รายวิชา ประวัติศาสตร์ รหัสวิชา ส22102 คุณครูผู้สอน คุณครูชาญวิทย์ ปรีชาพาณิชพัฒนา โรงเรียนเสลภูมิพิทยาคม อำเภอเสลภูมิ จังหวัดร้อยเอ็ด

ข่าว

วันเสาร์ที่ 22 สิงหาคม พ.ศ. 2558

ในปี พ.ศ. 2126 พระเจ้าอังวะได้ก่อการกบฎขึ้น เนื่องจากทรงไม่พอใจกรุงหงสาวดีอยู่ในหลายๆเรื่อง โดยทรงแข็งเมือง พร้อมกับได้เข้ามาเกลี้ยกล่อมเจ้าไทยใหญ่อีกหลายเมืองให้ร่วมมือกันแข็งเมืองต่อพม่าด้วย พระเจ้าหงสาวดีนันทบุเรง จึงต้องยกทัพหลวงไปปราบเมืองที่คิดแข็งข้อเหล่านี้ โดยพระองค์ได้สั่งให้เจ้าเมืองแปร เจ้าเมืองตองอู เจ้าเมืองเชียงใหม่ รวมถึงเจ้าเมืองของกรุงศรีอยุธยา ยกทัพไปช่วยปราบปรามหัวเมืองเหล่านี้ด้วย ทางอาณาจักรอยุธยาที่มีสมเด็จพระมหาธรรมราชาเป็นพระมหากษัตริย์ จึงโปรดให้สมเด็จพระนเรศวรช่วยยกทัพไปแทนตนตามคำสั่งของพระเจ้าหงสาวดีนันทบุเรง
freedom1
เมื่อวันแรม 6 ค่ำ เดือน 3 ปีมะแม พ.ศ. 2126 สมเด็จพระนเรศวรจึงได้ยกทัพออกจากเมืองพิษณุโลกเอเดินทางไปปราบอังวะ โดยพระองค์ทรงยกทัพไทยไปอย่างช้าๆ เพื่อหวังให้การปราบปรามเจ้าอังวะเสร็จสิ้นลงอย่างเรียบร้อยไปเสียก่อน ด้วยเหตุนี้จึงทำให้พระเจ้าหงสาวดีนันทบุเรงรู้สึกคลางแคลงใจว่า อาณาจักรอยุธยาอาจจะถูกพระเจ้าอังวะชักชวนเป็นพวกเดียวกันไปแล้วหรือไม่ พระเจ้าหงสาวดีนันทบุเรงจึงสั่งให้พระมหาอุปราชานำทัพรักษาเมืองเอาไว้ และหากกองทัพไทยยกทัพมาถึงเมืองเมื่อไร ก็ให้ทำทีว่าต้อนรับเป็นอย่างดี และหากสบโอกาสก็ให้หาทางกำจัดกองทัพไทยเสีย โดยพระองค์ได้ทรงรับสั่งให้ พระยาเกียรติ และ พระยาราม ผู้เป็นพระยามอญทั้งสองคน ลงมาคอยต้อนรับทัพไทย ซึ่งทั้งสองนี้มีสมัครพรรคพวกอยู่ที่เมืองแครงเป็นจำนวนมาก และคนเหล่านี้ก็ล้วนผู้คุ้นเคยต่อสมเด็จพระนเรศวรมาแล้วทั้งนั้น
ณ เมืองแครง อันเป็นเมืองชายแดนที่มีอาณาเขตติดต่อกับไทย พระมหาอุปราชาได้ตรัสสั่งเหล่าทหารอย่างเป็นความลับว่า หากเมื่อใดที่สมเด็จพระนเรศวรยกกองทัพขึ้นไป แล้วทหารเห็นว่ากองทัพของพระมหาอุปราชายกเข้าตีด้านหน้าแล้ว ก็ให้กองทัพของพระยาเกียรติและพระยาราม เข้าสู้รบโจมตีกระหนาบทางด้านหลังของกองทัพสมเด็จพระนเรศวรได้เลยทันที จะได้สามารถกำจัดสมเด็จพระนเรศวรได้โดยง่าย