รายวิชา ประวัติศาสตร์ รหัสวิชา ส22102 คุณครูผู้สอน คุณครูชาญวิทย์ ปรีชาพาณิชพัฒนา โรงเรียนเสลภูมิพิทยาคม อำเภอเสลภูมิ จังหวัดร้อยเอ็ด

ข่าว

วันเสาร์ที่ 22 สิงหาคม พ.ศ. 2558

จุดเริ่มต้นของสงคราม

สงครามเก้าทัพ เป็นสงครามที่เกิดขึ้นในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ ในครั้งที่พระบาทพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช เพิ่งจะได้สถาปนากรุงรัตนโกสินทร์ขึ้นเป็นราชธานีแห่งใหม่ของไทยได้เพียง 3 ปี ซึ่งเวลานั้นบ้านเมืองกำลังอยู่ในช่วงที่ผ่านการสงครามมาใหม่ๆ ทำให้บ้านเมืองรวมทั้งปราสาทราชวังต่างๆในเวลานั้น ยังไม่ค่อยเข้าที่เท่าไรนัก
จุดเริ่มต้นของสงคราม
ในปีพุทธศักราช 2319 พระเจ้าช้างเผือกมังระได้เสด็จสวรรคตลง ทำให้จิงกูจา โอรสองค์ใหญ่ของพระองค์ขึ้นครองราชย์แทน ซึ่งหลังจากที่พระเจ้าจิงกูจาขึ้นครองราชย์ พระองค์ก็ทรงมีพระทัยโหดร้าย และได้สั่งให้ปลดอะแซหวุ่นกี้ออกจากตำแหน่ง อีกทั้งสั่งให้ประหารพระอนุชาของพระองค์ ในขณะที่ พระอนุชาของพระเจ้ามังระก็ถูกกักตัวเอาไว้ อีกทั้งพระองค์ยังเอาแต่เสวยสุรายาเมาและกระทำทารุณต่อบุคคลอื่นๆ ทำให้มีคนคิดก่อกบฏ และทำให้มังหม่องขึ้นครองราชบัลลังก์แทน แต่มังหม่องก็ทำได้แค่เพียงสิบเอ็ดวันเท่านั้น เพราะ ตะแคงปดุงได้จับตัวมังหม่องสำเร็จโทษ และขึ้นครองราชสมบัติแทน โดยทรงมีพระนามว่า ‘พระมหาธรรมราชาธิราชเจ้าช้างเผือก’ หรือ ‘พระเจ้าปดุง’
ซึ่งในขณะที่เกิดเหตุการณ์แย่งชิงราชบัลลังก์ในกรุงอังวะของพม่าอยู่นั้น บรรดาเมืองขึ้นต่างๆก็ถือโอกาสแข็งเมือง ทำให้พระเจ้าปดุงต้องยกทัพไปโจมตีหัวเมืองต่างๆ  จากนั้นจึงได้ทรงโปรดฯให้สร้างราชธานีแห่งใหม่ขึ้นมา โดยมีชื่อเรียกว่า ‘กรุงอมรปุระ’ และพระองค์ต้องการจะแสดงแสนยานุภาพ จึงเริ่มทำสงครามกับประเทศข้างเคียงเพื่อแผ่ขยายพระราชอำนาจ แผ่กระจายอิทธิพล และขยายอาณาเขตของประเทศ โดยพระเจ้าปดุงจึงได้เข้าทำสงครามกับเมืองเล็กเมืองน้อย รวมถึงเมืองในประเทศราชให้รวมเป็นปึกแผ่น อีกทั้งได้ยกกองทัพเข้ามาโจมตีไทย ซึ่งยังคงมีความความประสงค์ที่จะทำลายกรุงรัตนโกสินทร์ให้ย่อยยับ เหมือนดังที่เคยทำกับกรุงศรีอยุธยาเมื่อครั้งก่อน
การต่อสู้ของสงคราม 9 ทัพ
พระเจ้าปดุงได้ยกทัพมาโจมตีกรุงรันโกสินทร์ถึง 9 ทัพ ซึ่งรวมเป็นกำลังพลมากถึง 144,000 นาย กองทัพทั้ง 9 ได้แบ่งการเข้าโจมตีออกเป็น 5 ทิศทาง ดังต่อไปนี้
สงครามเก้าทัพ
คลิ๊กที่ภาพเพื่อดูขนาดเต็ม
ทัพที่ 1: ยกมาตีหัวเมืองประเทศราชทางปักษ์ใต้ ตั้งแต่เมืองระนองจนถึงเมืองนครศรีธรรมราช มีพลรบรวมหนึ่งหมื่น และม้าศึกอีกหนึ่งพัน โดยแบ่งเป็นทัพบกและทัพเรือ ทัพบกให้แมงยีแมงข่องกยอเป็นแม่ทัพ ส่วนทัพเรือให้ยี่หวุ่นเป็นแม่ทัพ
ทัพที่ 2 : ยกมาตีเมืองราชบุรี เพื่อรวบรวมกำลังพลเข้ากับกองทัพที่ตีหัวเมืองปักษ์ใต้ จากนั้นค่อยเข้าโจมตีกรุงรัตนโกสินทร์ โดยทัพนี้มีพลรบหนึ่งหมื่นกับม้าศึกอีกหนึ่งพัน และมีอนอกแฝกคิดหวุ่น (อะ-นอ-กะ-แฝก-คิด-หวุ่น) เป็นแม่ทัพ
ทัพที่ 3 : ยกมาตีทางด่านแม่ละเมาแม่สอด พลรบสามหมื่นกับม้าศึกสามพัน โดยให้หวุ่นคะยีสะโดศิริมหาอุจจนา เจ้าเมืองตองอู เป็นแม่ทัพ
ทัพที่ 4 : เป็นทัพหน้ายกเข้าตีทางด่านพระเจดีย์สามองค์ ถือพลหนึ่งหมื่นหนึ่งพัน ม้าศึกหนึ่งพันหนึ่งร้อย โดยให้เมียนหวุ่นแมงยีมหาทิมข่องเป็นแม่ทัพ
ทัพที่ 5-7 จะยกมาตีหัวเมืองฝ่ายเหนือ ตั้งแต่เชียงแสน เชียงใหม่ ลำพูน และลำปาง จากนั้นจะยกทัพลงมาสมทบกับทัพที่ 3 และ 4 ที่ยกมาทางด่านแม่ละเมา เพื่อหวังตีเมืองตาก กำแพงเพชร พิษณุโลก และนครสวรรค์ โดย
ทัพที่ 5 : ให้เมียนเมหวุ่นเป็นแม่ทัพ มีกำลังพลรบห้าพันม้าศึกห้าร้อย
