รายวิชา ประวัติศาสตร์ รหัสวิชา ส22102 คุณครูผู้สอน คุณครูชาญวิทย์ ปรีชาพาณิชพัฒนา โรงเรียนเสลภูมิพิทยาคม อำเภอเสลภูมิ จังหวัดร้อยเอ็ด

ข่าว

วันเสาร์ที่ 22 สิงหาคม พ.ศ. 2558

เหตุการณ์ก่อนเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่ 1

การเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่ 1 นั้น เกิดขึ้นในรัชสมัยที่คาบเกี่ยวระหว่างสมเด็จพระมหาจักรพรรดิ กษัตริย์พระองค์ที่ 15 ของอาณาจักรอยุธยา และสมเด็จพระมหินทราธิราช กษัตริย์พระองค์ที่ 16 ของอาณาจักรอยุธยา โดยกษัตริย์ทั้งสองพระองค์ได้พยายามต่อสู้กับพระเจ้าบุเรงนองผู้เป็นแม่ทัพของพม่า อย่างเต็มกำลังความสามารถ แต่ท้ายที่สุด ก็ต้องพ่ายแพ้ต่อกษัตริย์พม่าผู้นี้ เนื่องจากมีกบฏคนไทยคอยเป็นไส้ศึกบ่อนทำลายประเทศชาตินั่นเอง
เหตุการณ์ก่อนเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่ 1
ตอนก่อนหน้านี้ที่ได้กล่าวถึง ‘สงครามช้างเผือก’ ไป และผลปรากฏว่ากรุงศรีอยุธยาเป็นฝ่ายพ่ายแพ้  ทำให้อยุธยาจำต้องเสียช้างเผือกให้แก่พม่าถึง 4 ช้าง และจำเป็นต้องส่งพระราเมศวร ซึ่งเป็นพระราชโอรสองค์โตของสมเด็จพระมหาจักรพรรดิและสมเด็จพระสุริโยทัย รวมถึงพระสุนทรสงคราม และพระยาจักรีไปเป็นตัวประกันที่เมืองหงสาวดีด้วย
ในเวลาต่อมา สมเด็จพระไชยเชษฐาผู้ครองอาณาจักรล้านช้าง ได้ส่งสาส์นมาให้สมเด็จพระมหาจักรพรรดิ ซึ่งเนื้อความในสาส์นเป็นการสู่ขอพระเทพกษัตรี ผู้เป็นพระธิดาของสมเด็จพระมหาจักรพรรดิไปเป็นภรรยา ด้วยความที่สมเด็จพระมหาจักรพรรดิ ทรงเห็นแก่ความสัมพันธ์อันดีงามระหว่างอาณาจักรอยุธยาและอาณาจักรล้านช้าง จึงยอมที่จะพระราชทานธิดาให้แก่สมเด็จพระไชยเชษฐาแต่โดยดี แต่ในระหว่างการเดินทางกลับสู่อาณาจักรล้านช้าง พระเทพกษัตรีกลับถูกทหารพม่าชิงตัวไป เพราะพระมหาธรรมราชาได้แอบแจ้งข่าวครั้งนี้ให้แก่พระเจ้าบุเรงนอง กษัตริย์แห่งหงสาวดีทราบ ซึ่งการแย่งชิงตัวของพระเทพกษัตรีครั้งนี้ เป็นเหตุการณ์ก่อนที่จะเกิดการเสียกรุงศรีอยุธยาในปี พ.ศ. 2112 นั่นเอง
krung1
จุดเริ่มต้นของการเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่ 1
