รายวิชา ประวัติศาสตร์ รหัสวิชา ส22102 คุณครูผู้สอน คุณครูชาญวิทย์ ปรีชาพาณิชพัฒนา โรงเรียนเสลภูมิพิทยาคม อำเภอเสลภูมิ จังหวัดร้อยเอ็ด

ข่าว

วันเสาร์ที่ 22 สิงหาคม พ.ศ. 2558

การเริ่มต้นของสงครามช้างเผือก พ.ศ. 2106

หลังจากสงครามครั้งก่อนหน้านี้ที่พระเจ้าตะเบ็งชะเวตี้ยกทัพมาตีกรุงศรีอยุธยา พระมหาจักรพรรดิก็ทรงไม่นิ่งนอนใจต่อการทำสงครามที่แข็งแกร่งขึ้นเรื่อยๆของพม่า และทรงสั่งให้ปรับปรุงกรุงศรีอยุธยาในหลายๆด้าน ทั้งการสร้างกำแพงเมืองใหม่ที่ก่ออิฐที่แข็งแรงเพื่อต้านทานการต่อสู้ด้วยอาวุธที่เป็นปืนใหญ่ รวมถึงการขุดคลองมหานาคทางด้านเหนือของเมือง เพื่อใช้เป็นแนวในการป้องกันการเข้าโจมตีของข้าศึก พร้อมทั้งสั่งให้รื้อกำแพงเมืองสุพรรณบุรี ลพบุรี และนครนายกออกให้หมด เนื่องจากกำแพงเมืองเหล่านี้ไม่เพียงแต่ป้องกันข้าศึกไม่ได้แล้ว ยังกลายไปเป็นที่ตั้งมั่นให้แก่ข้าศึกได้อีกด้วย ด้านของอาวุธได้เพิ่มแสงยานุภาพของทัพเรือโดยการดัดแปลงเรือแซให้เป็นเรือไชย ซึ่งเรือลำใหม่นี้สามารถแล่นได้อย่างรวดเร็ว และยังมีความสามารถในการบรรทุกพลปืนคาบนกสับได้หลายนายด้วย สุดท้ายคือการสั่งให้สำรวจสำเนาประชากร เพื่อคัดเลือกชายฉกรรจ์เข้ามาเป็นทหารเพิ่มอีก 100,000 กว่าคน และรับสั่งให้ตั้งเมืองเมืองใหม่ 3 เมือง ได้แก่  เมืองนนทบุรี เมืองสาคร และนครชัยศรี สำหรับใช้เป็นจุดรวมพลของกองทัพ หากเกิดสงครามจะสามารถเรียกให้ทหารเดินทางเข้าสู่กรุงศรีอยุธยาได้ภายในเวลา 1 วัน
ในขณะที่ เมืองหงสาวดีของพม่าก็มีเหตุการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไปไม่น้อยเช่นกัน เพราะหลังจากที่พระเจ้าตะเบ็งชะเวตี้กลับจากการทำสงครามกับอยุธยา ก็ทรงเอาแต่ดื่มสุราจนสติฟั่นเฟือง ทำให้บุเรงนองที่ทำหน้าที่เป็นอุปราชต้องมารับราชกาลแทน มอญเมื่อเห็นว่าพม่าอ่อนแอลง ก็เริ่มกระด้างกระเดื่อง ทำให้บุเรงนองต้องยกทัพไปปราบปรามกบฐสมิงธอรามที่เมืองเมาะตะมะ และเป็นช่วงเวลาเดียวกันกับที่พระเจ้าตะเบ็งชะเวตี้ถูกลอบฆ่า ทำให้บุเรงนองต้องรีบยกทัพกลับมา แต่ในภายหลังบุเรงนองก็สามารถยกทัพไปปราบมอญได้สำเร็จในช่วงเวลาที่มอญเกิดจลาจลภายในเมือง ทำให้พม่าสามารถขยายอาณาเขตกว้างออกไปได้ถึงเมืองเงี้ยวของไทยใหญ่และเมืองเชียงใหม่ และหลังจากที่สามารถรวบรวมบ้านเมืองได้เป็นปึกแผ่นมากขึ้น บุเรงนองก็คิดที่จะยกทัพกลับไปตีไทยให้ได้อีกครั้ง เพื่อหวังที่จะรวมแผ่นดินไทยไว้ภายใต้พม่าให้จงได้
chang1
การเริ่มต้นของสงครามช้างเผือก พ.ศ. 2106
