รายวิชา ประวัติศาสตร์ รหัสวิชา ส22102 คุณครูผู้สอน คุณครูชาญวิทย์ ปรีชาพาณิชพัฒนา โรงเรียนเสลภูมิพิทยาคม อำเภอเสลภูมิ จังหวัดร้อยเอ็ด

ข่าว

วันเสาร์ที่ 22 สิงหาคม พ.ศ. 2558

สงครามพระเจ้าตะเบ็งชเวตี้

“สงครามพระเจ้าตะเบ็งชเวตี้” หรือเรียดอีกชื่อหนึ่งว่า “สงครามคราวเสียสมเด็จพระสุริโยทัย” เป็นหนึ่งในสงครามระหว่างอาณาจักรอยุธยากับอาณาจักรพม่าที่เกิดในช่วงยุคแรกๆ มูลเหตุของสงครามครั้งนี้เริ่มต้นขึ้นจากการที่ พระเจ้าตะเบ็งชเวตี้แห่งราชวงศ์ตองอูยกทัพเข้ามารุกราน ณ บริเวณด่านเจดีย์สามองค์ของอาณาจักรอยุธยา ซึ่งเป็นผลมาจากความวุ่นวายในการแย่งชิงราชสมบัติภายในอาณาจักรอยุธยา
tabeng1
การขึ้นสู่อำนาจของพระเจ้าตะเบ็งชเวตี้
พระเจ้าตะเบ็งชเวตี้ เป็นกษัตริย์พม่าแห่งราชวงศ์ตองอู ผู้มีความสามารถในการรวบรวมพม่าและมอญเข้าเป็นพวกเดียวกัน เดิมทรงมีพระนามว่า “มังตรา” และเป็นพระราชโอรสของพระเจ้าเมงกะยินโย ผู้เป็นกษัตริย์พม่าแห่งเมืองตองอูเกตุมวดี
มังตรา เกิดจากการที่พระเจ้าเมงกะยินโยไทรงทอดพระเนตรเห็นสาวน้อยรูปงามระหว่างที่เสด็จไปตรวจการซ่อมทำนบ ซึ่งนางผู้นี้ก็คือ บุตรีของงะนวยกง ผู้เป็นขุนนางเชื้อสายรามัญ ทำให้พระเจ้าตะเบ็งชเวตี้ถือกำเนิดขึ้นในปี พ.ศ. 2059 นั่นเอง
พระเจ้าเมงกะยินโยทรงโปรดให้มีการคัดเลือกพระพี่เลี้ยงถึง 7 คน เพื่อมาเป็นบุคคลที่คอยเลี้ยงดูลูกชาย ซึ่งบุคคลที่ราชกุมารมังตราทรงสนิทสนมมากที่สุด มีชื่อว่า ชาเต ซึ่งต่อมาได้รับยศเป็น ‘บุเรงนองกยอดินรธา’ นั่นเอง
ราชกุมารมังตราที่มีพระชันษาได้เพียง 13 ชันษา จำเป็นต้องขึ้นครองเมืองตองอูเกตุมวดี เนื่องจากพระเจ้าเมงกะยินโยผู้เป็นบิดาสิ้นพระชนม์ลง โดยราชกุมารมังตราได้รับพระนามว่า ‘เมงตยายาวที’ หรือ ที่คนไทยรู้จักกันดีในชื่อ ‘พระเจ้าตะเบงชเวตี้’ นั่นเอง
หลังจากที่พระเจ้าตะเบงชเวตี้ทรงเป็นกษัตริย์ขึ้นครองตองอู พระองค์ก็ทรงเป็นนักรบที่เหี้ยมหาญ โดยเห็นได้จากตอนที่พระองค์ขึ้นครองราชย์จนมีชันษาครบ 15 ชันษา และต้องประกอบพิธีเจาะพระกรรณตามพระราชประเพณี พระเจ้าตะเบงชเวตี้ก็เลือกที่จะประกอบพิธีในพระธาตุมุเตา