หลังจากเสร็จสิ้นสงครามช้างเผือกไปได้เรียบร้อยแล้ว สมเด็จพระมหาจักรพรรดิก็ทรงสั่งให้ปรับปรุงบ้านเมืองให้แข็งแกร่งขึ้น เพราะรู้ว่าสงครามกำลังจะตามมาในอีกไม่ช้า อีกทั้งยังพยายามผูกสัมพันธไมตรีที่ดีงามกับพระเจ้าไชยเชษฐาธิราชผู้ครองอาณาจักรล้านช้าง ซึ่งภายหลังกลายเป็นเหตุให้พระมหินทร พระราชโอรสของสมเด็จพระมหาจักรพรรดิเกิดบาดหมางใจกับพระมหาธรรมราชาเจ้าผู้ครองเมืองพิษณุโลกพระมหินทรจึงได้ขอให้พระเจ้าไชยเชษฐาธิราชช่วยยกทัพมาตีเมืองพิษณุโลก แต่พระมหาธรรมราชาผู้เป็นเจ้าเมืองพิษณุโลก ก็สามารถป้องกันเมืองเอาไว้ได้อย่างปลอดภัย เมื่อเหตุการณวุ่นวายดังกล่าวล่วงรู้ถึงหูของพระเจ้าบุเรงนอง พระองค์จึงทรงสถาปนาพระมหาธรรมราชาให้เป็นเจ้าประเทศราชของกรุงหงสาวดีที่ทำหน้าที่ปกครองเมืองพิษณุโลกและหัวเมืองฝ่ายเหนือ โดยไม่อยู่ภายใต้อำนาจของกรุงศรีอยุธยา
ความขัดแย้งของพระมหาธรรมราชาและพระมหินทร ทำให้กรุงศรีอยุธยามีกำลังที่อ่อนลงเรื่อยๆ จนเมื่อถึงปี พ.ศ. 2111 พระเจ้าบุเรงนองก็ได้ยกทัพใหญ่เข้ามา เพื่อหมายจะยึดครองกรุงศรีอยุธยาไว้ใต้อำนาจ กองทัพพม่าตั้งค่ายล้อมกรุงศรีอยุธยาเอาไว้อยู่นานหลายเดือน แต่ก็ยังไม่อาจทะลุผ่านกำแพงเมืองที่แข็งแกร่งได้ เนื่องจากทหารของกรุงศรีอยุธยาได้ต่อสู้ตรึงกำลังเอาไว้อย่างเต็มความสามารถ และเฝ้ารอให้ถึงฤดูน้ำหลาก เพื่อกองทัพพม่าจะได้ล่าถอยทัพกลับไป
แต่โชคร้ายก็เกิดขึ้นกับกรุงศรีอยุธยา เพราะช่วงเวลาที่ทหารพม่าล้อมกรุงไว้นั้น สมเด็จพระมหาจักรพรรดิก็เกิดอาการประชวร และเสด็จสวรรคตไปในเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2111 ทำให้พระมหินทรต้องเสด็จขึ้นครองราชย์เป็นกษัตริย์องค์ถัดมา และมีพระนามว่า “สมเด็จพระมหินทราธิราช” สมเด็จพระมหินทราธิราชทรงต่อสู้ปกป้องกรุงศรีอยุธยาอย่างเต็มความสามารถ แต่กองทัพพม่าก็ได้ใช้กลอุบายโดยส่งพระยาจักรีเข้ามาเป็นไส้ศึก ทำให้กรุงศรีอยุธยาต้องพลาดท่าเสียทีต่อพม่า โดยเหตุผลที่พระยาจักรียอมมาเป็นไส้ศึกครั้งนี้ก็เพราะเห็นแก่ทรัพย์สมบัติที่พระเจ้าบุเรงนองกล่าวว่าจะประทานให้ หากมีผู้ใดที่คิดวางแผนโจมตีกรุงศรีอยุธยาได้สำเร็จ พระยาจักรีจึงได้เสนอตัวเองไปเป็นหนอนบ่อนไส้ในพระนครของกรุงศรีอยุธยา โดยทำทีเป็นว่า พระยาจักรีนั้นสามารถลอบหนีออกมาจากกรุงหงสาวดีได้ ทำให้พระมหินทราธิราชทรงไว้พระทัยต่อพระยาจักรีเป็นยิ่งนัก และมอบตำแหน่งแม่ทัพใหญ่ให้แก่พระยาจักรีด้วย หลังจากที่ได้รับตำแหน่งดังกล่าวแล้ว พระยาจักรีก็วางอุบายให้ทหารที่มีความสามารถเก่งกาจในการรบไปประจำกองที่ไม่มีความสำคัญ และส่งให้ทหารที่ไร้ฝีมือสลับมาเป็นทัพหน้าเพื่อรบต่อสู่กับกองทัพของพระเจ้าบุเรงนองแทน ส่วนแม่ทัพนายกองคนใดที่พอจะมีฝีมือความสามารถ พระยาจักรีก็จะพยายามหาเรื่องใส่ความ จนทำให้นายกองผู้นั้นต้องถูกลงโทษ คุมขัง หรือเฆี่ยนตี ซึ่งการกระทำด้วยอุบายดังกล่าวมานี้ของพระยาจักรีเพียงเวลาไม่นานนัก ก็ทำให้กรุงศรีอยุธยาต้องเสียอิสรภาพเป็นครั้งแรก สุดท้ายกรุงศรีอยุธยาจึงต้องปราชัยให้แก่พม่าในปี พ.ศ. 2112 ในที่สุด
