รายวิชา ประวัติศาสตร์ รหัสวิชา ส22102 คุณครูผู้สอน คุณครูชาญวิทย์ ปรีชาพาณิชพัฒนา โรงเรียนเสลภูมิพิทยาคม อำเภอเสลภูมิ จังหวัดร้อยเอ็ด

ข่าว

วันเสาร์ที่ 22 สิงหาคม พ.ศ. 2558

เหตุการณ์หลังจากกอบกู้เอกราชได้แล้ว

การกอบกู้เอกราชของพระเจ้าตาก ถือเป็นเหตุการณ์ประวัติศาสตร์สำคัญของไทย ที่เกิดจากการที่พระองค์สามารถการรวบรวมกองกำลังทหารไทยได้กลุ่มหนึ่ง ก่อนที่จะเคลื่อนพลไปต่อสู้เพื่อขับไล่กองทัพพม่าที่ยังคงควบคุมกรุงศรีอยุธยาอยู่ และแม้ว่าภายหลังจากการเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่สอง จะทำให้อาณาจักรอยุธยาเกิดสภาพจลาจล และผู้คนจะถูกแบ่งพรรคแบ่งพวกออกเป็นชุมนุมต่างๆที่เป็นอิสระต่อกัน แต่สมเด็จพระเจ้าตากสินก็สามารถรวบรวมไพร่พลให้กลับมาเป็นปึกแผ่นได้อีกครั้งหนึ่ง
เหตุการณ์การกอบกู้เอกราชของพระยาตาก
ในช่วงเวลาที่พม่าล้อมกรุงศรีอยุธยาในครั้งที่ไทยเสียกรุงครั้งที่ 2 นั้น พระยาวชิระปราการหรือพระยาตากผู้ครองเมืองกำแพงเพชร ได้ถูกเรียกตัวมาช่วยป้องกันอาณาจักรอยุธยาด้วย แต่เมื่อพระยาตากเห็นว่าคงจะรักษากรุงเอาไว้ต่อไปไม่ได้แล้ว ในวันที่ 3 มกราคม พ.ศ. 2309 ซึ่งตรงกับวันเสาร์ ขึ้น 4 ค่ำ เดือนยี่ จุลศักราช 1128 ปีจอ อัฐศก พระยาตากจึงได้ตัดสินใจร่วมกับพระยาพิชัย พระเชียงเงิน หลวงพรหมเสนา หลวงราชเสน่หา ขุนอภัยภักดี และรวบรวมผู้คนอีกประมาณ 500 คน ตีฝ่าวงล้อมของทหารพม่าออกไปทางหัวเมืองชายทะเลฝั่งตะวันออก โดยกองทัพของพระยาตากนั้นมีปืนเพียงกระบอกเดียว แต่เนื่องจากความชำนาญด้านอาวุธสั้น จึงทำให้กองทัพของพระยาตากสามารถยกกำลังออกมาจากค่ายวัดพิชัย และตีฝ่าวงล้อมของทหารพม่าออกไปได้
เมื่อถึงรุ่งเช้า กองทัพของพระยาตากได้ต่อสู้กับกองทหารพม่าจนล้มตายและแตกหนีไปบางส่วน ก่อนที่จะเดินทางต่อไปตั้งค่ายพักที่บ้านพรานนก ซึ่งกองทัพของพระยาตากก็ต้องต่อสู้กับทหารพม่าอีกกองหนึ่งที่เดินสวนทางมาจากแขวงเมืองปราจีนบุรีพอดี แต่สุดท้าย พระยาตากก็อุบาย “วงกับดักเสือ” ทำให้ทหารพม่าถูกตีกระหนาบจนแตกหนีไป
เมื่อสามารถตีฝ่าวงล้อมของทหารพม่าออกมาได้อย่างเรียบร้อยแล้ว ก็พบว่ามีพวกราษฎรบางคนที่หลบซ่อนพม่าอยู่ และทราบข่าวว่าพระยาตากสามารถรบชนะพม่าได้ ราษฎรเหล่านั้นก็พากันเข้ามาสมัครเป็นพรรคพวก ทำให้พระยาตากเพิ่มกำลังของกองทัพได้มากขึ้น โดยพระองค์ได้ให้ราษฎรเหล่านั้นไปเกลี้ยกล่อมหัวหน้าของตนเองให้ยอมมาสวามิภักดิ์ต่อตน และให้พวกเขานำเอาช้างเอาม้ามาไว้ใช้เป็นพาหนะในการเดินทาง และมอบเสบียงอาหารให้แก่กองทัพของพระยาตากด้วย หากหัวหน้าหรือายซ่องคนใดไม่ยอมอ่อนน้อมต่อพระยาตาก ก็จะถูกพระยาตากใช้กำลังเข้าโจมตีหรือถูกปราบปรามจนหมดสิ้น และสามารถริบทรัพย์สิน พาหนะ ผู้คน ช้าง ม้า และศาสตราวุธได้เป็นจำนวนมาก ด้วยเหตุนี้จึงทำให้พระยาตากมีกำลังพลมากขึ้นเรื่อยๆ และยังคงเดินทางต่อไปเพื่อสะสมกำลังพลให้เพิ่มมากขึ้น
