รายวิชา ประวัติศาสตร์ รหัสวิชา ส22102 คุณครูผู้สอน คุณครูชาญวิทย์ ปรีชาพาณิชพัฒนา โรงเรียนเสลภูมิพิทยาคม อำเภอเสลภูมิ จังหวัดร้อยเอ็ด

ข่าว

วันเสาร์ที่ 22 สิงหาคม พ.ศ. 2558

สภาพบ้านเมืองรัชสมัยพระเจ้าเอกทัศ

สภาพบ้านเมืองรัชสมัยพระเจ้าเอกทัศ
สมเด็จพระเจ้าเอกทัศ คือ พระมหากษัตริย์พระองค์สุดท้ายแห่งกรุงศรีอยุธยา โดยมีพระนามเดิมว่า ‘กรมขุนอนุรักษ์มนตรี’ และทรงเป็นพระราชโอรสของสมเด็จพระเจ้าบรมโกศ ซึ่งสมเด็จพระเจ้าบรมโกศจะทรงพระราชดำริว่า กรมขุนอนุรักษ์มนตรีนั้นไม่​เหมาะสมที่จะขึ้นครองราชย์ แต่เมื่อบุตรองค์แรกของพระองค์สิ้นพระชนม์ สมเด็จพระเจ้าบรมโกศจึงแต่งตั้งให้พระราชโอรสองค์ที่ 3 คือ เจ้าฟ้าอุทุมพร ขึ้นมาเป็นพระมหาอุปราชแทน แต่เมื่อสิ้นรัชสมัยสมเด็จพระเจ้าบรมโกศ และเจ้าฟ้าอุทุมพรทรงราชาภิเษกขึ้นเป็นสมเด็จพระเจ้าอุทุมพรเพียงระยะเวลาไม่กี่เดือน เจ้าฟ้าเอกทัศก็แต่งตั้งพระองค์ขึ้นเป็นพระมหากษัตริย์อีกพระองค์หนึ่ง ซึ่งนำความไม่พอพระทัยมาสู่พระเจ้าลูกเธอทั้ง 3 พระองค์เป็นอย่างมาก แต่สุดท้าย ทั้งหมดก็ถูกประหารชีวิต ในขณะที่ สมเด็จพระเจ้าอุทุมพรทรงตัดสินพระทัยออกผนวช และปล่อยให้เจ้าฟ้าเอกทัศขึ้นครองราชย์เป็น “สมเด็จพระเจ้าเอกทัศ” ต่อไป
ในรัชสมัยของสมเด็จพระเจ้าเอกทัศ เกิดความวุ่นวายระส่ำระสายเป็นอย่างมาก ข้าราชการบางคนลาออกเพราะทนกับการปกครองของพระองค์และข้าราชการฝ่ายในที่เห็นแก่ความโลภไม่ได้ ทำให้ความเดือดร้อนยิ่งทวีคูณไปสู่ราษฎรมากยิ่งขึ้น ส่วนนักรบผู้กล้าที่เคยรับใช้ใต้ในเบื้องพระบาท ก็ต่างหนีเอาตัวรอดและไม่คิดที่จะช่วยกอบกู้เอาราชวงศ์คืนมา ทุกคนที่เคยมีอำนาจต่างพากันตั้งตนเป็นก๊กเป็นเหล่ากันเอง และแสวงหาผลประโยชน์กันภายในอย่างไม่มีที่สิ้นสุด
จุดเริ่มต้นสงคราม
ในปี พ.ศ. 2303 พระเจ้าอลองพญา ผู้เป็นปฐมกษัตริย์แห่งราชวงศ์อลองพญา ได้ยกทัพมาตีกรุงศรีอยุธยาเพื่อหวังจะแผ่ขยายพระราชอิทธิพลเข้าสู่ดินแดนมะริดและตะนาวศรี และต้องการกำจัดอยุธยาที่มักจะชอบยุยงให้หัวเมืองชายแดนของพม่าคิดกระด้างกระเดื่อง ซึ่งพระองค์ทรงเห็นว่า ช่วงเวลานี้อาณาจักรอยุธยากำลังอ่อนแอ และว่างเว้นการศึกกับพม่ามายาวนานกว่า 150 ปีแล้ว แต่ทว่า พระเจ้าอลองพญานั้นสวรรคาลัยกลางคัน ทำให้กองทัพพม่าจำเป็นต้องยกทัพกลับไปเสียก่อน