สงครามช้างเผือก เป็นสงครามที่เกิดขึ้นในช่วงก่อนที่จะเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่ 1 ซึ่งมูลเหตุของสงครามครั้งนี้มาจากการที่พระเจ้าบุเรงนองทรงส่งเครื่องราชบรรณาการมาถวายต่อสมเด็จพระมหาจักรพรรดิเพื่อหวังที่จะทูลขอ ช้างเผือก 2 ช้าง ซึ่งในขณะนั้นกรุงศรีอยุธยามีช้างเผือกอยู่ทั้งหมดเพียง 7 ช้าง ซึ่งเมื่อพระมหาจักรพรรดิได้รับสาส์นก็เรียกประชุมขุนนางทั้งหลายในทันที ขุนนางบางฝ่ายก็มีความเห็นว่าควรจะต้องส่งช้างเผือกไปถวายให้แก่พระเจ้าบุเรงนอง เพื่อป้องกันไมให้เกิดสงคราม แต่บางฝ่าย อันได้แก่ พระราเมศวร พระยาจักรี พระสุนทรสงคราม กลับไม่เห็นด้วยกับความคิดดังกล่าว เพราะหากอยุธยาส่งช้างเผือกไป ก็เท่ากับการยอมอ่อนข้อต่อเมืองหงสาวดี หรือหมายความว่าไทยจะต้องเป็นประเทศราชของพม่ากลายๆ ซึ่งหากเป็นเช่นนั้นจะยิ่งทำให้พม่าได้ใจ และในไม่ช้าไม่นาน พม่าก็คงจะต้องยกทัพเข้ามาตีกรุงศรีอยุธยาไปเป็นเมืองเชลยอยู่ดี ซึ่งสมเด็จพระมหาจักรพรรดิเองก็ทรงมีความคิดเห็นเช่นเดียวกัน พระองค์จึงมีพระบรมราชโองการที่จะไม่ประทานช้างเผือกให้แก่หงสาวดี และเขียนสาส์นตอบกลับไปยังบุเรงนองว่า
“ช้างเผือกเป็นสัตว์ที่ย่อมเกิดแก่ผู้มีบุญบารมีของพระเจ้าแผ่นดิน หากพระเจ้าหงสาวดีได้ทรงบำเพ็ญพระราชธรรมให้ไพบูลย์ ไม่ช้าไม่นาน ก็คงจะได้ช้างเผือกมาเป็นบารมีให้เป็นมั่งคงอย่างแน่นอน ขอให้พระเจ้าหงสาวดีอย่าได้ทรงวิตกไปเลย”
ด้วยเหตุนี้จึงทำให้สงครามครั้งนี้เริ่มก่อตัวขึ้น ฝ่ายของพระเจ้าบุเรงนองได้รวมพลและยกทัพของเหล่าทหารมายังเมืองเมาะตะมะ โดยพระองค์รับสั่งให้มีการแบ่งทัพใหญ่ออกเป็น 5 ทัพ โดยมีเจ้าเมืองเชียงใหม่คอยควบคุมกองเรือเสบียง และล่องลงมาจนถึงเมืองตาก เพื่อรวมกำลังไพล่พลให้ได้ 500,000 คน ในขณะที่ อยุธยาก็ได้เตรียมพลรบและเรือรบเอาไว้ตั้งรับเป็นจำนวนมาก เพื่อต้านทานกองทัพหลวงจากหงสาวดีที่จะเดินทางเข้ามาทางด่านเจดีย์สามองค์ แต่กลับเกิดเหตุการณ์ที่ไม่เป็นดังที่คาดคิด เพราะกองทัพของพม่ากลับยกทัพมาทางด่านแม่ละเมาแทน และสามารถเข้าตีเมืองกำแพงเพชรได้สำเร็จ ต่อจากนั้น ก็สั่งให้แยกทัพเพื่อโจมตีเมืองสุโขทัยต่อไป และก็ถูกพม่ายึดเมืองไว้ได้โดยสำเร็จ หลังจากนั้น พม่าก็เดินทางเข้าล้อมเมืองพิษณุโลกเอาไว้ โดยมีพระมหาธรรมราชาของไทยคอยสู้รบป้องกันเมืองไว้อย่างเต็มกำลัง ซึ่งช่วงเวลาดังกล่าวได้เกิดการระบาดของไข้ทรพิษขึ้นในเมือง ทำให้เสบียงอาหารหมดลง และจึงเป็นต้องยอมจำนนต่อทัพพม่า ซึ่งเมื่อพม่าสามารถยึดหัวเมืองทางฝ่ายเหนือได้แล้ว ก็บังคับให้พระมหาธรรมราชาและเจ้าเมืองนั้นสาบานด้วยพิธีถือน้ำกระทำสัตย์ เพื่อให้ยอมทำตามคำสั่งของพม่า และต้องช่วยยกทัพมาตีเมืองกรุงศรีอยุธยาด้วย