ทัพที่ 6 : ให้ศิริธรรมราชาเป็นแม่ทัพ มีกำลังพลรบหนึ่งหมื่นสองพัน ม้าศึกหนึ่งพันสองร้อย
ทัพที่ 7: ให้สะโตทันซอเป็นแม่ทัพ มีกำลังพลรบหนึ่งหมื่นหนึ่งพัน ม้าศึกหนึ่งพันหนึ่งร้อย
ทัพที่ 8 : เป็นทัพหลวงที่พระเจ้าปดุงเป็นผู้คุมทัพ นับรวมกำลังพลได้มากที่สุดถึงห้าหมื่นนาย ม้าศึกห้าพัน ช้างรบห้าร้อย ทัพหลวงจะยกมาจากด่านพระเจดีย์สามองค์ และรอสมทบกับทัพเหนือและใต้ ก่อนจะเข้าโจมตีจุดมุ่งหมายที่กรุงเทพฯ
ทัพที่ 9 : เป็นกองทัพสุดท้าย โดยให้จอข่องนรธาเป็นแม่ทัพ มีกำลังพลห้าพัน ม้าศึกห้าร้อย ยกเข้าทางด่านแม่ละเมา ตีเมืองตาก กำแพงเพชร จากนั้นให้ลงมาบรรจบกับทัพหลวงที่กรุงเทพ
ในขณะที่ฝั่งไทยที่นำโดยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก สามารถรวบรวมกำลังไพล่พลได้เพียง 70,000 นายเท่านั้น ซึ่งถือว่ามีกำลังพลที่น้อยกว่าทัพของพม่าถึง 2 เท่า แต่ก็เป็นทหารรบชุดเดิมของพระเจ้าตากสินที่เคยกอบกู้บ้านเมืองสมัยกรุงธนบุรีไว้ได้ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกจึงทรงปรึกษาแผนการการรบเพื่อรับมือข้าศึกกับสมเด็จพระอนุชาธิราชเจ้าและสมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาสุรสิงหนาทกรมพระราชวังบวรสถานมงคล ว่าควรจะวางแผนป้องกันบ้านเมืองอย่างไรดี แผนการรบของพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าฯ มีดังต่อไปนี้
พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าฯ โปรดให้จัดกองทัพเป็น 4 ทัพ โดยให้กองทัพรับศึกในเส้นทางที่สำคัญก่อน แล้วจึงค่อยผลัดกันออกไปตีทัพส่วนที่เหลือ
ทัพที่ 1 : ให้ยกไปรับทัพพม่าที่มาจากทางเหนือ โดยมีพระเจ้าหลานเธอกรมหลวงอนุรักษ์เทเวศน์เป็นแม่ทัพ  คุมไพร่พลหมื่นห้าพันนาย ไปตั้งกองทัพที่เมืองนครสรรค์ เพื่อรับศึกที่มาจากเชียงแสนและทางด่านแม่ละเมา
ทัพที่ 2 : ให้ยกไปรับทัพพม่าที่มาจากด้านพระเจดีย์สามองค์ และเนื่องจากทัพนี้เป็นทัพใหญ่ จึงสั่งให้สมเด็จพระบวรราชเจ้ามาหาสุรสิงหนาทเป็นแม่ทัพ คุมไพร่พลสามหมื่นนาย เพื่อคอยไปรับมือกับทัพหลวงของพระเจ้าปดุง
ทัพที่ 3 : ให้ยกไปรับทัพพม่าที่จะมาจากทางใต้ โดยให้เจ้าพระยาธรรมมาและพระยายมราชเป็นแม่ทัพ คุมไพร่พลห้าพันนาย เพื่อตั้งกองทัพที่เมืองราชบุรี สกัดทัพข้าศึกที่เข้ามาจากทางด่านบองตี้
ทัพที่ 4 : เป็นทัพหลวงของพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าฯ มีไพร่พลสองหมื่นนาย ซึ่งทัพนี้จะตั้งมั่นยังพระนคร และคอยเป็นกองกำลังหนุน หากทัพไหนเพลี้ยงพล้ำ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าฯก็จะส่งกำลังทหารไปช่วยเหลือ
สมเด็จพระอนุชาธิราช พระบวรราชเจ้ามาหาสุรสิงหนาท ยกกองทัพไปตั้งรับที่ทุ่งลาดหญ้า เชิงเขาบรรทัด เมืองกาญจนบุรี เพื่อจุดประสงค์ในการสกัดกั้นไม่ให้กองทัพพม่ารวบรวมกำลังพลกันได้ และเพื่อตัดการลำเลียงเสบียงอาหารของพม่า อีกทั้งยังใช้อุบายทำเหมือนว่ามีกำลังพลมากมาย โดยการถอยกำลังออกในเวลากลางคืน แต่พอรุ่งเช้าก็ให้ทหารเดินเข้ามาผลัดเวรกันใหม่
ทุ่งลาดหญ้า
เมื่อกองทัพของพม่าขาดเสบียงอาหาร ประจวบกับคิดว่ากองทัพไทยนั้นมีกำลังพลที่มากกว่า กองทัพพม่าจึงไม่กล้าบุกเข้ามาโจมตีไทยเสียที เมื่อสมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาสุรสิงหนาทสบโอกาส จึงเข้าโจมตีกองทัพที่ 8-9 ของพระเจ้าปดุงจนถอยร่นไป ส่วนหัวเมืองทางเหนือ พระยากาวิละเจ้าเมืองลำปางก็สามารถป้องกันทัพที่พม่ายกมาได้สำเร็จ จากนั้นพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชจึงเสด็จยกทัพขึ้นไปช่วยหัวเมืองด่านแม่ละเมา ที่กำลังถูกกำลังของทหารพม่าที่มีมากกว่าบุกมาตีได้สำเร็จ
ท้าวเทพกษัตรีย์และท้าวศรีสุนทร