ส่วนสมเด็จพระเจ้าอุทุมพร ที่ตัดสินพระทัยออกผนวชเพื่อหลีกเลี่ยงการแก่งแย่งราชบัลลังก์ ก็จำเป็นต้องเสด็จกลับมาราชาภิเษกอีกหนเพื่อบัญชาการรบในศึกที่ต้องต่อสู้กับพระเจ้าอลองพญา ตามคำเชิญของพระเจ้าเอกทัศ และเมื่อบ้านเมืองกลับคืนสู่ความสงบเรียบร้อย สมเด็จพระเจ้าอุทุมพรจึงตัดสินพระทัยผนวชตลอดชีวิตและไม่คิดจะสึกอีกเลย แม้ว่าในภายหลังจะมีราษฎรและข้าราชการทั้งหลาย ขอร้องให้พระองค์ลาผนวชออกมาก็ตาม การที่สมเด็จพระเจ้าอุทุมพรทรงออกผนวชถึง 2 ครั้ง จึงทำให้พระองค์ได้รับสมัญญานามว่า “ขุนหลวงหาวัด” นั่นเอง
ในเวลาต่อมา พระเจ้ามังระได้เป็นผู้สืบราชย์ต่อจากพระเชษฐา ซึ่งพระเจ้ามังระก็มีพระราชดำริที่จะบุกโจมตีอาณาจักรอยุธยาเช่นกัน ซึ่งพระเจ้ามังระทรงทราบถึงจุดอ่อนของอาณาจักรอยุธยาในระดับหนึ่ง เนื่องจากเคยร่วมทัพกับพระเจ้าอลองพญามาแล้ว ทำให้ครั้งนี้พระองค์มีประสบการณ์ในการสู้รบมากขึ้น และมั่นใจว่าจะสามารถเข้ายึดกรุงศรีอยุธยาได้
พระเจ้ามังระจำมีพระราชดำริว่า ควรจะต้องลดอำนาจของกรุงศรีอยุธยาลง เพื่อไม่ให้อยุธยาเป็นที่พึ่งของหัวเมืองเล็กหัวเมืองน้อยที่คิดจะตีตัวออกห่างพม่า นอกจากนี้ ยังคาดว่ามีสาเหตุอื่นๆอีกที่นำมาสู่สงครามการเสียกรุงในครั้งนี้ เช่น อยุธยาไม่ส่งหุยตองจาผู้เป็นผู้นำกบฏมอญคืนให้แก่พม่า พระเจ้ามังระต้องการจะเป็นใหญ่เทียบเท่าพระเจ้าบุเรงนอง เป็นต้น
เสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่สอง
การปิดล้อมกรุงศรีอยุธยา
หลังจากที่ช่วงฤดูน้ำหลากเพิ่งผ่านพ้นไป อยุธยาก็ส่งพระยาไต๊ไปตีค่ายมังมหานรธา ส่วนพระยาพระนริศก็ถูกส่งไปตีค่ายเนเมียวสีหบดี แต่แม่ทัพทั้งสองก็ถูกตีแตกกลับมาทั้งคู่ ทำให้พระเจ้าเอกทัศโปรดให้ทหารเพิ่มความแข็งแรงให้แก่กำแพงเมืองอย่างแน่นหนา โดยการสร้างค่ายล้อมกรุงศรีอยุธยาเอาไว้ในทุกด้าน ในขณะที่ฝ่ายพม่าก็พยายามเคลื่อนพลเข้ามาใกล้กับกำแพงของพระนครขึ้นทุกทีๆ
ในขณะที่ ฝ่ายอยุธยาก็เน้นการต่อสู้ในเชิงตั้งรับในพระนคร โดยใช้แผนการรอให้ถึงฤดูน้ำหลาก เพื่อให้กองทัพข้าศึกล่าถอยทัพกลับไปเอง ซึ่งเห็นว่าด้วยยุทธศาสตร์แห่งนี้สามารถเอาชนะข้าศึกมาได้อย่างยาวนานหลายศตวรรษแล้ว อีกทั้ง ฝ่ายอยุธยายังนำเงินไปซื้อปืนคาบศิลา ปืนใหญ่ และเครื่องกระสุนอีกเป็นจำนวนมากด้วย แต่ก็ไม่ได้ถูกนำออกมาใช้ นอกจากนี้ ฝ่ายอยุธยายังได้มีการจ้างทหารต่างด้าวเพื่อมาช่วยเสริมทัพด้วย ซึ่งทหารจ้างส่วนใหญ่จะเป็นชาวยุโรปและชาวจีน โดยพบหลักฐานว่า มีเรือรบอังกฤษอย่างน้อยหนึ่งลำถูกจัดให้ตั้งมั่นเพื่อป้องกันด้านปีกของพระนครด้วย
