รายวิชา ประวัติศาสตร์ รหัสวิชา ส22102 คุณครูผู้สอน คุณครูชาญวิทย์ ปรีชาพาณิชพัฒนา โรงเรียนเสลภูมิพิทยาคม อำเภอเสลภูมิ จังหวัดร้อยเอ็ด

ข่าว

วันเสาร์ที่ 22 สิงหาคม พ.ศ. 2558

สงครามเมืองเชียงใหม่เป็นหนึ่งในสงครามที่เกิดขึ้นในรัชสมัยของสมเด็จพระราเมศวร ผู้เป็นพระมหากษัตริย์ไทยที่น่ายกย่องเชิดชู และเป็นที่จดจำของใครหลายต่อหลายคน การทำสงครามระหว่างสมเด็จพระราเมศวร ผู้เป็นพระมหากษัตริย์แห่งอาณาจักรอยุธยา และ พระเจ้าเชียงใหม่ ผู้ครองแคว้นทางภาคเหนือ เป็นหนึ่งในเหตุการณ์ประวัติศาสตร์ที่ทำให้เกิดเป็นประเทศไทยในปัจจุบัน และทำให้เกิดการเชื่อมโยงทางขนบธรรมเนียมวัฒนธรรมบางประการระหว่างชาวเหนือและชาวใต้ ที่ยังคงส่งผลกระทบต่อชนรุ่นหลัง ล่วงเลยมาจนถึงเหตุการณ์ในยุคปัจจุบัน
cn
ประวัติความเป็นมาของสมเด็จพระราเมศวร
สมเด็จพระราเมศวร ถือเป็นพระมหากษัตริย์พระองค์ที่ 2 แห่งอาณาจักรอยุธยา  โดยพระองค์เป็นพระราชโอรสองค์แรกที่เกิดจากสมเด็จพระรามาธิบดีที่ 1 และพระขนิษฐาของสมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ 1 ซึ่งในขณะนั้นเป็นผู้ครองเมืองสุพรรณบุรี สมเด็จพระราเมศวรเสด็จพระราชสมภพเมื่อปี พ.ศ. 1875 และพระองค์ก็ได้ทรงขึ้นครองราชย์ในเวลาต่อมา แต่พระองค์นั้นก็มีเวลาขึ้นครองราชสมบัติอยู่ได้เพียงปีเดียวเท่านั้น ก่อนที่จะสละราชสมบัติให้กับสมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ 1  ผู้เป็นพระมาตุลา และกลับมาเสด็จขึ้นครองราชสมบัติอีกครั้งหลังจากที่สมเด็จพระราเมศวรได้ทำการสำเร็จโทษพระเจ้าทองลัน ผู้เป็นพระราชโอรสของสมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ 1 ไปแล้ว ซึ่งเวลานั้นพระเจ้าทองลันเพิ่งจะเสด็จขึ้นครองราชสมบัติได้แค่ 7 วันเท่านั้น การขึ้นครองราชย์ของสมเด็จพระราเมศวร จึงถือเป็นช่วงเวลาแห่งการแย่งชิงราชสมบัติ ที่จะต้องลงทุนด้วยการประหารพระญาติของพระองค์ เพื่อให้ได้มาซึ่งความยิ่งใหญ่ในการขึ้นครองประเทศ อย่างไรก็ตาม สมเด็จพระราเมศวรก็ถือเป็นพระมหากษัตริย์ไทยที่ทรงสร้างคุณูปการที่มีคุณประโยชน์ต่อกรุงศรีอยูธยาและชนรุ่นหลังไว้หลายประการ ไม่ว่าจะด้านการอุปถัมภ์พุทธศาสนาหรือการสงคราม ซึ่งถือเป็นความสามารถที่น่ายกย่องของกษัตริย์ไทยแห่งอาณาจักรอยุธยาพระองค์หนึ่ง