ในขณะที่ สมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาสุรสิงหนาทก็เสด็จลงไปช่วยทัพทางปักต์ใต้ แต่ก่อนที่จะเสด็จไปถึง เป็นช่วงเวลาที่เจ้าเมืองถลางถึงแก่กรรมพอดี ทำให้คุณหญิงจันผู้เป็นภริยาเจ้าเมืองถลางและนางมุกน้องสาว ได้รวบรวมกำลังชาวเมืองจนสามารถป้องกันข้าศึกไว้ได้ ดังนั้น หลังเสร็จศึกแล้ว พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช จึงได้โปรดเกล้าฯ แต่งตั้งให้คุณหญิงจันเป็น ‘ท้าวเทพกษัตรีย์ (หรือท้าวเทพสตรี)’ ส่วนนางมุกเป็น ‘ท้าวศรีสุนทร’ ส่วนเมืองอื่นในภาคใต้ ก็ได้ภิกษุรูปหนึ่งที่คอยต่อสู้ป้องกันบ้านเมืองเอาไว้ ซึ่งต่อมาพระรูปนี้ก็ได้ลาสิกขาบทและเข้ารับราชการในเวลาต่อมา
อย่างไรก็ตาม แม้ว่าศึกครั้งนี้พระเจ้าปดุงจำเป็นจะต้องยอมยกทัพกลับไป แต่พระองค์ก็ยังมิได้ทรงยอมแพ้หรือย่อท้อต่อความพยายาม เพราะในปีพุทธศักราช 2329  พระเจ้าปดุงก็ได้ส่งกองทัพพม่ามาโจมตีไทยอีกครั้งที่ท่าดินแดงและสามสบ เขตเมืองกาญจนบุรี แต่สุดท้ายก็แตกพ่ายไปอีกเช่นเดิม หลังจากนั้น พระองค์ก็ยังคงทำสงครามกับฝ่ายไทยอยู่อีกหลายครั้ง แต่ก็ต้องพ่ายแพ้ไปเสียทุกครั้ง ในที่สุด ฝ่ายพม่าก็หมดสิ้นความพยายามที่จะเอาชนะไทยได้อีกต่อไป และมีผลให้ราชอาณาจักรไทยสามารถอยู่ยั้งยืนลงมาได้จนถึงปัจจุบัน

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น