รายวิชา ประวัติศาสตร์ รหัสวิชา ส22102 คุณครูผู้สอน คุณครูชาญวิทย์ ปรีชาพาณิชพัฒนา โรงเรียนเสลภูมิพิทยาคม อำเภอเสลภูมิ จังหวัดร้อยเอ็ด

ข่าว

วันเสาร์ที่ 22 สิงหาคม พ.ศ. 2558

ต้นเหตุของสงคราม

ต้นเหตุของสงคราม
ในช่วงเวลาที่สงครามโลกครั้งที่ 2 เริ่มต้นขึ้นในทวีปยุโรปในปี พ.ศ.2482 ระยะแรกของสงครามปรากฎว่า ฝ่ายอังกฤษและฝรั่งเศสเป็นฝ่ายเพลี่ยงพล้ำการรบให้แก่เยอรมนี ทำให้เยอรมนียึดเอาดินแดนในทวีปยุโรปตะวันตก ตั้งแต่ เนเธอร์แลนด์ เบลเยี่ยม ลักเซมเบิร์ก และฝรั่งเศสไว้ได้ อีกทั้งยังเข้ายึดครองประเทศนอร์เวย์และเดนมาร์คเพิ่มเติมอีกด้วย ในขณะเดียวกัน ประเทศญี่ปุ่นที่เป็นพันธมิตรกับเยอรมนี ก็ต้องการที่จะขยายอิทธิพลมายังภูมิภาคเอเชียอาคเนย์เช่นกัน จึงได้ฉวยโอกาสนี้ที่อังกฤษและฝรั่งเศสกำลังเพลี่ยงพล้ำ เข้าทำสงครามกับประเทศในแถบอินโดจีนภาคเหนือ
USSArizona_PearlHarbo
สหรัฐอเมริกา ที่เป็นพันธมิตรของอังกฤษและฝรั่งเศส เห็นว่า หากปล่อยให้ญี่ปุ่นครอบครองดินแดนในเอเชียอาคเนย์ จะเกิดเป็นภัยร้ายแรงที่ส่งผลกระทบต่อสหรัฐฯในมหาสมุทรแปซิฟิคอย่างแน่นอน อีกทั้ง ยังจะมีผลต่อระบบการป้องกันและเศรษฐกิจในสหรัฐฯอีกด้วย ทำให้สหรัฐฯต้องยื่นคำขาดขอให้ญี่ปุ่นถอนทหารออกจากจีน ไม่ฉะนั้นสหรัฐฯ จะยกเลิกสัญญาการค้าขาย รวมถึงการยึดทรัพย์สิน และงดการส่งผลิตภัณฑ์ต่างๆ จากสหรัฐฯ เข้าสู่ประเทศญี่ปุ่นด้วย ทำให้ญี่ปุ่นได้ส่งเอกอัครราชทูตพิเศษ ได้แก่ นายพล โนโมรุ และ นายกุรุสุ ไปเจรจาที่กรุงวอชิงตัน แต่ญี่ปุ่นก็หักหลังสหรัฐฯ โดยการส่งกองบินไปทิ้งระเบิดที่อ่าวเพิร์ลฮาร์เบอร์ เพื่อทำลายฐานทัพเรือและกองกำลังทางอากาศของสหรัฐฯในวันที่ 8 ธันวาคม พ.ศ.2484 และในวันเดียวกันนั้นเอง ญี่ปุ่นได้ถือโอกาสส่งกำลังทหารเข้าไปตามจุดสำคัญในเอเชียอาคเนย์ ด้วยเหตุนี้จึงทำให้ “สงครามมหาเอเชียบูรพา” เริ่มต้นขึ้นทันที
สามารถสรุปสาเหตุที่ทำให้รัฐบาลไทยต้องประกาศสงครามกับอังกฤษและสหรัฐอเมริกา ได้ดังนี้
1. กองทัพญี่ปุ่นเปลี่ยนทีท่าจากที่เดิมจะขอเดินทัพผ่านประเทศไทย เป็นการเข้ายึดครองการทหารและการคมนาคมของประเทศไทยแทน
2. กองทัพญี่ปุ่นแทรกแซงการบริหารงานของรัฐบาลไทย
3. กองทัพญี่ปุ่นเตรียมตัวสะสมยวดยานพาหนะ เครื่องมือในการรบ และแรงงาน
4. กองทัพญี่ปุ่นห้ามให้ไทยการกระจายเสียง โฆษณา ฉายภาพยนตร์ หรือสอนภาษาอังกฤษ
5. กองทัพญี่ปุ่นเริ่มผลิตธนบัตรญี่ปุ่นเพื่อใช้ในประเทศไทย