แต่เมื่อพระยาเกียรติกับพระยารามเดินทางไปถึงเมืองแครงแล้ว ก็ได้นำความลับที่พระมหาอุปราชาบอกมาเล่าให้แก่พระมหาเถรคันฉ่องผู้เป็นอาจารย์ของตนฟัง ซึ่งหลังจากที่เล่าความไปแล้ว ก็ไม่มีผู้ใดที่เห็นดีเห็นงามด้วยเลยกับแผนการของพระเจ้ากรุงหงสาวดีครั้งนี้ เหตุเพราะ มหาเถรคันฉ่องและสมเด็จพระนเรศวร เคยสนิทชิดเชื้อกันมาแต่ก่อน และรู้สึกเอ็นดูสมเด็จพระนเรศวรเป็นอย่างมาก
ดังนั้น เมื่อถึงวันขึ้น 1 ค่ำ เดือน 6 ปีวอก พ.ศ. 2127 ซึ่งเป็นเวลาที่กองทัพไทยเดินทางมาถึงเมืองแครงพอดี ซึ่งการเดินทางครั้งนี้กินเวลายาวนานเกือบสองเดือน ครั้นเมื่อกองทัพไทยเดินทางมาถึง ก็ได้ตั้งทัพอยู่นอกเมือง เจ้าเมืองแครงพร้อมทั้งพระยาเกียรติกับพระยารามจึงได้เดินทางเพื่อมาเฝ้าฯสมเด็จพระนเรศวร และหลังจากนั้น สมเด็จพระนเรศวรก็ได้เดินทางเสด็จไปเยี่ยมพระมหาเถรคันฉ่อง ซึ่งแต่ก่อนเคยคุ้นเคยกันมา พระมหาเถรคันฉ่องรู้สึกมีใจสงสารสมเด็จพระนเรศวร จึงได้กราบทูลให้สมเด็จพระนเรศวรทราบถึงเหตุการณ์ร้ายที่พระเจ้ากรุงหงสาวดีวางแผนไว้ แล้วให้พระยาเกียรติและพระยารามมากราบทูลให้สมเด็จพระนเรศวรทราบความตามจริง หลังจากที่สมเด็จพระนเรศวรได้รับรู้เหตุการณ์ที่กำลังจะเกิดขึ้นแล้วพระองค์ก็ทรงมีพระดำริเห็นว่า เวลานี้คงถึงเวลาที่พระองค์จะต้องเปิดเผยความเป็นอริราชศัตรูกับกรุงหงสาวดีเสียแล้ว จากนั้น สมเด็จพระนเรศวรจึงได้มีรับสั่งให้แม่ทัพนายกอง กรมการเมือง เจ้าเมืองแครงงพระยาเกียรติ พระยาราม และทหารมอญทั้งหมดมาประชุมอย่างพร้อมเพรียงกัน อีกทั้งยังนิมนต์พระมหาเถรคันฉ่องและพระสงฆ์อีกหลายรูปมาร่วมเป็นสักขีพยานในการประชุมใหญ่ครั้งนี้ด้วย โดยสมเด็จพระนเรศวร ได้ทรงแจ้งเรื่องราวทั้งหมดให้แก่ทุกคนในที่ชุมนุมได้รับทราบว่า ขณะนี้พระเจ้าหงสาวดีคิดที่จะประทุษร้ายต่อพระองค์อย่างไรบ้าง จากนั้น พระองค์ก็ได้ทรงหลั่งน้ำลงสู่แผ่นดินด้วยสุวรรณภิงคาร (พระน้ำเต้าทองคำ) เพื่อเป็นการประกาศให้เหล่าเทพยดาฟ้าดินทราบว่า การที่พระเจ้าหงสาวดีมิได้ประพฤติตนสุจริต และมีขัตติยราชประเพณีเสียสามัคคีรสธรรม โดยหากวันนี้พระเจ้าหงสาวดีนั้นคิดทรยศที่จะทำอันตรายแก่เราแล้ว ตั้งแต่นี้ต่อไป กรุงศรีอยุธยากับกรุงหงสาวดีก็คงมิได้เป็นมิตรร่วมสุวรรณปฐพีกันอีก