พระยาตากเห็นว่า การจะกอบกู้ประเทศได้สำเร็จนั้นจะต้องมีบารมีที่เป็นที่น่านับถือของคนทั้งหลาย พระยาตากจึงประกาศแต่งตั้งตนเองขึ้นเป็นเจ้าเมืองระยอง หลังจากนั้น พระยาตากก็เดินทางไปยังจันทบุรีเพื่อหวังจะรวบรวมไพร่พลให้มากขึ้น แต่ก็ถูกเมืองจันทบุรีต่อต้าน พระยาตากจึงใช้อุบายปลุกใจนายทหารทั้งหลาย โดยสั่งให้ทหารทุบหม้อข้าวหม้อแกงทั้งหมดทิ้งเสียก่อนจะเข้าตีเมืองจันทบุรี เพื่อหวังจะเข้าไปกินอาหารมื้อต่อไปในเมือง ซึ่งอุบายครั้งนี้ก็ได้ผล เพราะทำให้ทหารเกิดกำลังใจที่ดี และสามารถตีเมืองจันทบุรีได้สำเร็จ พร้อมกับมีอาหารกินในมื้อต่อไป
หลังจากที่ตีเมืองจันทบุรีได้สำเร็จ พระยาตากจึงใช้เมืองจันทบุรีเป็นศูนย์กลางในการกอบกู้เอกราช โดยพระยาตากจัดกองทัพเพื่อตีฝ่ากองทัพพม่ามาตลอดทางตั้งแต่ อยุธยา—-นครนายก—–ปราจีนบุรี—–ฉะเชิงเทรา—–ชลบุรี—–ระยอง จนถึงเมืองจันทบุรีในที่สุด เมื่อพระยาตากเห็นว่ามีกำลังไพร่พลที่มากเพียงพอแล้ว จึงได้คุมทัพยกมาตีกรุงธนบุรีเป็นด่านแรก ซึ่งที่นั่นพระยาตากได้ปะทะกับกำลังของนายทองอิน ที่เป็นคนไทยที่พม่าแต่งตั้งให้เป็นผู้รักษากรุง ในที่สุด พระยาตากก็สามารถจับนายทองอินประหารชีวิตได้ ก่อนที่จะเดินทัพต่อไปจนถึงกรุงศรีอยุธยาในคืนวันนั้น
การกอบกู้เอกราชให้แก่ชาติไทยเริ่มต้นอย่างแท้จริงในเช้าวันเพ็ญเดือน 12 ที่ตรงกับวันศุกร์ที่ 6 พฤศจิกายน พ.ศ. 2310 ณ ค่ายโพธิ์สามต้น ซึ่งตั้งอยู่เหนือกรุงศรีอยุธยาเล็กน้อย ที่นั่นมีสุกี้พระนายกองเป็นผู้บังคับบัญชาคุมกองกำลังของพม่าอยู่ พระยาตากก็ใช้ความสามารถในการรบจนเอาชนะกองทัพพม่าที่บริเวณค่ายโพธิ์สามต้นได้สำเร็จ ซึ่งถือเป็นการกู้เอกราชคืนจากพม่าที่ใช้เวลาเพียงแค่  7  เดือนเศษเท่านั้น
ในปีต่อมา พระยาตากได้ตัดสินในย้ายราชธานีจากกรุงศรีอยุธยาไปตั้งมั่นอยู่ที่กรุงธนบุรีแทน โดยให้ชื่อเมืองเต็มๆว่า “กรุงธนบุรีศรีมหาสมุทร” และได้ปราบดาภิเษกตนเองขึ้นเป็นกษัตริย์ ที่ทรงมีพระนามว่า “ สมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ 4” หรือ “สมเด็จพระเจ้าตากสิน”
สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช
เหตุการณ์หลังจากกอบกู้เอกราชได้แล้ว
เมื่อสมเด็จพระเจ้าตากสินขึ้นครองราชย์เป็นกษัตริย์แล้ว พระองค์ก็ยังไม่สามารถควบคุมอำนาจได้อย่างเบ็ดเสร็จทั่วอาณาจักรไทย เนื่องจากหลังจากที่กรุงศรีอยุธยาแตกสลายไป บ้านเมืองก็ระส่ำระสาย ทำให้คนไทยแตกแยกออกไปตั้งชุมนุมกันอยู่เป็นก๊กเป็นเหล่า และแต่ละชุมนุมก็ต่างรบราฆ่าฟันกันเอง เพื่อความอยู่รอดและความเป็นใหญ่ สมเด็จพระเจ้าตากสินจึงทรงวางแผนการเพื่อจะรวบรวมชุมนุมต่างๆให้มาขึ้นกับกรุงธนบุรี โดยมีชุมนุมขนาดใหญ่ 4 ชุมนุม ดังต่อไปนี้