6. กองทัพญี่ปุ่นเข้ายึดทรัพย์ของชนชาติอังกฤษ สหรัฐอเมริกา และฮอลันดา  ซึ่งทำให้ภายหลังรัฐบาลไทยจำเป็นต้องชดใช้ด้วยเงินจำนวนมหาศาล
7. กองทัพญี่ปุ่นสั่งให้ส่งมอบคนอังกฤษ สหรัฐอเมริกา และฮอลันดา จำนวนหลายพันคน ที่กักกันไว้ที่มหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง ไปจองจำที่ค่ายเชลยญี่ปุ่นที่แม่น้ำแคว จังหวัดกาญจนบุรี
Greater_East_Asia_Conference
ความรุนแรงของสงครามมหาเอเชียบูรพา
ในคืนวันที่ 8 ธันวาคม พ.ศ. 2484 ทหารญี่ปุ่นได้ยกพลขึ้นบกตามฝั่งทะเลอ่าวไทย ตั้งแต่สมุทรปราการ ประจวบคีรีขันธ์ ชุมพร สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช สงขลา จนถึงปัตตานี เพื่อจะใช้เป็นทางผ่านเข้ายึดพม่าและมลายูของอังกฤษ นอกจากนี้ ยังส่งกำลังพลบางส่วนโดยสารรถไฟเข้าไปสู่อำเภออรัญประเทศใน จังหวัดปราจีนบุรีด้วย ในขณะที่กองกำลังของไทยทั้งทหาร ตำรวจ ยุวชนทหาร และพลเรือนก็พยายามต่อสู้อย่างเต็มความสามารถ แต่เมื่อถึงวันรุ่งขึ้น รัฐบาลไทยก็ต้องสั่งให้ยุติการรบ และยินยอมให้กองทัพญี่ปุ่นเคลื่อนพลผ่านประเทศไทยไป และประเทศไทยก็จำเป็นต้องทำสัญญาทางทหารร่วมกับญี่ปุ่นในวันที่ 21 ธันวาคม พ.ศ.2484 ด้วย
ไทยจำเป็นต้องประกาศสงครามต่ออังกฤษและสหรัฐอเมริกา เพื่อความอยู่รอดของประเทศชาติ อย่างไรก็ตาม ประเทศไทยยังคงไม่ได้ประกาศสงคราม จนกระทั่งในคืนของวันที่ 24 มกราคม พ.ศ. 2485 ที่พระนครของไทยถูกโจมตีทางอากาศอย่างหนัก ทำให้ในวันที่ 25 มกราคม พ.ศ. 2485 ไทยจึงได้ประกาศสงครามในที่สุด
จอมพล ป.พิบูลสงคราม ซึ่งเป็นนายกรัฐมนตรีในตอนนั้น และนายทหารชั้นผู้ใหญ่หลายคน ได้เล็งเห็นตรงกันว่า ญี่ปุ่นคงจะไม่สามารถชนะฝ่ายสัมพันธมิตรได้แน่ จอมพล ป.จึงใช้ความคิดที่จะสงวนกองกำลังของไทยเอาไว้ไม่ให้ถูกญี่ปุ่นปลดอาวุธและเข้ายึดครองประเทศไทย หากเมื่อใดที่ญี่ปุ่นเพลี่ยงพล้ำ จึงใช้กำลังทหารส่วนนี้ขับไล่ญี่ปุ่นให้ออกจากประเทศไทยไป ซึ่งจอมพล ป. ได้ให้กำลังทางบกส่วนใหญ่ย้ายไปทางเหนือของประเทศ เพื่อป้องกันไม่ให้ถูกญี่ปุ่นจู่โจมเข้าปลดอาวุธได้
ในช่วงเวลาเดียวกันนั้นเอง ฝ่ายญี่ปุ่นก็เกิดความระแวงสงสัย และเกรงว่าฝ่ายไทยจะเข้าขัดขวางการปฏิบัติหน้าที่ของกองทัพญี่ปุ่นที่กำลังทำสงครามกับพม่า กองทัพญี่ปุ่นจึงขอร้องให้รัฐบาลไทยช่วยส่งทหารไปร่วมรบในประเทศพม่าตามข้อตกลงที่เคยทำกันไว้ โดยกำหนดให้ฝ่ายไทยส่งกำลังทหารเข้าไปยึดพื้นที่ที่บริเวณรัฐฉานของพม่า ซึ่งจอมพล ป. พิบูล ก็ได้ยินยอมตามสัญญา เนื่องจากเห็นว่าตรงกับแนวความคิดที่จะนำกำลังทหารไปปฏิบัติการทางภาคเหนือของประเทศอยู่แล้ว อีกทั้งยังทำให้ญี่ปุ่นหมดความหวาดระแวงสงสัยด้วย นอกจากนี้ จะได้หาทางติดต่อกับฝ่ายสัมพันธมิตรที่เดินทางผ่านประเทศจีน ในกรณีที่ญี่ปุ่นเพลี่ยงพล้ำในการทำสงครามด้วย