หลังจากทรงประกาศออกไปแล้ว สมเด็จพระนเรศวรก็ได้ตรัสถามชาวเมืองแครงทั้งหลายว่า แต่ละคนต้องการจะเข้าข้างฝ่ายใด ซึ่งพวกมอญทั้งปวงก็ต่างพากันเข้าข้างฝ่ายไทยทั้งสิ้น ทำให้สมเด็จพระนเรศวรจับเจ้าเมืองกรมการพม่าเอาไว้ และยึดเอาเมืองแครงเป็นที่ประชุมกองทัพ เพื่อใช้ในการรวบรวมกำลังพลเพื่อต่อสู้กอบกู้เอกราชให้แก่อยุธยานั่นเอง
หลังจากที่สมเด็จพระนเรศวรจัดกองทัพแล้วเสร็จ ก็ทรงยกทัพไปโจมตีเมืองหงสาวดีทันที ซึ่งตรงกับวันแรม 3 ค่ำ เดือน 6 ในเวลานั้น พระมหาอุปราชาที่อยู่ประจำเมืองหงสาวดีอยู่ได้ทราบข่าวว่า พระยาเกียรติและพระยารามได้แปรพรรคไปเข้าร่วมทัพกับสมเด็จพระนเรศวรแล้ว พระมหาอุปราชาจึงได้แต่เฝ้าพระนครให้ตั้งมั่นไว้ได้นานที่สุด
สมเด็จพระนเรศวรยกทัพข้ามแม่น้ำสะโตงไปจนใกล้จะถึงเมืองหงสาวดีแล้ว และได้ทราบข่าวว่า ในขณะนั้น พระเจ้ากรุงหงสาวดีก็สามารถปราบเมืองอังวะได้สำเร็จ และกำลังจะยกทัพกลับสู่พระนครพอดี สมเด็จพระนเรศวรจึงทรงเห็นว่า หากจะตีเมืองหงสาวดีในตอนนี้คงยังไม่สมควรเท่าไรนัก จึงสั่งให้กองทัพทั้งหมดแยกย้ายกันไปตามหาคนไทยที่เคยอพยพหนีไป จนในที่สุดก็รวบรวมผู้คนมาได้ประมาณหมื่นเศษ จากนั้น จึงสั่งให้กองทัพเดินทัพล่วงหน้าไปก่อน ส่วนพระองค์จะทำหน้าที่คุมกองทัพตามหลังเอง
ด้านพระมหาอุปราชาที่ทราบข่าวว่า สมเด็จพระนเรศวรได้กวาดต้อนคนไทยกลับไปแล้ว จึงได้ให้สุรกรรมาเป็นกองหน้า ส่วนพระมหาอุปราชาเป็นกองหลวง แล้วเดินทัพติดตามกองทัพไทยไป เมื่อถึงริมฝั่งแม่น้ำสะโตง กองทัพหน้าของพม่าก็ตามมาทันกองทัพไทยพอดี แต่เป็นช่วงเวลาที่ฝ่ายไทยสามารถข้ามแม่น้ำไปได้เรียบร้อยแล้ว กองทัพทั้งสองจึงเริ่มต้อสู้กันอย่างดุเดือด ณ ริมฝั่งแม่น้ำ
สมเด็จพระนเรศวรทรงใช้พระแสงปืนนกสับยาวเก้าคืบ ยิงข้ามฝั่งแม่น้ำไปถูกสุรกรรมาผู้เป็นแม่ทัพกองหน้าของพม่าจนเสียชีวิตบนคอช้าง เมื่อพระมหาอุปราชาทรงทราบว่าแม่ทัพกองหน้าสิ้นใจตาย จึงสั่งให้ทหารพม่าเลิกทัพกลับกรุงหงสาวดีไป และเรื่องราวการใช้พระแสงปืนยิงข้ามแม่น้ำเพื่อสังหารนายทัพพม่าครั้งนี้ ก็กลายเป็นเรื่องโด่งดังที่ปรากฏในประวัติศาสตร์ไทยที่เล่าขานสืบต่อกันมา อันมีชื่อเรียกว่า “พระแสงปืนต้นข้ามแม่น้ำสะโตง” ซึ่งถือเป็นการประกาศอิสรภาพของไทย หลังจากที่ต้องตกเป็นเมืองขึ้นของพม่าในครั้งที่ไทยเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่ 1 ในที่สุด
