รายวิชา ประวัติศาสตร์ รหัสวิชา ส22102 คุณครูผู้สอน คุณครูชาญวิทย์ ปรีชาพาณิชพัฒนา โรงเรียนเสลภูมิพิทยาคม อำเภอเสลภูมิ จังหวัดร้อยเอ็ด

ข่าว

วันเสาร์ที่ 22 สิงหาคม พ.ศ. 2558

การปกครองในสมัยอยุธยา

การปกครองในสมัยอยุธยา
การจัดการปกครองในอยุธยาในระยะแรก จะเป็นการนำเอาการปกครองในสมัยสุโขทัยและขอมเข้ามาประยุกต์ใช้  โดยฐานะของพระมหากษัตริย์จะเปลี่ยนแปลงไปจากที่เคยเป็นในสมัยสุโขทัย กล่าวคือ  พระมหากษัตริย์ในสมัยอยุธยาจะทรงเป็นสมมติเทพ ที่มีอำนาจสูงสุดในการปกครองประเทศ หรือเรียกว่า  “การปกครองระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์” นั่นเอง
การปกครองในสมัยอยุธยา ถูกจัดระเบียบและแบ่งออกได้เป็น  2  สมัย  ดังต่อไปนี้  คือ
พระเจ้าอู่ทอง
  1. สมัยอยุธยาตอนต้น (ช่วงปี พ.ศ. 1893 – 1991)
          การปกครองส่วนกลาง  จะเรียกว่า  การปกครองแบบ ‘จตุสดมภ์’ หรือการมีขุนนาง  4  เหล่า ทำหน้าที่ดูแลบ้านเมืองแตกต่างกันออกไป ดังต่อไปนี้
  • กรมเวียง ทำหน้าที่ดูแลและรักษาความสงบเรียบร้อย
  • กรมวัง ทำหน้าที่ดูแลงานที่เกี่ยวข้องกับพระราชพิธีต่างๆของกษัตริย์
  • กรมคลัง ทำหน้าที่ดูแลพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ และรายได้หรือผลประโยชน์ของแผ่นดิน
  • กรมนา ทำหน้าที่ดูแลการทำไร่นาของชาวเมือง  และคอยดูแลเสบียงไว้ใช้ในยามที่บ้านเมืองมีสงคราม
          การปกครองส่วนภูมิภาค หรือเมืองที่ตั้งอยู่นอกราชธานี จะโปรดให้เจ้านายและขุนนางที่พระมหากษัตริย์ทรงไว้วางพระทัยเข้าไปปกครองเมืองแทนพระองค์ สามารถแบ่งออกเป็น  3  ประเภท  ได้ดังนี้
  • เมืองหน้าด่าน คือ เมืองที่อยู่โดยรอบราชธานีทั้ง  4  ทิศ
  • เมืองชั้นใน คือ เมืองที่ตั้งอยู่ไม่ห่างไกลราชธานีมากนัก แต่ขยับจากเมืองหน้าด่านออกไป
  • เมืองชั้นนอก คือ เมืองที่ตั้งอยู่ห่างไกลจากราชธานีมากที่สุด
  • หัวเมืองประเทศราช คือ หัวเมืองที่ยอมอ่อนน้อมหรือยอมเป็นเมืองขึ้นของกรุงศรีอยุธยา  จะโปรดให้เจ้านายที่เป็นพื้นเมืองปกครองกันเอง
  1. สมัยสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ
ในสมัยของสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ ถือเป็นการปรับปรุงการปกครองครั้งใหญ่ โดยพระองค์ได้โปรดให้มีการปฏิรูปการปกครองขึ้นในปี  พ.ศ.  1991  และรูปแบบการปกครองที่ทรงปฏิรูปก็ถูกใช้ตลอดมาจนสิ้นสุดสมัยอยุธยา โดยผลการปรับปรุงการปกครองในสมัยของสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ  มีดังต่อไปนี้
  • เปลี่ยนชื่อกรมของจตุสดมภ์เป็นชื่อที่เป็นทางการมากขึ้น ดังต่อไปนี้
    • กรมเวียง ชื่อว่า นครบาล
    • กรมวัง ชื่อว่า ธรรมาธิกรณ์
    • กรมคลัง ชื่อว่า โกษธิบดี
    • กรมนา ชื่อว่า เกษตราธิการ
  • สมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ โปรดให้แยกเอางานของฝ่ายทหารและพลเรือนออกจากกัน โดยพระองค์รับสั่งให้สมุหกลาโหมทำหน้าที่เป็นหัวหน้าฝ่ายทหาร  ในขณะที่ สมุหนายกทำหน้าที่เป็นหัวหน้าฝ่ายพลเรือน
  • ทรงแบ่งหัวเมืองชั้นนอกแยกออกเป็น หัวเมืองชั้นเอก โท  และ ตรี  ตามลำดับ
  • หัวเมืองประเทศราช รับสั่งให้เจ้านายของชนชาตินั้นๆปกครองกันเอง  แต่จะต้องส่งเครื่องราชบรรณาการมาให้เองหลวงตามช่วงเวลาที่กำหนด
อย่างไรก็ตาม ในสมัยอยุธยาก็ยังพบปัญหาสำคัญที่เกี่ยวข้องกับการปกครองบ้านเมืองในสมัยนั้น กล่าวคือ มีการแย่งชิงราชสมบัติของกษัตริย์ และมีการแย่งชิงอำนาจของเหล่าขุนนางฝ่ายต่างๆ  ทั้งนี้ก็มีสาเหตุหลักสำคัญมาจากการขาดความสามัคคี และไม่มีระบบการสืบราชสมบัติที่แน่นอน ทำให้ใครหลายคนต้องการแย่งยิงอำนาจเพื่อให้ได้มาซึ่งความยิ่งใหญ่ และเป็นเหตุผลสำคัญให้กรุงศรีอยุธยาต้องสิ้นสุดลงนั่นเอง
 
สังคมในสมัยอยุธยา
อยุธยามีระบบการปกครองเป็นแบบ “ราชาธิราชผสมกับศักดินา” กล่าวคือ เป็นการปกครองที่กษัตริย์มีอำนาจสูงสุด แต่ก็ยังคงมีการแบ่งการปกครองออกเป็นชนชั้นต่างๆ ไล่เรียงตั้งแต่ พระมหากษัตริย์-ขุนนาง-พระสงฆ์-ราษฎร ชึ่งความแตกต่างของฐานันดรเหล่านี้ถูกแบ่งแยกออกเป็นหมวดหมู่อย่างชัดเจน อีกทั้งยังมีการเกณฑ์แรงงานที่เรียกว่า “ไพร่” และมีการเก็บอากรที่เรียกว่า “ส่วย” เพื่อเป็นรายได้เข้าประเทศด้วย
สังคมไทยในสมัยอยุธยา สามารถแบ่งบุคคลออกเป็น  5  กลุ่ม  ได้แก่  พระมหากษัตริย์ และเจ้านายชั้นสูง   ขุนนาง  ไพร่  ทาส  และอีกหนึ่งกลุ่มที่ถูกแยกออกมาจากคนทัวไป ก็คือพระสงฆ์ ผู้ซึ่งที่ได้รับการยกย่องเลื่อมใสจากคนทุกกลุ่ม รายละเอียดดังต่อไปนี้