burangnong
ในขณะที่ฝ่ายพระยาจักรีเมื่อสามารถทำภารกิจของตนเองได้แล้วเสร็จ ก็รีบเดินทางกลับไปเข้าเฝ้าต่อพระเจ้าบุเรงนองที่กรุงหงสาวดีทันที เพื่อหวังให้พระเจ้าบุเรงนองประทานรางวัลที่ตนนั้นนำชัยชนะมาให้แก่พม่าได้สำเร็จ แต่เหตุการณ์กลับตาลปัตรและไม่เป็นอย่างที่พระยาจักรีคิดไว้ เพราะพระเจ้าบุเรงนองทรงมีพระราชโองการสั่งให้ประหารชีวิตพระยาจักรีเสีย เนื่องจากถือว่าการกระทำของพระยาจักรีนั้น เป็นการทรยศบ้านเกิดเมืองนอนของตนเอง หรือถือเป็นการก่อกบฎ เพราะหากพระยาจักรีนั้นสามารถทรยศบ้านเกิดเมืองนอนของตนเองได้ในตอนนี้ ต่อไปในภายภาคหน้าก็คงจะคิดคดทรยศต่อกรุงหงสาวดีได้เช่นกัน ว่าแล้วพระเจ้าบุเรงนองจึงสั่งให้ตอกมือของพระยาจักรีไว้กับหีบรางวัลที่พระเจ้าบุเรงนองเคยบอกว่าจะประทานให้ จากนั้นจึงจับพระยาจักรีไปถ่วงน้ำเพื่อเป็นการลงโทษ
เหตุการณ์หลังเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่ 1
หลังจากที่พม่าได้รับชัยชนะไปแล้ว พระเจ้าบุเรงนองก็สั่งให้จับสมเด็จพระมหินทราธิราชและข้าราชบริพารอีกจำนวนหนึ่ง ไปเป็นเชลยศึกที่เมืองหงสาวดีด้วย ทำให้กรุงศรีอยุธยาได้ตกไปเป็นประเทศราชของกรุงหงสาวดีตั้งแต่นั้นมา ซึ่งเหตุการณ์ครั้งนี้นับเป็นการสูญเสียอิสรภาพทางการเมืองครั้งแรกของประเทศไทยเลยก็ว่าได้ แต่ระหว่างที่สมเด็จพระมหินทราธิราชถูกพาตัวไปยังกรุงหงสาวดี พระองค์ก็เกิดประชวรอย่างหนักจนสวรรคตระหว่างทางกลับไปยังกรุงหงสาวดี ทางฝ่ายอยุธยา พระเจ้าบุเรงนองก็ได้แต่งตั้งให้สมเด็จพระมหาธรรมราชาขึ้นครองราชย์เป็นพระมหากษัตริย์พระองค์ถัดไปของกรุงศรีอยุธยา ซึ่งสมเด็จพระมหาธรรมราชานั้นสืบเชื้อสายดั่งเดิมมาจากราชวงศ์สุโขทัย ไม่เพียงเท่านั้น พระเจ้าบุเรงนองยังนำเอาพระราชโอรสของสมเด็จพระมหาธรรมราชาไปเลี้ยงดูที่กรุงหงสาวดีด้วย ซึ่งพระราชโอรสของสมเด็จพระมหาธรรมราชาที่ถูกนำตัวไป ก็คือ ‘สมเด็จพระนเรศวรมหาราช’ ซึ่งในเวลาต่อมา สมเด็จพระนเรศวรมหาราชก็กลายเป็นพระมหากษัตริย์ไทยที่เป็นผู้นำในการทำสงครามต่อสู้กับพม่า จนสามารถกอบกู้อิสรภาพกลับมาสู่อาณาจักรกรุงศรีอยุธยาแห่งสยามประเทศได้อีกครั้ง

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น