naresuan
หลังจากสมเด็จพระนเรศวรสามารถทำศึกและได้รับชัยชนะเหนือกองทัพพม่าได้แล้ว พระองค์ก็เสด็จกลับไปยังเมืองแครง พร้อมทั้งบำเหน็จรางวัลให้แก่ พระมหาเถรคันฉ่อง พระยาเกียรติ พระยาราม ซึ่งเป็นผู้ที่มีอุปการะต่อพระองค์เป็นอย่างมาก และสมเด็จพระนเรศวรก็เห็นสมควรว่าบุคคลเหล่านี้จะต้องได้รับรางวัลตอบแทนในความดีความชอบครั้งนี้ อีกทั้งยังทรงชักชวนให้ทั้งหมดมาอยู่ร่วมกันที่กรุงศรีอยุธยา ซึ่งพระมหาเถรคันฉ่องและพระยามอญทั้งสอง ก็รู้สึกยินดีที่จะพาพรรคพวกมาร่วมอาศัยใบบุญของสมเด็จพระนเรศวรเป็นอย่างมาก
หลังจากนั้น สมเด็จพระนเรศวรก็มีรับสั่งให้ยกทัพกลับกรุงศรีอยุธยา แต่สมเด็จพระนเรศวรก็ยังทรงเกรงว่า ข้าศึกอาจจะยกทัพตามพระองค์มาอีก หากพระองค์เสด็จกลับทางด่านแม่ละเมา อีกทั้งยังมีกองทัพของนันทสูราชสังครำที่ตั้งประจำอยู่ที่เมืองกำแพงเพชรอีกด้วย ซึ่งพระองค์เห็นว่าน่าจะเป็นอุปสรรคที่ขัดขวางการเดินทัพของพระองค์ สมเด็จพระนเรศวรจึงสั่งให้พระยาเกียรติและพระยาราม นำกองทัพเดินทางผ่านหัวเมืองมอญเพื่อลงมาทางใต้ จากนั้นจึงเข้ามาทางด่านเจดีย์สามองค์ ซึ่งถือเป็นเส้นทางที่ปลอดภัยต่อการโจมตีของข้าศึกมากที่สุด
หลังจากที่กองทัพของสมเด็จพระนเรศวรเดินทางกลับมาถึงกรุงศรีอยุธยาแล้ว สมเด็จพระมหาธรรมราชาก็ทรงพระราชทานรางวัลให้แก่พวกมอญที่หันมาสวามิภักดิ์ต่อไทย พร้อมทั้งทรงแต่งตั้งพระมาหาเถรคันฉ่องให้เป็น ‘พระสังฆราชาที่สมเด็จอริยวงศ์’ และแต่งตั้งยศให้แก่พระยาเกียรติและพระยารามด้วย พร้อมทั้งพระราชทานพานทองควบคุมมอญที่เข้ามาด้วย และโปรดให้ตั้งที่พักอาศัยอยู่ ณ ริมวัดขมิ้นและวัดขุนแสน ซึ่งอยู่ไม่ไกลจากวังจันทร์ของสมเด็จพระนเรศวร สุดท้ายก็คือ การมอบอำนาจให้สมเด็จพระนเรศวรทรงมีสิทธิบังคับบัญชาเมือง เพื่อตระเตรียมเมืองให้พร้อมต่อสู้กับข้าศึกนับตั้งแต่บัดนั้นเป็นต้นมา

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น