแบบจีนอยู่ แต่จะมีความแตกต่างทางละเอียดที่ไม่เหมือนกันบ้างเล็กน้อย
ยุคเฮอัง
หลังจากการล่มสลายของยุคนะระ ทำให้ญี่ปุ่นสร้างอารยธรรมใหม่ขึ้นพร้อมๆกับการกำเนิดยุคใหม่ที่มีชื่อว่า ยุคเฮอัง (เฮอังจิได) ในยุคนี้ อารยธรรมญี่ปุ่นเริ่มที่จะมีลักษณะที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัวมากขึ้น กว่าการลอกเลียนวัฒนธรรมของจีนแบบที่แล้วๆมา
คนในเมืองหลวงของยุคเฮอังใช้ชีวิตด้วยความหรูหราเป็นอย่างมาก ในขณะที่ราชสำนักก็ใช้เวลาส่วนใหญ่ไปกับศิลปะและความสุขทางสังคม ทำให้อำนาจการปกครองตามหัวเมืองต่างๆเริ่มสั่นคลอนและเสื่อมลงในที่สุด ในช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 11 อำนาจการปกครองตกไปอยู่ในมือของตระกูลฟุจิวะระ และทำให้เกิดการต่อสู้ของตระกูลนักรบต่างๆเพื่อแย่งชิงอำนาจ  ในที่สุดตระกูลมินะโมะโตะก็ได้รับชัยชนะ  และสามารถโค่นล้มตระกูลไทระได้สำเร็จ
samurai
ยุคคะมะกุระ
ชัยชนะของตระกูลมินะโมะโตะ เชื่อมโยงถึงจุดเริ่มต้นการปกครองรูปแบบใหม่ในระบอบศักดินา ยุคกลางของญี่ปุ่นที่อยู่ภายใต้อำนาจของโชกุน ยุคคะมะกุระ (คะมะกุระจิได) เริ่มต้นขึ้นในปี พ.ศ. 1728 (ค.ศ. 1185)
ในยุคสมัยคะมะกุระนี้ แนวคิดเรื่องความกล้าหาญและการรักในเกียรติยศตามวิถีชีวิตของซามูไร เป็นที่โดดเด่นและเป็นเอกลักษณ์เป็นอย่างมาก แต่เมื่อถึงปี พ.ศ. 1761 (ค.ศ. 1213) อำนาจการปกครองก็ตกไปอยู่ในมือของตระกูลโฮโจแทน ในยุคนี้ กองทัพมองโกลได้บุกเข้าทำสงครามกับตอนเหนือของเกาะคิวชูถึง 2 ครั้ง และถึงแม้ว่านักรบญี่ปุ่นจะมีอาวุธที่ด้อยกว่า แต่ด้วยความกล้าหาญของพวกเขา ก็ทำให้ญี่ปุ่นสามารถป้องกันรักษาพื้นที่เอาไว้ได้
ยุคมุโระมะจิ
ยุคนี้มีการปรับปรุงและพัฒนาในด้านระบบการชลประทาน การเพาะปลูก และยังมีการเติบโตในด้านกิจการค้าขายและบริการด้วย นอกจากนี้ ชาวโปรตุเกส ซึ่งเป็นชาวตะวันตกกลุ่มแรก ก็ได้เริ่มเข้ามาสู่ญี่ปุ่นในยุคนี้ด้วย  อย่างไรก็ตาม การปกครองระบอบโชกุนเกิดการเสื่อมถอยลงในยุคนี้เช่นกัน และทำให้เกิดเป็นสงครามกลางเมืองที่กินเวลายาวนานกว่า 100 ปี ในที่สุด โนะบุนะงะ โอะดะ ก็สามารถกำจัดอิทธิพลของมุโระมะจิลงได้ และได้สร้างอารยธรรมอะซุจิโมโมะยะมะขึ้นมาแทนที่
ยุคอะซุจิโมโมะยะมะ
ยุคนี้เป็นยุคสั้นๆ ที่มีการพัฒนาด้านสิ่งทอ เซรามิก ภาพวาด เครื่องเงิน และอุปกรณ์เกี่ยวกับชา หรืออาจกล่าวได้ว่า ยุคอะซุจิโมโมะยะมะเป็นยุคที่หรูหราที่สุดยุคหนึ่งในญี่ปุ่นเลยก็ว่าได้
ยุคเอะโดะ
ยุคเอะโดะ ถือเป็นจุดเปลี่ยนของเหตุการณ์ประวัติศาสตร์ญี่ปุ่นที่สำคัญเป็นอย่างมาก เนื่องจากโชกุนอิเอะยะสึได้สร้างแบบแผนทางการเมืองและสังคมขึ้นมาใหม่ และแบบแผนนี้ก็ถูกสืบทอดต่อเนื่องยาวนานมาอีก 265 ปีด้วย