  1. พระมหากษัตริย์ื ทรงเป็นบุคคลที่มีพระราชฐานะและอำนาจสูงสุดในประเทศ โดยกำหนดให้ทรงมีฐานะเป็นสมมติเทพ  เป็นประมุขของประเทศ  มีอำนาจสูงสุดในการปกครองประเทศ มีพระราชอำนาจในฐานะเป็นเจ้าชีวิตและเจ้าแผ่นดิน และทรงเป็นผู้อุปถัมภ์ค้ำจุนพระพุทธศาสนาเป็นหลัก
  2. เจ้านายคือ พระราชวงศ์ของพระมหากษัตริย์ ซึ่งจะมีสกุลหรือยศฐาบรรดาศักดิ์ที่ลดหลั่นกันไปตามลำดับ  ได้แก่ เจ้าฟ้า  พระองค์เจ้า  หม่อมเจ้า  เป็นต้น
  3. ขุนนาง เป็นบุคคลสำคัญที่มีบทบาทสำคัญในการช่วยเหลือการทำงานของพระเจ้าแผ่นดิน และช่วยพระมาหกษัตริย์ปกครองประเทศ โดยกษัตริญ์ก็จะพระราชทานศักดินาให้เป็นเครื่องตอบแทนความดีความชอบแก่เหล่าขุนนางทั้งหมาย พร้อมทั้งมีอำนาจและฐานะที่ดีกว่าบุคคลทั่วไป อีกทั้ง ในสมัยสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ ก็ได้ทรงออกกฎหมายศักดินาเพื่อจัดทำทำเนียบขุนนาง ข้าราชการ ที่ประกอบไปด้วย ตำแหน่ง  ยศ  และราชทินนาม จึงอาจกล่าวได้ว่า ขุนนางถือเป็นตำแหน่งที่มีอำนาจสูงในการปกครองและควบคุมพลเมือง มีไพร่พลมากมาย ซึ่งการมีอำนาจมากเช่นนี้ก็ถือเป็นดาบสองคม ที่ทำให้เกิดปัญหาความขัดแย้งในกลุ่มขุนนางและเจ้านายที่เกิดขึ้นอย่างบ่อยครั้ง
  4. ไพร่ถือเป็นสามัญชนคนธรรมดาทั่วไป และนับเป็นประชากรส่วนใหญ่ของประเทศ สามารถแบ่งไพร่ออกได้เป็น  3 ประเภท ได้แก่
    • ไพร่หลวง คือ ไพร่ที่ขึ้นทะเบียนและสังกัดต่อองค์พระมหากษัตริย์ จะต้องมาเข้าเวรเพื่อรับใช้ราชการปีละ 6 เดือน
    • ไพร่สมคือ  ไพร่ที่ขึ้นทะเบียนต่อเจ้านายและขุนนาง
    • ไพร่ส่วนคือ ไพร่ที่ส่งผลิตผลมาแทนการเข้าเวรเพื่อใช้แรงงาน ซึ่งจะเป็นไร่นาที่มีผลิตผลเพื่อนำไปเสียภาษีแทนการถูกออกไปเกณฑ์แรงงาน ซึ่งมักจะเป็นราษฎรที่อยู่ห่างไกลออกไป และจะต้องมีผลิตผลจากป่าหรือจากแผ่นดินอยู่ในครอบครอง
ราษฎรทั่วไปจะแบ่งชนชั้นออกเป็น “ไพร่” ที่อยู่ภายใต้สังกัดของ “มูลนาย” อย่างชัดเจน อีกทั้งยังมีการแบ่งเป็น “ไพร่หลวง” และ “ไพร่สม” เพื่อดูว่าไพร่เหล่านั้นต้องไปรับใช้ใคร อย่างไรก็ตาม ไพร่ทั้งสองแบบนี้ก็มีหน้าที่เดียวกัน กล่าวคือ จะต้องถูกเกณฑ์แรงงานเพื่อเข้าไปทำงานรับใช้ให้กับนายของตนนั่นเอง ส่วนเมื่อถึงเวลาที่มีสงคราม ไพร่เหล่านี้ก็จะถูกเกณฑ์ไปเป็นทหารเพื่อต่อสู้ป้องกันประเทศ