ซึ่งอยู่บริเวณชานกรุงหงสาวดีในอาณาเขตของรามัญประเทศแทนที่จะประกอบพิธีในอาณาเขตของตนเอง เมื่อกษัตริย์หงสาวดีทราบข่าวเข้าก็ทรงพิโรธ และสั่งให้พระยาลอ พระยาจาน ยกทัพไปจับตัวพระเจ้าตะเบงชะเวตี้มาไว้ให้ได้ แต่พระยามอญทั้งสองก็มิอาจต้านทานพระเจ้าตะเบงชเวตี้ไว้ได้ สุดท้ายพระเจ้าตะเบงชเวตี้ก็สามารถประกอบพิธีกรรมจนเสร็จสมบูรณ์ และตีฝ่ากองทัพของทหารมอญที่ล้อมรอบออกมาได้อย่างปลอดภัย
หลังจากขึ้นครองราชย์ พระเจ้าตะเบงชเวตี้ก็ทรงตั้งพระทัยที่จะขยายอาณาเขตให้ครอบคลุมทั่วทั้งลุ่มแม่น้ำอิระวดี และในปี พ.ศ. 2082 นครหงสาวดีของชาวมอญก็เป็นเมืองแรกที่ต้องตกเป็นสมบัติของกองทัพตองอู และหลังจากที่ได้กรุงหงสาวดีและหัวเมืองมอญเอาไว้ในครอบครองแล้ว พระเจ้าตะเบงชเวตี้ได้เสด็จยาตราทัพไปตีเมืองเมาะตะมะต่อ และก็ได้มาไว้ในครอบครองเช่นเดิม ด้วยความเหิมกเริม พระเจ้าตะเบงชเวตี้จึงทรงนำทัพไปตีเมืองแปรหรือเมืองโปรม ซึ่งก็ไม่ผิดหวัง เพราะพระองค์ก็สามารถได้รับชัยชนะเหนือเมืองแปรเช่นเดียวกับเมืองอื่นๆ
หลังจากที่พระเจ้าตะเบงชเวตี้ สามารถรวบรวมหัวเมืองต่างๆในลุ่มแม่น้ำอิระวดีได้ทั้งหมดแล้ว ก็ทรงปรารถนาจะขยายอาณาเขตออกไปยังดินแดนของอาณาจักรอื่นๆด้วย พระเจ้าตะเบงชเวตี้จึงเข้าโจมตีอาณาจักรอยุธยาของชาวไทย ซึ่งเป็นอาณาเขตบ้านใกล้เรือนเคียงที่เหมาะต่อการยึดครองเป็นอย่างยิ่ง และเมื่อได้ทราบว่า อาณาจักรอยุธยากำลังอยู่ในช่วงพลัดเปลี่ยนแผ่นดินใหม่ และเหตุการณ์ภายในยังไม่สงบเรียบร้อยดีนัก พระเจ้าตะเบงชเวตี้จึงทรงหมายจะใช้โอกาสนี้ยกทัพมาโจมตีอยุธยา ด้วยความหวังว่าพระองค์จะต้องได้รับชัยชนะอย่างแน่นอน
ความวุ่นวายในอาณาจักรอยุธยา
สมเด็จพระไชยราชาธิราชทรงเป็นกษัตริย์ที่สืบทอดมาจากราชวงศ์อู่ทอง โดยพระองค์ทรงขึ้นเสวยราชสมบัติในปี พ.ศ. 2076 ต่อจากพระรัษฎาธิราช เนื่องจากทรงแย่งชิงราชบัลลังก์มาจากพระรัษฎาธิราชที่มีพระชนมายุเพียงแค่ 5 พรรษา แต่ก็ทรงครองราชย์ได้เพียง 13 ปี ก่อนจะโดนสำเร็จโทษโดยพระราชบิดาของพระรัษฎาธิราช ซึ่งก็คือ สมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ 4 และพระมหากษัตริย์รัชกาลต่อมาที่ขึ้นมาสืบต่อราชบัลลังก์ ก็คือ พระยอดฟ้า แต่เนื่องจากพระยอดฟ้ายังมีพระชนมายุน้อย ทำให้พระราชมารดาของพระองค์ ซึ่งก็คือ ท้าวศรีสุดาจันทร์ ขึ้นมาดำรงตำแหน่งผู้สำเร็จราชการแทน แต่พระเฑียรราชาซึ่งเป็นกึ่งพระเชษฐาของสมเด็จพระไชยราชาธิราช ก็มีสิทธิ์ที่จะเป็นผู้สำเร็จราชการแผ่นดินแทนพระยอดฟ้าเช่นกัน ทำให้ท้าวศรีสุดาจันทร์ตัดสินใจอกผนวช เพื่อหลีกเลี่ยงความวุ่นวายในราชสำนัก แต่ก็มีเรื่องเล่าว่า ท้าวศรีสุดาจันทร์ทรงก่อการรัฐประหาร และถอดเอาพระโอรสของพระองค์ออกจากราชบัลลังก์ จากนั้นจึงแต่งตั้ง ขุนวรวงศาธิราช ซึ่งเป็นชู้รักของตนขึ้นมาแทนที่ และบุคคลผู้นี้ก็ได้ขึ้นเป็นพระมหากษัตริย์ลำดับถัดมาของอาณาจักรอยุธยา โดยทรงพระนามว่า ‘สมเด็จพระวรวงศาธิราช’ ส่วนพระยอดฟ้าก็ทรงถูกสำเร็จโทษจากฝีมือของพระราชมารดาอีกด้วย
แต่รัชสมัยของขุนวรวงศาธิราชนั้นอยู่ได้เพียง  42 วัน เนื่องจากเจ้านายและขุนนางช่วยกันวางแผนที่จะลอบปลงพระชนม์ขุนวรวงศาธิราช และยกให้พระเฑียรราชาขึ้นสืบราชบัลลังก์แทน โดยทรงพระนามว่า “สมเด็จพระมหาจักรพรรดิ”
และหลังจากที่สมเด็จพระมหาจักรพรรดิทรงขึ้นครองราชย์ พระเจ้าตะเบ็งชเวตี้ก็ทราบถึงความวุ่นวายในการผลัดแผ่นดินเพื่อแย่งชิงราชสมบัติภายในอาณาจักรอยุธยา ทำให้พระเจ้าตะเบ็งชเวตี้มีพระราชประสงค์ที่จะยกทัพมาตีกรุงศรีอยุธยา เนื่องด้วยเป็นช่วงเวลาที่อาณาจักรแห่งนี้กำลังอ่อนแอ
tabeng2
การเริ่มต้นของสงครามพระเจ้าตะเบงชะเวตี้
ศึกครั้งนี้ พระเจ้าตะเบงชเวตี้ทรงมีการเตรียมไพร่พลมอญและพม่ากองใหญ่ถึง 300,000 คน และวางแผนที่จะยกทัพเข้าตีอยุธยาบริเวณด่านพระเจดีย์สามองค์ แต่ก็ต้องประสบกับเหตุการณ์ที่ไม่คาดคิดที่เมืองกาญจนบุรี เพราะกองทัพหงสาวดีจำเป็นต้องใช้เวลายาวนานถึงสามวันจึงสามารถตีเมืองกาญจนบุรีได้สำเร็จ พระเจ้าตะเบงชเวตี้ทรงทำศึกอย่าไร้ความปรานี โดยสั่งทหารประหารชาวเมืองทั้งหมดที่คิดต่อต้านทัพของพระองค์  ไม่ว่าจะเป็นเด็ก สตรี หรือคนชรา จากนั้นกองทัพหงสาวดีก็เดินทางต่อไปจนสามารถเข้ายึดเมืองสุพรรณบุรีได้โดยง่าย ก่อนที่จะเคลื่อนพลมาล้อมรอบกรุงศรีอยุธยา ซึ่งเป็นเมืองหลวงเป้าหมายในการทำศึกครั้งนี้