การปฏิบัติการของกองทัพพายัพ 
สงครามในระยะแรก กองทัพญี่ปุ่นได้ชัยชนะเหนืออังกฤษอย่างรวดเร็ว ทำให้สถานการณ์ของอังกฤษไม่ค่อยสู้ดีเท่าไร อังกฤษจึงจำเป็นต้องถอนกองกำลังออกจากพม่าไป แต่ก่อนที่อังกฤษจะถอนกำลังออกไปจากพม่า  อังกฤษได้มอบพื้นที่และภารกิจในการต้านทานกองทัพญี่ปุ่นในสหรัฐไทยเดิม ให้แก่กองทัพจีนดูแลต่อ ซึ่งเป็นฝ่ายสัมพันธมิตร และจีนเองก็เป็นประเทศคู่สงครามกับญี่ปุ่นมาตั้งแต่ในอดีตแล้ว กองทัพจีนฝ่ายก๊กมินตั๋งภายใต้การนำของจอมพล เจียงไคเช็ค จึงได้มอบให้กองพลที่ 93 เป็นหน่วยรับผิดชอบต่อ ซึ่งกองพลที่ 93 ได้เคลื่อนพลจากเมืองเชียงรุ้ง ไปตามเส้นทางต่างๆ ได้แก่ เมืองเชียงรุ้ง – เมืองลอง – เมืองยู้ – เมืองยอง จากนั้นจึงตั้งกองบัญชาการอยู่ที่เมืองเชียงตุง
ส่วนกองทัพพายัพของไทย จัดตั้งขึ้นจากการรวมกำลังของหน่วยต่างๆทั่วประเทศ โดยมีพลตรี จรูญ รัตนกุล เสรีเริงฤทธิ์เป็นแม่ทัพ กองทัพพายัพประกอบด้วย 3 กองพล  โดยกองทัพพายัพได้เคลื่อนพลเข้าสู่ดินแดนสหรัฐไทยเดิมในวันที่ 10 พฤษภาคม พ.ศ. 2485 และได้ปฎิบัติภารกิจได้อย่างสำเร็จลุล่วง แต่ก็ต้องทนกับความลำบากอย่างยิ่ง เนื่องจากภูมิประเทศบริเวณนี้ล้วนทุรกันดาร และเต็มไปด้วยโรคภัยไข้เจ็บ กองทัพพายัพได้เคลื่อนที่จนเข้าประชิดกับชายแดนพม่า-จีน จนเมื่อถึงวันที่ 14 มกราคม พ.ศ. 2485 กองทัพพายัพบางส่วนก็เริ่มถอนกำลังกลับเข้าสู่ประเทศไทย รวมระยะเวลาที่ปฎิบัติการในพื้นที่สหรัฐไทยเดิม เท่ากับ 8 เดือน 6 วัน
การสิ้นสุดสงคราม
สงครามมหาเอเชียบูรพา เริ่มมาตั้งแต่ช่วงเดือนธันวาคม พ.ศ.2484 และมาสิ้นสุดลงเมื่อสหรัฐฯตัดสินใจส่งเครื่องบินไปทิ้งระเบิดปรมาณูที่เมืองฮิโรชิมาและเมืองนางาซากิที่ประเทศญี่ปุ่น ในวันที่ 6 สิงหาคม พ.ศ.2488 และ ในวันที่ 9 สิงหาคม พ.ศ.2488 เหตุการณ์ครั้งนี้ทำให้ประเทศญี่ปุ่นเสียหายเป็นอย่างมาก สมเด็จพระจักรพรรดิ ฮิโรฮิโต จึงมีพระบรมราชโองการให้กองทัพญี่ปุ่นทั่วทุกบริเวณ ยุติการรบอย่างสิ้นเชิงในวันที่ 14 สิงหาคม พ.ศ.2488 และในวันที่ 15 สิงหาคม พ.ศ. 2488 สมเด็จพระเจ้าจักรพรรดิ ฮิโรฮิโต ก็ทรงประกาศยอมจำนนต่อฝ่ายสัมพันธมิตรอย่างไม่มีเงื่อนไข ผ่านทางวิทยุกระจายเสียง ทำให้สงครามมหาเอเชียบูรพาที่ยืดเยื้อมาเกือบ 4 ปี ยุติลงในวันนั้นเอง