การหลั่งไหลเข้ามาของชาวยุโรปในยุคนี้ ทำให้ญี่ปุ่นต้องเปลี่ยนแปลงตัวเองไปเป็นอย่างมาก ชาวญี่ปุ่นบางคนโดยเฉพาะทางตอนใต้ของญี่ปุ่น เปลี่ยนไปนับถือศาสนาคริสต์กันเป็นจำนวนมาก ซึ่งโชกุนก็ทราบดีว่าศาสนาคริสต์จะเข้ามาทำลายญี่ปุ่นในวันข้างหน้าอย่างแน่นอน ทำให้โชกุนต้องมีคำสั่งห้ามเผยแพร่ศาสนาคริสต์ในประเทศ และห้ามชาวต่างชาติทุกคนเข้าสู่ประเทศญี่ปุ่น ยกเว้นกลุ่มพ่อค้ากลุ่มเล็กๆ
ความสงบสุขจากการปิดประเทศ ทำให้ชาวเมืองญี่ปุ่นมีโอกาสที่จะประดิษฐ์สิ่งใหม่ๆขึ้นตลอดเวลา จนเมื่อถึงกลางคริสต์ศตวรรษที่ 18 วิทยาการสมัยใหม่ทั้งการแพทย์ ดาราศาสตร์ ภูมิศาสตร์ คณิตศาสตร์ หรือประวัติศาสตร์ก็ถูกพัฒนามากขึ้น การเรียนพิเศษ หรือที่เรียกว่า เทระโกะยะ ก็เป็นอีกหนึ่งสิ่งที่ได้รับการยอมรับอย่างมากในยุคนี้
ในปี พ.ศ. 2396 สหรัฐอเมริกาสามารถจูงใจญี่ปุ่น ให้ลงนามในสนธิสัญญาเพื่อผูกสัมพันธไมตรีกับประเทศสหรัฐอเมริกาได้สำเร็จ และในปีเดียวกันนั้นเอง ญี่ปุ่นได้ทำสนธิสัญญากับประเทศรัสเซีย อังกฤษ และเนเธอร์แลนด์ ตามมาด้วย ซึ่งการกดดันของต่างชาติ ทำให้ระบบศักดินาของโชกุนโตกุงาวะสิ้นสุดลงในปี พ.ศ. 2410 (ค.ศ. 1867) ในที่สุด
 

3. ยุคที่สาม หรือ ยุคใหม่

ในยุคใหม่นี้ โชกุนและไดเมียว ถือเป็นผู้ที่มีอำนาจสิทธิขาดเสรี และในยุคนี้ประเทศญี่ปุ่นก็มีการติดต่อค้าขายกับชาวต่างประเทศมากยิ่งขึ้น
ปราสาทฮิเมจิ
ยุคเมจิ
ยุคเมจิ เป็นยุคที่โดดเด่นมากที่สุดในประวัติศาสตร์ญี่ปุ่น เนื่องจากในยุคนี้ ชาวญี่ปุ่นสามารถพัฒนาประเทศให้เข้าสู่ยุคของอุตสาหกรรมได้อย่างรวดเร็ว และสามารถพัฒนาสถาบันทางการเมืองได้เป็นอย่างดีด้วยเช่นกัน
ในช่วงปีแรกๆ สมเด็จพระจักรพรรดิเมจิได้ทรงย้ายเมืองหลวงไปอยู่ที่เมืองเอโดะ พร้อมเปลี่ยนชื่อเมืองหลวงเป็น “โตเกียว” นอกจากนี้ ได้ประกาศใช้รัฐธรรมนูญ ตั้งคณะรัฐมนตรี และสภาบันนิติบัญญัติระบบ 2 สภา ขึ้นเพื่อปกครองบ้านเมือง แทนการปกครองแบบแบ่งชนชั้นแบบเก่าด้วย
ในศตวรรษที่ 19 ญี่ปุ่นเข้าร่วมสงครามจีน-ญี่ปุ่นครั้งที่ 1 ซึ่งชัยชนะที่ญี่ปุ่นได้รับ ทำให้ญี่ปุ่นได้ไต้หวันมาครอบครอง และอีกสิบปีต่อมา ญี่ปุ่นก็ยังได้รับชัยชนะในสงครามรัสเซีย-ญี่ปุ่น และสามารถยึดซัคคาลินตอนใต้มาครอบครองได้เช่นกัน  ทำให้เมื่อสงครามโลกครั้งที่ 1 สิ้นสุดลง ประเทศญี่ปุ่นก็กลายเป็นหนึ่งในประเทศมหาอำนาจของโลกไปแล้ว
ยุคไทโช และโชวะ
อุตสาหกรรมของประเทศในสมัยโชวะ ยังคงเติบโตต่อไปข้างหน้าอย่างรวดเร็ว อย่างไรก็ตาม สภาวะเศรษฐกิจที่ตกต่ำไปทั่วโลก ก็มีผลให้เศรษฐกิจญี่ปุ่นเกิดความไม่มั่นคงตามไปด้วยเช่นกัน ประชาชนจึงเริ่มเกิดความไม่เชื่อมั่นในพรรคการเมืองที่ทำหน้าที่บริหารประเทศ จนในที่สุด พรรคการเมืองทั้งหมดก็ยุบรวมกันเป็น ‘พรรคการเมืองแห่งชาติ’ ซึ่งมีหน้าที่ในการปกครองญี่ปุ่นในเวลาต่อมา