สมเด็จพระราเมศวร เป็นพระมหากษัตริย์ที่ทรงปกครองบ้านเมืองให้ร่มเย็นเป็นสุข โดยปราศจากศัตรูมารุกราน หนึ่งในพระราชกรณียกิจที่สำคัญก็คือ การขยายอาณาเขตของอาณาจักรอยุธยาให้ยิ่งใหญ่และกว้างไกลออกไป ทำให้ช่วงเวลาส่วนใหญ่ที่พระองค์ขึ้นครองราชย์ มักจะเป็นเวลาแห่งการทำศึกสงครามเกือบทั้งสิ้น ซึ่งหนึ่งในการสงครามที่ยิ่งใหญ่ในรัชสมัยของสมเด็จพระราเมศวร ก็คือ การยกทัพไปตีเมืองเชียงใหม่ หรือที่เรารู้จักกันในชื่อของ “สงครามเมืองเชียงใหม่” นั่นเอง
ประวัติความเป็นมาของสงครามเมืองเชียงใหม่ ปี พ.ศ. 1933
สมเด็จพระราเมศวรทรงเป็นกษัตริย์ที่มุ่งหวังที่จะขยายพระราชอาณาเขตของไทยออกไปให้กว้างไกลมากที่สุด ทำให้เมื่อพระองค์เสด็จขึ้นครองราชย์แล้ว พระราชพงศาวดารฉบับพระราชหัตถเลขาก็ระบุไว้ว่า สมเด็จพระราเมศวรโปรดให้ยกทัพขึ้นไปตีเมืองเชียงใหม่ เพื่อหวังที่จะขยายอาณาเขตให้แก่อาณาจักรอยุธยาทันที
เรื่องเล่าของการทำสงครามครั้งนี้มีอยู่ว่า เมื่อสมเด็จพระราเมศวรได้ยกทัพขึ้นไปตีเมืองเชียงใหม่ในปี พ.ศ. 1933 ในครั้งนั้น เมืองเชียงใหม่อยู่ใต้การปกครองของพระเจ้าเชียงใหม่ ซึ่งหลังจากที่สมเด็จพระราเมศวรยกทัพขึ้นมาล้อมเมืองเชียงใหม่เอาไว้ได้แล้ว พระเจ้าเชียงใหม่ก็ทำทีเป็นยินยอมที่จะอ่อนน้อมต่อพระองค์ โดยขั้นแรกนั้นพระเจ้าเชียงใหม่ก็ได้ขอสงบศึกต่อสมเด็จพระราเมศวร โดยพระเจ้าเชียงใหม่ขอพระราชทานเวลาให้สมเด็จพระราเมศวรงดทำศึก 7 วัน ก่อนจะนำเครื่องราชบรรณาการออกไปถวายต่อพระองค์ เพื่อหวังในการเจริญพระราชไมตรี ซึ่งสมเด็จพระราเมศวรก็ได้มีการปรึกษาหารือกับมุขมนตรีนายทัพนายกอง และเห็นว่าที่พระเจ้าเชียงใหม่ขอยืดเวลาออกไปนั้น น่าจะเป็นกลอุบายที่จะคิดเอาไว้ยืดเวลาเพื่อหาทางต่อต้านกองทัพของพระองค์เสียมากกว่า พระเจ้าเชียงใหม่คงจะหาได้ยินยอมอ่อนน้อมต่อพระองค์ไม่ สมเด็จพระราเมศวรจึงได้ตรัสว่า หากพระเจ้าเมืองเชียงใหม่ไม่รบแล้ว แต่เราจะรบนั้นก็ดูมิบังควร และถึงแม้ว่าพระเจ้าเชียงใหม่จะไม่รักษาสัตย์ตามที่เคยตรัสไว้ ก็ใช่ว่าเมืองเชียงใหม่จะสามารถรอดพ้นจากเงื้อมือของทหารจากกรุงศรีอยุธยาไปได้ เมื่อทรงมีพระราชดำริเช่นนั้น จึงได้มีการประชุมหารือกับกองทัพของกรุงศรีอยุธยา เพื่อเตรียมการรับมือหากพระเจ้าเชียงใหม่จะไม่ทำตามสัญญาที่เคยได้ให้ไว้