พระมหาจักรพรรดิ ซึ่งเป็นกษัตริย์แห่งอยุธยาในขณะนั้น ทรงโปรดให้เหล่าทหารตั้งค่ายใหญ่สี่ค่ายเพื่อปกป้องเมืองหลวง จากนั้นพระมหาจักรพรรดิก็ได้เสด็จออกศึกไปยังทุ่งมะขามหย่อง พร้อมกับพระสุริโยทัยผู้เป็นพระมเหสี ซึ่งที่นั่นได้เกิดการปะทะกันระหว่างทัพหน้าของหงสาวดีกับกองทัพของอยุธยา และเป็นเหตุให้พระสุริโยทัยสิ้นพระชนม์ในศึกครั้งนี้ด้วย
หลังจากการปะทะกันครั้งนั้นที่ทุ่งมะขามหย่อง กองทัพของอยุธยาก็ไม่ได้ยกพลออกมารบกับหงสาวดีเช่นเคย แต่อาศัยการใช้ปืนใหญ่มาระดมยิงค่ายพม่าอย่างต่อเนื่อง ทำให้ทหารของพระเจ้าตะเบงชะเวตี้ล้มตายไปเป็นจำนวนมากนับหมื่นคน ประกอบกับเป็นช่วงเวลาที่พระมหาธรรมราชานำไพร่พลกว่าสามหมื่นนาย ยกทัพลงมาตีกระหนาบทัพของหงสาวดี พระเจ้าตะเบงชะเวตี้จึงจำเป็นต้องยกทัพถอยกลับไปก่อน
เมื่อทัพพม่าของพระเจ้าตะเบงชะเวตี้ล่าถอยกลับไป พระมหาจักรพรรดิก็โปรดให้พระราเมศวรและพระมหินทร์ นำทัพไล่ตามไปตีกระหนาบทัพของพม่าร่วมกับทัพของพระมหาธรรมราชา แต่ก็ถูกบุเรงนองวางกลลวงไว้ สุดท้าย พระราเมศวรและพระมหาธรรมราชาจึงต้องขอเจรจาสงบศึก ก่อนจะเลิกทัพกลับไปดังเดิม
พระเจ้าตะเบงชเวตี้ทรงรู้สึกโทมนัสผิดหวังเป็นอย่างมาก ที่ไม่สามารถตีกรุงศรีอยุธยาได้ดังพระทัยหมาย จึงหันไปหมกหมุ่นอยู่แต่กับการเสวยน้ำจันท์แทน นอกจากนี้ พระองค์ยังทรงมีพระอารมณ์เกรี้ยวกราดตลอดเวลา ทำให้ข้าราชบริพารต่างพากันลดความศรัทธาในแม่ทัพแห่งกรุงหงสาวดีผู้นี้
แม้ว่าความขัดแย้งของสงครามครั้งดังกล่าวจะยุติลงเรียบร้อยแล้ว แต่ก็ถือเป็นประวัติศาสตร์เรื่องหนึ่งที่สำคัญยิ่งของอาณาจักรไทย เนื่องจากนำมาซึ่งการสวรรคตของสมเด็จพระสุริโยทัยบนหลังช้าง อีกทั้งยังเป็นสงครามที่ทั้งสองฝ่ายไม่ได้รับชัยชนะที่เด็ดขาด สงครามพระเจ้าตะเบงชะเวตี้ จึงเป็นฉนวนเหตุสำคัญที่ทำให้เกิดการทำสงครามช้างเผือก ในรัชสมัยของพระเจ้าบุเรงนองที่เกิดขึ้นในปี พ.ศ. 2106 และเป็นเรื่องราวต่อเนื่องของสงครามครั้งยิ่งใหญ่ของอาณาจักรอยุธยา ที่ทำให้ไทยเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่หนึ่ง ในปี พ.ศ. 2112 นั่นเอง

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น