รายวิชา ประวัติศาสตร์ รหัสวิชา ส22102 คุณครูผู้สอน คุณครูชาญวิทย์ ปรีชาพาณิชพัฒนา โรงเรียนเสลภูมิพิทยาคม อำเภอเสลภูมิ จังหวัดร้อยเอ็ด

ข่าว

วันเสาร์ที่ 22 สิงหาคม พ.ศ. 2558

สงครามยุทธหัตถี

“สงครามยุทธหัตถี” เป็นสงครามที่เกิดขึ้นในปี พ.ศ. 2135 ซึ่งเป็นการทำศึกสงครามระหว่างกรุงศรีอยุธยาและพม่า ซึ่งแม้ว่าศึกครั้งนี้อยุธยาจะมีกำลังพลน้อยกว่า แต่ก็สามารถทำสงครามชนะพม่าได้ในที่สุด
สงครามยุทธหัตถี เริ่มต้นที่พระเจ้าหงสาวดีนันทบุเรงโปรดให้พระมหาอุปราชา นำกองทัพทหารจำนวนมากถึงสองแสนสี่หมื่นคน เดินทางมาโจมตีกรุงศรีอยุธยาเพื่อหมายที่จะนำชัยชนะกลับเมืองหงสาวดีให้ได้ ซึ่งเมื่อสมเด็จพระนเรศวรทรงทราบว่า กองทัพพม่าครั้งนี้ยกทัพมาอย่างยิ่งใหญ่มากกว่าครั้งที่ผ่านๆมา พระองค์จึงทรงสั่งให้เตรียมไพร่พลที่มีจำนวนถึงหนึ่งแสนคน โดยยกทัพออกจากบ้านป่าโมกไปสู่สุพรรณบุรี โดยข้ามน้ำตรงท่าท้าวอู่ทอง และรับสั่งให้ตั้งค่ายหลวงในบริเวณหนองสาหร่ายเพื่อตั้งรับทัพของพระมหาอุปราชา
เมื่อถึงวันจันทร์ แรม ๒ ค่ำ เดือนยี่ ปีมะโรง พ.ศ. 2135 ในเวลาเช้า สมเด็จพระนเรศวรและสมเด็จพระเอกาทศรถก็ทรงเครื่องพิชัยยุทธและขึ้นช้างทรง โดยช้างทรงของทั้งสองพระองค์นั้นเป็นช้างชนะงา ซึ่งหมายถึงช้างที่มีงา ที่ผ่านการฝึกให้รู้จักการต่อสู้ในสนามรบ หรือเคยผ่านสงครามชนช้างจนได้รับชัยชนะเหนือช้างตัวอื่นๆมาแล้ว โดยสมเด็จพระนเรศวรทรงช้างที่มีชื่อว่า “เจ้าพระยาไชยานุภาพ” ในขณะที่ พระสมเด็จพระเอกาทศรถ ทรงช้างที่มีชื่อว่า “เจ้าพระยาปราบไตรจักร”
แต่โชคร้ายที่ในระหว่างการรบ ช้างทรงของสมเด็จพระนเรศวรและพระสมเด็จพระเอกาทศรถเกิดตกมัน ทำให้ช้างทรงทั้งสองวิ่งไล่ตามพม่าจนหลงเข้าไปในดินแดนของพม่า ซึ่งขณะนั้นมีเพียงทหารรักษาพระองค์และจาตุรงค์บาทเท่านั้นที่สามารถติดตามกษัตริย์ทั้งสองพระองค์ไปทัน
สมเด็จพระนเรศวรทอดพระเนตรเห็นว่า พระมหาอุปราชาทรงพระคชสารอยู่ในร่มไม้ร่วมกับเหล่าท้าวพระยา จึงทราบความจริงว่าช้างทรงของสองพระองค์ ถลำลึกเข้ามาสู่ใจกลางของกองทัพพม่าแล้ว และบัดนี้ก็ยังตกอยู่ภายใต้วงล้อมของข้าศึกอีกด้วย แต่ด้วยพระไหวพริบปฏิภาณของสมเด็จพระนเรศวร ซึ่งทรงเห็นว่า พระองค์กำลังเสียเปรียบข้าศึกอยู่ สมเด็จพระนเรศวรจึงไสช้างเข้าไปใกล้กับศัตรู แล้วตรัสถามด้วยความคุ้นเคยมาแต่วัยเยาว์ว่า “พระเจ้าพี่ เราจะยืนอยู่ใยในร่มไม้เล่า เชิญออกมาทำยุทธหัตถีด้วยกันเถิด จะได้เป็นเกียรติยศแก่แผ่นดินสืบไป เพราะภายภาคหน้าพระเจ้าแผ่นดินคงจะไม่ได้ทำยุทธหัตถีกันเช่นนี้อีกต่อไปอีก” ซึ่งการที่สมเด็จพระนเรศวรกล่าวเช่นนี้ ก็เนื่องจากในช่วงปีแห่งการเปลี่ยนผ่าน ทำให้จารีตหรือประเพณีการออกศึกแบบเก่าๆ ที่เน้นพระปรีชาสามารถและบุญญาธิการของจอมทัพแต่ละฝ่าย กำลังจะถูกลบเลือนหายไป และนำเอาอาวุธยิงไกลที่มีอานุภาพทำลายล้างข้าศึกได้สูงเข้ามาแทนที่ ในช่วงการสงครามครั้งนี้ จึงเป็นการผสมผสานการต่อสู้ทั้งแบบการรบบนหลังช้าง และการใช้อาวุธยิงไกลตามแบบตะวันตกเข้ามาปะปนกัน
yut1
เมื่อพระมหาอุปราชาทรงได้ยินคำท้าดังนั้น พระองค์จึงรีบไสช้างที่มีชื่อว่า “พลายพัทธกอ” เข้าชนกับเจ้าพระยาไชยานุภาพทันที ทำให้เจ้าพระยาไชยานุภาพเสียหลัก ช่วงจังหวะนี้เอง พระมหาอุปราชาทรงใช้พระแสงของ้าวฟันสมเด็จพระนเรศวรอย่างแรง แต่สมเด็จพระนเรศวรทรงเบี่ยงพระองค์หลบได้ทัน และใช้พระแสงของ้าวฟันกลับไปที่พระมหาอุปราชา ซึ่งเป็นจังหวะที่เจ้าพระยาไชยานุภาพชนพลายพัทธกอจนเสียหลัก พระแสงของ้าวจึงต้องพระมาลาหนังขาด และฟันถูกพระมหาอุปราชาเข้าที่อังสะขวา ทำให้พระมหาอุปราชาสิ้นพระชนม์ทันทีบนคอช้าง
ในขณะที่สมเด็จพระเอกาทศรถ ก็ทรงฟันเจ้าเมืองจาปะโรเสียชีวิตทันทีเช่นกัน เมื่อเหล่าทหารพม่าเห็นว่าผู้นำของตนพลาดท่าเสียทีสมเด็จพระนเรศวรและสมเด็จพระเอกาทศรถแล้ว ก็จึงใช้ปืนระดมยิงใส่สมเด็จพระนเรศวร จนพระองค์ได้รับบาดเจ็บ แต่ทันใดนั้น ทัพหลวงของไทยก็ตามมาช่วยไว้ได้ทัน จึงสามารถรับเอาทั้งสองพระองค์กลับสู่พระนครได้อย่างปลอดภัย ส่วนกองทัพพม่าก็จำเป็นต้องยกทัพคืนกลับสู่กรุงหงสาวดีไป
เรื่องเล่าที่กล่าวมาข้างต้นนี้ เป็นเรื่องเล่าจากพงศาวดารของไทย แต่หากสืบหาข้อมูลในมหายาชะเวงหรือพงศาวดารของพม่า ที่มีชื่อว่า ‘พงศาวดารฉบับอูกาลา และพงศาวดารฉบับหอแก้ว’ แล้ว เรื่องราวจะค่อนข้างผิดแผกไปจากพงศาวดารของไทยเป็นอย่างมาก โดยระบุไว้ว่า การทำยุทธหัตถีครั้งนี้ เกิดขึ้นเนื่องจากช้างทรงของสมเด็จพระนเรศวรบุกเข้ามาในวงล้อมของทหารพม่า ฝ่ายพม่าได้มีการยืนช้างเรียงเป็นหน้ากระดาน โดยมีตั้งแต่ช้างทรงของพระมหาอุปราชาและช้างของเจ้าเมืองชามะโรง เมื่อทหารของฝ่ายสมเด็จพระนเรศวรได้ระดมยิงปืนใส่ทหารพม่า ทำให้เจ้าเมืองชามะโรงต้องสั่งเปิดผ้าหน้าราหูช้างของตนออ เพื่อไสช้างเข้าขวางหน้าป้องกันพระมหาอุปราชา โดยเข้าไปกระทำยุทธหัตถีกับสมเด็จพระนเรศวรแทน แต่ปรากฏว่าช้างของเจ้าของชามะโรงเกิดความผิดพลาดตกมัน และวิ่งเข้าใส่ช้างของพระมหาอุปราชาแทน พระมหาอุปราชาจึงจำต้องขับพระคชาธารเข้ารับไว้ จนทำให้เกิดเหตุการณ์ชุลมุนวุ่นวายขึ้น และทันใดนั้นเอง ทหารไทยของสมเด็จพระนเรศวร กยิงกระสุนปืนลูกหนึ่งเข้าถูกพระมหาอุปราชา จนทำให้พระองค์สิ้นพระชนม์ทันทีบนหลังช้าง