  1. ชุมนุมเจ้านครตั้งอยู่ ณ เมืองนครศรีธรรมราช โดยมี ‘หลวงสิทธินายเวร(หนู)’ เป็นผู้นำ หลวงสิทธินายเวร เป็นข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ที่มีอำนาจสูงในเมืองนครศรีธรรมราช และมีกำลังพล
  2. ชุมนุมเจ้าพิมาย ตั้งอยู่ ณ เมืองนครราชสีมา โดยมี ‘กรมหมื่นเทพพิพิธ’ ซึ่งเป็นโอรสของสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ เป็นผู้นำ ชุมนุมแห่งนี้มีผู้คนมาเข้าร่วมด้วยเป็นจำนวนมาก เนื่องจากเป็นเจ้านายอาวุโสในราชวงศ์บ้านพลูหลวง ซึ่งชาวบ้านเห็นว่าเหมาะสมที่จะขึ้นครองราชย์อย่างถูกต้องตามทำนองครองธรรม
  3. ชุมนุมเจ้าพิษณุโลก ตั้งอยู่ ณ เมืองพิษณุโลก โดยมี ‘เรือง’ เป็นผู้นำ และเนื่องจากผู้นำผู้นี้มีความสามารถในการรบ และถือเป็นความหวังของคนทางเหนือในการกอบกู้บ้านเมือง จึงทำให้ชุมนุมค่อนข้างแข็งแกร่งมากกว่าชุมนุมไหนๆ
  4. ชุมนุมเจ้าพระฝาง ตั้งอยู่ ณ สวางคบุรี อุตรดิตถ์ โดยมี ‘เรือน’ พระสังฆราชาเมืองสวางคบุรี เป็นผู้นำ และด้วยความเชี่ยวชาญทางวิชาอาคมไสยศาสตร์ จึงทำให้มีผู้คนจำนวนมากพากันเข้ามานับถือศรัทธา
ทุกชุมนุมล้วนมีข้อได้เปรียบเหนือสมเด็จพระเจ้าตากสินตรงที่ พวกเขามีอำนาจอยู่ในหัวเมืองของตนเองตั้งแต่ต้นแล้ว และผู้คนก็ต่างเคารพยำเกรงมาแต่ไหนแต่ไร อีกทั้งยังมีฐานที่มั่นที่แข็งแรง มีกำลังคนมากมาย ทำให้การที่สมเด็จพระเจ้าตากสินคิดจะรวบรวมชุมนุมทั้ง 4 นั้น ไม่ใช่เรื่องง่ายเลย สมเด็จพระเจ้าตากสินทรงคิดที่จะปราบชุมนุมพิษณุโลกที่ใหญ่และเข้มแข็งที่สุดให้ได้เสียก่อน เพื่อทำให้ชุมนุมอื่นๆเห็นในความสามารถของพระองค์ และจะได้เกิดยำเกรงหรือยอมอ่อนน้อมแต่โดยดี
แต่เมื่อลงมือปราบชุมนุมพิษณุโลกเข้าจริงก็ปรากฏว่า สมเด็จพระเจ้าตากสินเกิดเพลี่ยงพล้ำเสียท่า ถูกปืนยิงที่พระภุชงค์จนได้รับบาดเจ็บ ทำให้สมเด็จพระเจ้าตากสินต้องยกทัพกลับคืนสู่กรุงธนบุรีเสียก่อน และหลังจากที่หายจากอาการประชวร สมเด็จพระเจ้าตากสินก็เลี่ยนไปเป็นการปราบชุมนุมเจ้าพิมายแทนก่อนอันดับแรก ซึ่งก็สามารถเอาชัยชนะกลับมาได้ในที่สุด และหลังจากนั้นก็เริ่มเดินทางไปปราบชุมนุมอื่นๆต่อไปเรื่อยๆ จนในที่สุดเมื่อเวลาผ่านไปทั้งสิ้น 3 ปี พระองค์ก็สามารถปราบชุมนุมทั้ง 4 ได้อย่างครบถ้วน
thonburi
เมื่อสมเด็จพระเจ้าตากสิน สามารถปราบปรามชุมนุมต่างๆได้สำเร็จ ก็มีความหมายเท่ากับการรวบรวมแผ่นดินของอยุธยาที่เคยมีทั้งหมดกลับคืนมาได้ใหม่อีกครั้ง และทำให้คนไทยกลับมารวมตัวกันได้ดังเดิมด้วย ตั้งแต่วันนั้นเป็นต้นมา อาณาจักรกรุงธนบุรี จึงกลายเป็นศูนย์กลางของประเทศแห่งใหม่ ที่มีขอบเขตที่แน่ชัดมากขึ้น มีความมั่นคง เข้มแข็ง และเป็นเอกภาพทางการเมือง

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น