  1. ทาสถือเป็นชนชั้นที่ต่ำที่สุดในสังคมไทยในสมัยอยุธยา สามารถแบ่งทาสออกได้เป็น  2 ประเภท ได้แก่
    • ทาสสินไถ่ หรือ ทาสที่ไถ่ถอนตัวได้
    • ทาสเชลย ลูกทาส หรือทาสที่ไถ่ถอนตัวไม่ได้
  2. พระสงฆ์ ไม่จัดอยู่ในชนชั้นใดชนชั้นหนึ่ง แต่ถือเป็นบุคคลที่เป็นที่เคารพนับถือของคนในทุกชนชั้น  พระสงฆ์จะมีบทบาทและความสำคัญในการเป็นที่พึ่งทางใจของคนในทุกชนชั้น และเป็นบุคคลที่เป็นตัวกลางเชื่อมโยงความสัมพันธ์ของชนชั้นสูงและชนชั้นต่ำ อีกทั้งยังเป็นครูผู้ให้การศึกษา  เนื่องจากวัดในสมัยอยุธยาถือเป็นศูนย์กลางของการศึกษาของคนทั่วไปในสมัยก่อน
อย่างไรก็ตาม การแบ่งชนชั้นในระดับที่เป็นเจ้าและขุนนางยังมิได้เป็นการแบ่งที่ตายตัว บุคคลบางคนอาจจะเสื่อมตำแหน่งฐานะทางสังคมลงได้  ในขณะที่บางคนก็สามารถตั้งตัวเป็นใหญ่ขึ้นมาได้เช่นกัน ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับความรู้ความสามารถ และคุณประโยชน์ที่พวกเขาทำต่อประเทศชาตินั่นเอง ซึ่งบางครั้งขุนนางบางคนก็สามารถเข้ายึดอำนาจและขึ้นมาแต่งตั้งราชวงศ์ใหม่ของตนเองได้ ดังจะเห็นกรณีที่ว่านี้ใน ‘ขุนวรวงศาธิราช’ หรือในกรณีของ ‘ราชวงศ์ปราสาททอง’ และ ‘ราชวงศ์บ้านพลูหลวง’ เป็นต้น
ศาสนาในสมัยอยุธยา
พระมหากษัตริย์รวมถึงประชาชนทุกชนชั้นในกรุงศรีอยุธยา ยังคงนับถือพุทธศาสนาเป็นศาสนาประจำชาติ โดยพุทธศาสนาที่เป็นศาสนาประจำอาณาจักร ก็คือ พุทธศาสนานิกายหินยาน อย่างไรก็ตาม ประชาชนส่วนใหญ่ก็ยังคงมีความเชื่อในเรื่องของวิญญาณ ภูตผีปีศาจ และพระพุทธศาสนาแบบมหายานเจือปนอยู่บ้างบางส่วนด้วย
ในขณะที่สถาบันพระมหากษัตริย์ที่ปกครองกรุงศรีอยุธยา ก็ยังยังต้องทำหน้าที่ในการอุปถัมภ์ค้ำจุนพระพุทธศาสนาเป็นหลัก อย่างไรก็ตาม พิธีกรรมต่างๆก็ยังได้รับอิทธิพลมาจากในสมัยก่อนทำให้มีการนำเอาความเชื่อของทางศาสนาฮินดูและพราหมณ์เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในพิธีกรรม และเชื่อว่าเป็นการสร้างอำนาจและความศักดิ์สิทธิ์ให้แก่พระองค์ได้ ทำให้พระมหากษัตริย์ไทยในสมัยอยุธยาเป็นการผสมผสานระหว่างหลัก “ธรรมราชา” และ “เทวราชา” เข้าด้วยกัน อันเป็นผลให้กษัตริย์ไทยถูกยกย่องให้ยิ่งใหญ่เทียบเคียงกับเทพ ตามหลักของศาสนาพราหมณ์ฮินดูนั่นเอง

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น