ใน ค.ศ. 1945 ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่ญี่ปุ่นพ่ายแพ้ในลงครามโลกครั้งที่ 2 ญี่ปุ่นจึงจำเป็นต้องตกอยู่ภายใต้การควบคุมของฝ่ายสัมพันธมิตรที่นำโดย พลเอกดักลาส แม็คอาเธอร์ แห่งประเทศสหรัฐอเมริกา  ญี่ปุ่นต้องยินยอมทำตามข้อกำหนดต่างๆมากมายในฐานะที่ตนนั้นเป็นฝ่ายแพ้สงคราม เช่น ห้ามมีกองกำลังปกป้องประเทศ เป็นต้น อย่างไรก็ตาม การที่รัฐบาลญี่ปุ่นสนับสนุนการศึกษา วิทยาศาสตร์ วัฒนธรรม หรือเทคโนโลยีต่างๆ ทำให้ญี่ปุนสามารถพัฒนาตนเองให้ทันต่อการเปลี่ยนแปลงของโลกได้อย่างรวดเร็ว
ส่วยการฟื้นฟูสภาพเศรษฐกิจหลังสงครามโลก ญี่ปุ่นก็ได้รับการสนับสนุนจากสหรัฐอเมริกาและชาติอื่นๆเป็นอย่างมาก ทำให้ญี่ปุ่นสามารถเข้ามามีส่วนร่วมในการค้าเสรีของหลายฝ่าย และเพียงไม่กี่ปี ญี่ปุ่นก็กลายเป็นประเทศที่มีความเข้มแข็งทางเศรษฐกิจขึ้นมาได้อย่างรวดเร็ว นอกจากการปรับปรุงเศรษฐกิจแล้ว ญี่ปุ่นก็ยังพยายามปรับปรุงสถานะทางการทูตระหว่างประเทศด้วย โดยญี่ปุ่นได้เข้าเป็นหนึ่งในสมาชิกขององค์การสหประชาชาติ และร่วมเข้าประชุมการอภิปรายระหว่างประเทศตลอดมา
ญี่ปุ่นสามารถชำระเงินค่าปฏิกรรมสงครามได้อย่างครบถ้วนภายในกลางทศวรรษที่ 1960 ซึ่งใช้เวลาเพียงแค่ 20 ปี หลังจากการแพ้สงครามเท่านั้น ประเทศญี่ปุ่นสามารถฟื้นตัวเองกลับมายืนขึ้นอย่างสง่าผ่าเผยได้อีกครั้ง พร้อมกับการเป็นประเทศที่มีบทบาทในหมู่ประชาคมระหว่างประเทศที่มากขึ้นด้วย
หลังจากช่วงกลางทศวรรษที่ 1960 ญี่ปุ่นก็พบกับปัญหาใหม่ๆ เนื่องจาก ประชาชนมีความต้องการที่เพิ่มมากขึ้น และเริ่มที่จะค้นหาเป้าหมายอื่นๆ เพื่อปรับปรุงคุณภาพชีวิตของตนเอง เช่น นักศึกษาไม่พอใจต่อการเรียนในโรงเรียนหรือมหาวิทยาลัย ประชาชนเรียกร้องความเท่าเทียมกันในสังคม เป็นต้น ทำให้ประเทศญี่ปุ่นจำเป็นต้องถีบตัวเองให้เกิดการพัฒนาไปมากกว่าที่เคยเป็น
ในช่วงทศวรรษที่ 1970 พบว่าเศรษฐกิจญี่ปุ่นมีแนวโน้มการเติบโตที่ตกต่ำลง ทำให้ชาวญี่ปุ่นเกิดการเปลี่ยนแปลงทางความคิด และการดำเนินชีวิตไปเป็นอย่างมาก และเป็นผลให้ชาวญี่ปุ่นจำนวนมากให้ความสำคัญกับการแสวงหาเป้าหมายในการดำเนินชีวิตในแต่ละบุคคล จนเมื่อถึงช่วงกลางทศวรรษที่ 1980 รัฐบาลญี่ปุ่นก็เริ่มขยายความช่วยเหลือเข้าไปให้แก่ประชาคมโลก เนื่องจากญี่ปุ่นมีกำลังที่เพียบพร้อม และถือเป็นอีกหนึ่งความคาดหวังของประเทศอื่นๆ ทั่วโลก
ในปี ค.ศ. 1989 จักรพรรดิฮิโระฮิโตะได้เสด็จสวรรคตไป ทำให้จักรพรรดิอะกิฮิโตะขึ้นครองราชย์เป็นจักรพรรดิองค์ใหม่แทน และช่วงเวลาดังกล่าวนี้ก็ถือเป็นจุดสิ้นสุดของยุคโชวะ และหลังจากนั้น ยุคเฮเซก็ถือกำเนิดขึ้น และต่อเนื่องยาวนานมาจนถึงปัจจุบัน

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น