ในขณะที่เรื่องเล่าตามพงศาวดารของชาติตะวันตก ก็มีการกล่าวถึงเหตุการณ์ในสงครามยุทธหัตถีเอาไว้หลายบันทึก ยกตัวอย่างเช่น
– บันทึกของฝรั่งโปรตุเกสที่ชื่อว่า Mr. A. Macgregor ภายใต้ชื่อ “A Brief Account of the Kingdom of Pegu”  ยืนยันชัดเจนว่า สงครามยุทธหัตถีระหว่างสมเด็จพระนเรศวรกับพระมหาอุปราชาครั้งนี้ได้เกิดขึ้นจริง ซึ่งการต่อสู้กันในครั้งนี้เป็นการกระทำอย่างเป็นกิจจะลักษณะต่อหน้าเหล่าทหารหาญของทั้งฝ่ายไทยและฝ่ายพม่า ทั้งนี้ การทำสงครามยุทธหัตถีครั้งนี้ เกิดขึ้นเนื่องจากสมเด็จพระนเรศวรมหาราช ทรงมีพระราชสาส์นออกไปท้าพระมหาอุปราชา ให้พระองค์ออกมาร่วมกระทำยุทธหัตถีด้วยกันอย่างสมพระเกียรติ
yut2
– พงศาวดารกรุงศรีอยุธยา ฉบับวัน วลิต พ.ศ. 2182 ที่แปลและเรียบเรียงมาจาก The Story History of the King of Siam ของ ดร.เลียวนาร์ด แอนดายา (Dr.Leonard Andaya) ซึ่งแปลมาจากต้นฉบับเดิมภาษาฮอลันดาของ “เยรามีส ฟาน ฟลีต” (Jeremias van Vliet) อีกที เรื่องราวในพงศาวดารฉบับนี้เล่าว่า สงครามยุทธหัตถีครั้งนี้เกิดการสู้รบกันที่บริเวณหนองสาหร่าย โดยขณะที่ต่อสู้กันนั้น ช้างทรงของสมเด็จพระนเรศวรมีขนาดเล็กกว่าช้างทรงของพระมหาอุปราชา  ทำให้ช้างทรงของสมเด็จพระนเรศวรรู้สึกกลัวและเบนหัวหนี แต่สมเด็จพระนเรศวรก็ทรงรับสั่งและปลอบขวัญช้างทรงตัวนั้น ซึ่งช้างทรงของสมเด็จพระนเรศวรก็สามารถรับรู้ได้เป็นอย่างดี และจึงหันกลับไปสู้ศึกกับช้างทรงของพระมหาอุปราชาอีกครั้ง ในขณะที่กำลังต่อสู้กัน ช้างทรงของพระมหาอุปราชาเกิดถูกงวงของช้างทรงสมเด็จพระนเรศวรฟาดเข้า ช้างตัวนั้นจึงร้องออกมาด้วยเสียงอันดังลั่น ซึ่งเป็นผลให้พระมหาอุปราชาตกพระทัย สมเด็จพระนเรศวรจึงอาศัยจังหวะนี้จ้วงฟันพระมหาอุปราชาด้วยพระแสงของ้าว จนทำให้พระมหาอุปราชาสิ้นพระชนม์บนหลังช้างในที่สุด
ไม่ว่าเหตุการณ์ครั้งนี้จะมีเรื่องราวอย่างไร อาจจะเป็นไปตามพงศาวดารของไทยหรือพงศาวดารพม่า หรืออาจเป็นการผสมผสานระหว่างเรื่องเล่าของทั้งสองชาติ แต่กล่าวโดยสรุปแล้ว กองทัพไทยของสมเด็จพระนเรศวรและสมเด็จพระเอกาทศรถ ก็สามารถมีชัยเหนือกองทัพพม่าของพระมหาอุปราชาได้อย่างสมบูรณ์ และสงครามครั้งนี้ก็เป็นที่โด่งดังไกลไปทั่วทุกแคว้น จนไม่มีกองทัพของอาณาจักรใดๆกล้ายกทัพเข้ามากล้ำกรายกรุงศรีอยุธยาได้อีกเป็นระยะเวลายาวนาน โดยกรุงศรีอยุธยาว่างเว้นสงครามกับพม่าได้อย่างยาวนานถึง 150 ปี

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น