ในส่วนของประเทศไทย ก็มีพระบรมราชโองการออกมาว่า การประกาศสงครามกับอังกฤษและสหรัฐอเมริกานั้นถือเป็นโมฆะ เนื่องจากเป็นการกระทำที่ผิดไปจากความต้องการของประชาชนชาวไทย อีกทั้งยังเป็นการฝ่าฝืนต่อบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญและกฎหมายของบ้านเมืองของประเทศไทยด้วย ทั้งนี้ การที่ประเทศไทยสามารถรอดพ้นจากการถูกกล่าวหาว่าเป็นฝ่ายเดียวกับประเทศญี่ปุ่นได้ ก็เพราะว่ามีขบวนการเสรีไทย ขบวนการใต้ดินที่ปฏิบัติงานต่อต้านญี่ปุ่นอยู่ นอกจากนี้ขบวนการเสรีไทยยังให้ความช่วยเหลือแก่ฝ่ายสัมพันธมิตรมาโดยตลอด ซึ่งนับว่าเป็นส่วนสำคัญที่ช่วยให้สหรัฐฯเกิดความเห็นใจ
ประเทศไทยเป็นอย่างมาก และส่งผลให้รัฐบาลสหรัฐฯและอังกฤษ ประกาศรับรองสันติภาพของประเทศไทยในที่สุด
ผลกระทบที่ไทยได้รับในสงครามมหาเอเชียบูรพา
แม้ว่าท้ายที่สุดแล้วประเทศไทยจะไม่ถือเป็นหนึ่งในประเทศที่แพ้สงคราม แต่ตลอดระยะเวลาสงครามที่ผ่านมา ประเทศไทยก็ต้องพบกับศึกหนักทั้งการโจมตีทางอากาศ การทำลายสถานที่ราชการและบ้านเรือน ตลอดจนทำให้ชีวิตและทรัพย์สินจำนวนมากต้องได้รับความเสียหายไป หากจะประเมินมูลค่าการสูญเสียที่เป็นค่าใช้จ่ายในการสงคราม จะรวมเป็นจำนวนเงินถึง 812 ล้านบาท สูญเสียกำลังพลรวมเป็นจำนวน 5,957 คน  ซึ่งปนะกอบไปด้วย นายทหาร 143 คน, นายสิบ 474 คน, พลทหาร 4,942 คน, ตำรวจ 88 คน และพลเรือน 310 คน และนอกจากการสูญเสียที่กล่าวมาแล้ว สงครามครั้งนี้ยังส่งผลกระทบอีกหลายๆอย่างต่อประเทศไทย ดังนี้
  1. ประเทศไทยถูกบังคับด้วยสนธิสัญญาสมบูรณ์แบบ ทำให้ไทยต้องคืนดินแดนกลันตัน ตรังกานู ไทรบุรี และปะลิส มอบคืนให้แก่อังกฤษ อีกทั้งยังต้องชดใช้ค่าเสียหายใน 4 รัฐของมลายู รวมเป็นจำนวนเงิน 30 ล้านบาท และไทยยังต้องยอมขายข้าว ดีบุก ยางพารา และไม้สัก ตามราคาที่อังกฤษกำหนดด้วย พร้อมกับต้องส่งข้าวจำนวนหนึ่งล้านห้าแสนตันให้อังกฤษโดยไม่คิดมูลค่าใดๆ
  2. ประเทศไทยต้องคืนดินแดนพระตะบอง เสียมราฐ และศรีโสภณ ให้แก่ฝรั่งเศส ซึ่งได้มาตอนที่มีกรณีพิพาทอินโดจีน
  3. ประเทศไทยต้องยอมรับกับภาวะการตกต่ำของเศรษฐกิจ ทั้งภาวะเงินเฟ้อ ตลาดมืด และการกักตุนสินค้า เป็นต้น
  4. สภาพสังคมของประเทศไทยในขณะนั้นเกิดความเสื่อมโทรมเป็นอย่างมาก เต็มไปด้วยคดีอาชญากรรม และทำให้ขวัญกำลังใจของทหารและประชาชนตกต่ำลง

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น