เมื่อเวลาผ่านไป 7 วัน ก็พบว่า เสบียงในกองทัพของสมเด็จพระราเมศวรก็เริ่มจะหมดทุกที ในขณะเดียวกัน พระเจ้าเชียงใหม่ก็ยังมิได้นำเครื่องราชบรรณาการมาถวายตามคำสัญญา สมเด็จพระราเมศวรเห็นว่า สิ่งที่พระองค์และมุขมนตรีนายทัพนายกองเคยคิดไว้นั้นเป็นจริงอย่างที่คาดเดา เพราะ พระเจ้าเชียงใหม่นั้นไม่รักษาสัตย์ที่เคยให้ไว้ พระองค์จึงทรงพระกรุณาสั่งให้ทหารบุกเข้ายึดเมืองเชียงใหม่โดยทันที
พระเจ้าเชียงใหม่มิอาจต้านทานกำลังพลของสมเด็จพระราเมศวรได้ จึงตัดสินใจหลบหนีออกไปจากเมืองเชียงใหม่ ทำให้เมืองเชียงใหม่ถูกทหารจากกรุงศรีอยุธยาเข้ายึดไว้ได้ในที่สุด นอกจากนี้ สมเด็จพระราเมศวรก็ยังสามารถจับตัวพระโอรสของพระเจ้าเชียงใหม่ไว้ได้ด้วย แต่สมเด็จพระราเมศวรก็ยังทรงพระกรุณาให้พระโอรสของพระเจ้าเชียงใหม่ได้ครองราชสมบัติอยู่ที่เมืองเชียงใหม่ต่อไป โดยให้พระโอรสของพระเจ้าเชียงใหม่ผู้นี้ ถวายสัตยานุสัตย์ว่าจะไม่คิดทรยศต่อพระองค์ จากนั้น สมเด็จพระราเมศวรก็ได้สั่งให้นายทหารกวาดต้อนผู้คนที่อยู่ที่เมืองเชียงใหม่ลงมาทางตอนใต้ โดยบังคับให้ผู้คนเหล่านั้นไปอาศัยอยู่ที่เมืองจันทบูร เมืองพัทลุง เมืองนครศรีธรรมราช และเมืองสงขลา แทน ด้วยเหตุการณ์ประวัติศาสตร์ที่กล่าวมานี้ จึงเป็นเหตุให้ชาวเหนือและชาวใต้ในยุคปัจจุบันของประเทศไทย มีวัฒนธรรมและขนบธรรมเนียมบางประการที่คล้ายคลึงกัน ซึ่งสาเหตุที่เป็นเช่นนี้ก็เป็นเหตุผลมาจากการอพยพย้ายถิ่นของประชากรบางส่วน เนื่องจากการทำสงครามเมืองเชียงใหม่ครั้งนี้นี่เอง
หลังจากที่สงครามครั้งนี้สงบลง และสมเด็จพระราเมศวรได้รับชัยชนะอย่างเด็ดขาดแล้ว สมเด็จพระราเมศวรก็ได้เสด็จกลับลงมาที่อยุธยาตามเดิม แต่ระหว่างทางพระองค์ได้แวะนมัสการพระพุทธชินราชที่ประดิษฐานอยู่ที่เมืองพิษณุโลกด้วย สมเด็จพระราเมศวรจึงทรงตัดสินใจเปลื้องเครื่องต้นออกถวายเป็นพุทธบูชา และสมโภชเป็นเวลานาน 7 วัน ก่อนที่พระองค์จะเสด็จกลับลงมาครองราชสมบัติที่พระนครดังเดิมอีกครั้งหนึ่ง

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น