กองทัพทหารพม่าเดินทางเข้าประชิดเขตเมืองที่อยู่ใกล้กับทุ่งลุมพลี พระมหาจักรพรรดิจึงมีรับสั่งให้กองทัพทั้งบกและเรือระดมยิงปืนขวางพม่าเอาไว้ พม่าจึงสั่งให้เข้ายึดป้อมพระยาจักรีหรือทุ่งลุมพลี  ป้อมจำปา และป้อมพระยามหาเสนาหรือทุ่งหันตราเอาไว้ เพื่อตั้งมั่นล้อมกรุงศรีอยุธยาเอาไว้ให้นานที่สุด
กองทัพไทยเริ่มสู้ไม่ไหวจึงถอยเข้าสู่กรุงศรีอยุธยาเสียหมด ทำให้พม่าสามารถเข้าล้อมพระนครของไทยเอาไว้ได้ทุกด้าน ฝ่ายพระมหาจักรพรรดิก็ทรงเห็นว่า ทัพพม่านั้นมีกำลังพลที่มากมายมหาศาล ไม่ควรจะส่งทหารออกไปสู้รบ พระมหาจักรพรรดิจึงรับสั่งให้ใช้วิธีลอบโจมตีพม่าทางเรือ และทรงสั่งให้ทหารยิงปืนใหญ่สกัดทหารพม่าเอาไว้ก่อน หากเมื่อถึงฤดูน้ำหลาก และเสบียงอาหารของพม่าหมดลง ศัตรูก็คงจะเคลื่อนถอยทัพกลับไปเอง แต่กองทัพพม่าครั้งนี้เตรียมการมาเป็นอย่างดี เพราะพม่าได้เตรียมเรือรบและปืนใหญ่มาด้วยจำนวนมาก ทำให้เวลาผ่านไปเพียงไม่นาน ทหารพม่าก็สามารถเข้าโจมตีเรือรบของไทย โดยยิงปืนใหญ่ใส่เรือรบของไทยจนพังเสียหายไปหมด และเรือรบทั้งหมดก็จมลงจนไม่สามารถออกมายิงต่อสู้กับพม่าได้อีก อีกทั้งพม่ายังนำเอาปืนใหญ่มาตั้งจ่อบนเนินเหนือกำแพงเมือง เพื่อยิงปืนใหญ่เข้าสู่พระนครทุกวัน ทำให้ชาวบ้านจำนวนไม่น้อยต้องเสียชีวิตล้มตายไปส่วนบ้านเรือนและวัดวาอารามก็พลอยเสียหายไปด้วย ทำให้เหล่าขุนนางรวมทั้งประชาชนในเมือง ต้องออกมาขอร้องให้พระมหาจักรพรรดิยอมแพ้ต่อสงครามในครั้งนี้ในที่สุด
chang2
พระเจ้าบุเรงนองเห็นว่าอยุธยากำลังเป็นรอง จึงได้มีการส่งพระราชสาสน์มาให้แก่พระมหาจักรพรรดิ โดยมีเนื้อความว่า หากพระมหาจักรพรรดิทรงยอมเป็นไมตรี พม่าจะยอมยกทัพกลับไป แต่ฝ่ายไทยจะต้องเสียช้างเผือกจากเดิมที่ตกลงกันไว้ที่ 2 ช้าง เป็น 4 ช้างแทน และในทุกๆปีก็จะต้องส่งช้างให้แก่พม่า 30 เชือก พร้อมกับเงินอีกจำนวน 300 ชั่ง พร้อมกันนั้น ได้จับตัวพระราเมศวรและพระยาจักรีเอาไว้เป็นตัวประกันด้วย เพราะทั้งคู่เป็นต้นคิดให้ไทยเกิดการรบกับพม่าในครั้งนี้ นอกจากนี้ ยังเรียกร้องขอเก็บภาษีอากรจากเมืองมะริดที่เป็นเมืองขึ้นของไทย ซึ่งไทยเองก็จำเป็นต้องยินยอมในคำขอของบุเรงนองในทั้งหมดเพื่อเป็นการสงบศึก ในขณะที่ สมเด็จพระนเรศวรที่มีพระชมมายุได้เพียง 9 พรรษา ก็ถูกส่งตัวไปประทับอยู่ที่กรุงหงสาวดี เพื่อเป็นตัวประกันของอยุธยาด้วย ซึ่งหลังจากที่เจรจาไกล่เกลี่ยกันได้เรียบร้อยแล้ว บุเรงนองก็ยอมยกทัพกลับเมืองพม่าตามที่ได้ตกลงกันไว้ แต่นี่ก็ถือเป็นเหตุการณ์ประวัติศาสตร์ครั้งสำคัญ ที่ทำให้เกิดการสงครามระหว่างไทยกับพม่าอีกหลายๆครั้งในเวลาต่อมา รวมไปถึงเหตุการณ์ในการเสียกรุงศรีอยุธยาในครั้งที่ 1 ด้วย

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น