เวลาต่อมา อยุธยาเห็นว่ายุทธศาสตร์การตั้งรับในพระนครท่าจะต้านทานต่อไปไม่ไหว และจำต้องจะต้องป้องกันไม่ให้ข้าศึกบุกเข้าประชิดพระนครได้อีก แต่เพราะระบบป้องกันตนเองของอยุธยามีจุดอ่อนมาตั้งแต่ก่อนหน้านี้แล้ว จึงทำให้อยุธยายากที่จะป้องกันกำลังของทหารพม่าได้
จนเมื่อถึงวันที่ 14 กันยายน พ.ศ. 2309 กองทัพพม่าก็สามารถเคลื่อนพลมาล้อมกรุงศรีอยุธยาไว้ได้ในที่สุด กรุงศรีอยุธยาภายใต้การนำของสมเด็จพระเจ้าเอกทัศ ไม่สามารถพลิกสถานการณ์ได้เลย ทำให้พระนครเริ่มขาดเสบียงอาหารขึ้นทุกทีๆ พร้อมกับขวัญกำลังใจของกองทัพที่ค่อยๆเสื่อมโทรมลงด้วย
มังมหานรธาได้เสนอความคิดในที่ประชุมว่า ใช้ลอบขุดอุโมงค์เพื่อดำดินเข้าไปในกรุง อีกทั้งให้สร้างค่ายทหารขึ้นล้อมรอบพระนครถึง 27 ค่าย ทั้งเพนียด วัดสามพิหาร วัดมณฑบ วัดนางปลื้ม และวัดศรีโพธิ์ เพื่อจะได้สามารถยิงปืนใหญ่ได้แม่นยำมากยิ่งขึ้น ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่กองทัพหัวเมืองทางเหนือประมาณ 20,000 นาย ได้ยกทัพมาช่วยกรุงศรีอยุธยาพอดี แต่ด้วยกำลังพลที่น้อยกว่า กองทัพที่ยกมาจึงถูกตีแตกกลับไปอย่างไม่ยากเย็น
หลังจากที่พ่ายแพ้ทางการรบไปแล้ว และทหารพม่าปิดล้อมรอบกรุงศรีอยุธยาอย่างยาวนานถึง 14 เดือน กรุงศรีอยุธยาจึงได้ส่งทูตออกไปเจรจาขอสงบศึกและยอมตกเป็นเมืองขึ้นพม่า แต่แม่ทัพพม่าก็ปฏิเสธในคำร้องขอครั้งนี้
เมื่อเวลาผ่านไป ทหารพม่าก็เริ่มต้นการขุดอุโมงค์เพื่อบุกเข้าสู่พระนครด้านหัวรอจำนวน 5 แห่ง และตั้งค่ายใหม่เพิ่มขึ้นอีก 3 แห่ง พร้อมกับการยึดค่ายที่กรุงศรีอยุธยามีไว้ป้องกันพระนครทางเหนือ ใต้ และตะวันออกเฉียงเหนือได้ทั้งหมด จากนั้นเมียวสีหบดีก็สั่งให้นายกองจุดไฟสุมเผารากกำแพงเมืองจากใต้อุโมงค์ เพื่อหวังที่จะถล่มกำแพงเมืองให้สิ้น
การเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่ 2
ในวันอังคาร ขึ้น 9 ค่ำ เดือน 5 ปีกุน หรือตรงกับวันที่ 7 เมษายน พ.ศ. 2310 หลังจากที่กำแพงกรุงศรีอยุธยาถล่มทรุดลงมาแล้ว แม่ทัพพม่าก็ให้สัญญาณปืนเพื่อบอกให้ทหารบุกเข้าสู่พระนครพร้อมกันในทุกด้าน และแม้ว่าทหารอยุธยาจะพยายามรักษาบ้านเมืองไว้สุดกำลัง แต่ก็ไม่อาจจะต่อสู้ต้านทางกองทัพพม่าได้ ในคืนเดียวกันนั้น กรุงศรีอยุธยาจึงเสียอิสรภาพให้แก่กองทัพพม่าในที่สุด
2013
การทำลายกรุงศรีอยุธยา
หลังจากที่พม่าเข้ากรุงได้แล้ว ก็เริ่มต้นเผาเมืองทั้งเมือง พงศาวดารเล่าว่า พม่าเผาเมืองตั้งแต่บ้านเรือนราษฎรไปจนถึงปราสาทราชมนเทียรยาวนานเป็นเวลาถึงสิบห้าวัน นอกจาก การเผาบ้านเผาเมืองแล้ว กองทัพพม่ายังปล้นชิงทรัพย์สินในพระนครทั้งของภิกษุและฆราวาส หากผู้ใดขัดขืนก็จะต้องโดนลงทัณฑ์อย่างแสนทรมาน อีกทั้งยังกวาดต้อนผู้คนรวมถึงพระราชวงศ์ ข้าราชการ และสมณะ รวมกันมากกว่า 30,000 คน ไปคุมขังไว้ตามที่ต่างๆ โดยหากเป็นพระสงฆ์จะโดนจองจำอยู่ที่ค่ายโพธิ์สามต้น ส่วนฆราวาสจะถูกจองจำตามค่ายของแม่ทัพนายกองทั้งหลาย หลังจากที่เผาทำลายพระนครแล้ว กองทัพพม่าได้พำนักอยู่ ณ กรุงศรีอยุธยาต่อจนถึงวันที่ 6 มิถุนายน พ.ศ. 2310 จากนั้นจึงกวาดต้อนผู้คนและทรัพย์สินกลับบ้านเมืองของตน อย่างไรก็ดี หลักฐานทางประวัติศาสตร์ของพม่าและไทย กล่าวตรงกันว่า ทหารพม่ามิได้ฆ่าฟันผู้คนมากมาย เพียงแต่เผาบ้านเมือง ขโมยทรัพย์สมบัติ และคนไทยกลับไปด้วยเท่านั้น
ระหว่างนั้น พม่าเกิดการสงครามกับจีน พระเจ้ามังระจึงตัดพระทัยให้เรียกกองทัพส่วนใหญ่กลับไปป้องกันประเทศมิ และให้กองทหารขนาดเล็กไม่ถึง 10,000 นาย เฝ้าประจำพื้นที่ในอาณาจักรอยุธยาไว้ ด้วยปริมาณของกองทัพพม่าที่น้อย จึงทำให้ไม่สามารถตรวจตราค่ายคูประตูหอได้อย่างถ้วนทั่ว บริเวณที่ห่างไกลและอยู่เหนือการควบคุมจึงกลายสภาพไปเป็นซ่องโจรไป และเพื่อความอยู่รอดของตนเอง จึงทำให้คนไทยเกิดการชุมนุมทางการเมืองในระดับต่างๆ และตั้งเอาตนเองเป็นใหญ่ในเขตอิทธิพลของตน ซึ่งมีชื่อเรียกว่า “ชุมนุม” หรือ “ก๊ก” ที่มีอยู่จำนวน 4-6 แห่ง กระจายอยู่ทั่วไป
การที่กองทัพพม่าทำลายล้างพระนครของไทยในครั้งนี้ มีผลให้ความสัมพันธ์ระหว่างไทยและพม่าเสื่อมลงตั้งแต่วันนั้นจนถึงปัจจุบัน และนอกจากการเสียกรุงครั้งนี้ จะส่งผลให้อาณาจักรอยุธยาที่ยิ่งใหญ่ได้ล่มสลายลงแล้ว ยังมีผลให้ตะนาวศรีตอนใต้ตกเป็นอาณานิคมของพม่าอย่างถาวรด้วย

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น